xs
xsm
sm
md
lg

จีนเซอร์ไพรส์ลดค่าหยวนเฉียด 2% ตลาดกังวลสงครามค่าเงินระเบิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จีนประกาศวันอังคาร (11 ส.ค.) ลดค่าเงินหยวนลงมาเกือบ 2% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี
เอเจนซีส์ - จีนประกาศวันอังคาร (11 ส.ค.) ลดค่าเงินหยวนลงมาเกือบ 2% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี หลังข้อมูลเศรษฐกิจหลายส่วนแสดงให้เห็นอาการซวนเซ ทางด้านแบงก์ชาติแดนมังกรยืนยันยังคงเป้าหมายในการปฏิรูปตามแนวทางตลาด ขณะที่นักวิเคราะห์หวั่นใจว่าความเคลื่อนไหวสุดเซอร์ไพรส์ครั้งนี้อาจกลายเป็นการจุดชนวนสงครามค่าเงินทั่วโลก

แบงก์ชาติจีนซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (พีบีโอซี) ประกาศราคากลาง หรือ “อัตราอ้างอิง” ประจำวันสำหรับเงินหยวนของตนในวันอังคารให้อยู่ที่ 6.2298 หยวนต่อดอลลาร์ จากระดับ 6.1162 หยวนในวันจันทร์ (10) จึงเท่ากับลดค่าสกุลเงินตราของแดนมังกรลงมา 1.86%

การอ่อนตัวลงขนาดนี้ยังนับว่าเป็นการอ่อนตัวในรอบหนึ่งวันที่สูงที่สุด นับตั้งแต่การลดค่าเงินครั้งมโหฬารในปี 1994

นอกจากนั้น พีบีโอซียังระบุในคำแถลงว่า ได้เปลี่ยนวิธีการในการคำนวณเพื่อกำหนดราคากลาง หรือ “อัตราอ้างอิง” ประจำวัน ทั้งนี้เพื่อให้สะท้อนกับพลังของตลาดมากขึ้น

พีบีโอซีบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน โดยอนุญาตให้ค่าเงินขึ้นหรือลงจากอัตราอ้างอิงประจำวันไม่เกิน 2% ซึ่งที่ผ่านมาพวกเจ้าหน้าที่จีนระบุว่า พวกเขากำหนดราคากลางหรืออัตราอ้างอิงนี้ โดยสำรวจความคิดเห็นของพวกมาร์เก็ตเมคเกอร์ แต่ในคำแถลงล่าสุดของแบงก์ชาติจีนกล่าวว่า จากนี้ไปพวกเขายังจะนำเอาราคาปิดของวันก่อนหน้า ตลอดจนปัจจัยอย่างอื่นๆ มาพิจารณาด้วย

“เนื่องจากการค้าในด้านตัวสินค้าของประเทศจีน ยังคงแสดงให้เห็นถึงการได้ดุลค่อนข้างมากโดยเปรียบเทียบ อัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนในทางเป็นจริง จึงยังคงค่อนข้างแข็งค่าเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินตราของโลกสกุลอื่นๆ จำนวนมาก และกำลังหันเหออกไปจากความคาดหมายของตลาด” คำแถลงของแบงก์ชาติจีนระบุ

“ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงการกำหนดราคากลางของค่าเงินหยวนต่อไปอีก เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด”

พีบีโอซีบอกว่า ความเคลื่อนไหวของตนคราวนี้เป็น “การปรับลดค่าลงมาแบบครั้งเดียวจบ” ทว่าพวกนักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นแตกแยกกันเกี่ยวกับความสำคัญของการดำเนินการเช่นนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการกลับหลังหันออกจากนโยบายเงินหยวนแข็งก่อนหน้านี้ ที่มีจุดมุ่งหมายส่งเสริมสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนภายนอกประเทศ

“เป็นเวลายาวนานานทีเดียว ที่ผมให้เครดิต พีบีโอซี สำหรับการประคองค่าเงินหยวนเอาไว้ และยอมรับว่าขณะที่อาจจะมีความโน้มเอียงที่จะพยายามรักษาโมเดลการเจริญเติบโตแบบเก่าเอาไว้ด้วยการลดค่าสกุลเงินตราลงมา ทว่านั่นเป็นการเดินไปสู่ทางตันเท่านั้น” แพทริก โชวาเนค ผู้จัดการกองทุนแห่ง ซิลเวอร์เครสต์ แอสเสต แมเนเจเมนต์ ซึ่งตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ ให้ความเห็น

เขาย้ำว่า เงินหยวนจำเป็นต้องแข็งค่าหากจะบังคับให้จีนต้องเดินไปสู่โมเดลแบบใหม่ที่เน้นการบริโภคภายใน และออกห่างจากอุตสาหกรรมการผลิตแบบโลว์เอนด์ “สิ่งที่โลกต้องการจากประเทศจีนนั้นไม่ใช่ซัปพลายเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่โลกต้องการจากจีนคือดีมานด์”

การลดค่าเงินหยวนคราวนี้ มีขึ้นหลังจากช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ปักกิ่งรายงานว่า ยอดส่งออกประจำเดือนกรกฎาคมดิ่งแรงกว่าคาดถึง 8.3% และดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนเดียวกันตกลง 5.4% ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี

ความเคลื่อนไหวของจีนส่งผลกระทบต่อสกุลเงินตราของหลายประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกเมื่อวันอังคาร โดย ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียทรุดลง 1% เมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับเงินวอนของเกาหลีใต้ที่อ่อนวูบ แม้เทรดเดอร์สงสัยว่า ทางการโซลเทขายดอลลาร์เพื่อไม่ให้วอนดิ่งรุนแรงก็ตาม

สำหรับตลาดหุ้นในเอเชียก็พากันดิ่งลงถ้วนทั่วเช่นเดียวกัน ขณะที่นักลงทุนกำลังขบคิดพิจารณานัยจากความเคลื่อนไหวที่น่าประหลาดใจของจีนครั้งนี้ ซึ่งแน่นอนว่า จะส่งผลต่อทั่วโลกทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

ในระยะสั้นนั้น น่าจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของภาคส่งออกจีนเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศเติบโตชะลอตัวที่สุดในรอบ 6 ปี โดยที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่น้อยมีความวิตกว่าการชะลอตัวเช่นนี้จะรุนแรงขึ้นอีก หากไม่มีการทำอะไร

กระนั้น การลดค่าเงินหยวนก็กระตุ้นความกังวลรอบใหม่ว่า ปักกิ่งยังอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายในการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างการเติบโตที่สมดุลโดยอิงกับอุปสงค์ภายในประเทศ

กว๋อ เล่ย นักเศรษฐศาสตร์ของฟาวเดอร์ ซีเคียวริตีส์ ในเซี่ยงไฮ้ มองว่าการดำเนินการครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อลดความกดดันต่อศักยภาพการส่งออกที่ซบเซาลงของจีน

แต่โจว เฮ่า จากคอมเมิร์ซแบงก์ในสิงคปร์ กลับมองว่า นี่ไม่ใช่ปฏิกิริยาตอบสนองต่อข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เป็นการสานต่อแผนการนำเงินหยวนเข้าเป็นหนึ่งในสกุลเงินสำรอง “สิทธิพิเศษถอนเงิน” (เอสดีอาร์) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หรือสกุลเงินที่สมาชิกสามารถใช้ในการชำระระหว่างกันหรือชำระให้ไอเอ็มเอฟ

ต้นเดือนนี้ ไอเอ็มเอฟเสนอในรายงานฉบับหนึ่ง ให้เลื่อนการเพิ่มเงินหยวนในตะกร้าเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ จนกว่าจะถึงเดือนกันยายนปีหน้า และระบุด้วยว่าปักกิ่งยังต้องพยายามอีกมากเพื่อปฏิรูประบบการเงิน

ขณะเดียวกัน การลดค่าเงินหยวนจุดประเด็นการถกเถียงเกี่ยวกับสงครามค่าเงินระดับโลก

วิษณุ วราธาน นักเศรษฐศาสตร์ของมิซูโฮ แบงก์ สาขาสิงคโปร์ แสดงความเห็นว่า สิ่งสำคัญสำหรับนักลงทุนในตลาดคือ การสังเกตทิศทางเงินหยวนในช่วง 2-3 วันต่อไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นการปรับฐานเพียงครั้งเดียวหรือเป็นแนวโน้มระยะยาว

นอกจากนี้ยังเป็นที่คาดการณ์กันว่าอเมริกาจะไม่พอใจอย่างมากกับเรื่องนี้

ฉิน ฮวนเหมย ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ ไฟแนนซ์ คาดว่า วอชิงตันจะออกมาคัดค้านการลดค่าเงินหยวน เนื่องจากกล่าวหามาตลอดว่า ปักกิ่งตรึงค่าเงินหยวนต่ำเกินจริงอย่างมากเพื่ออุ้มภาคส่งออกในประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น