ธปท. ชี้ จีนลดค่าเงินหยวน ส่งผลให้สกุลเงินในภูมิภาคอ่อนลง 0.35-1.0% เนื่องจากตลาดมองว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียเหล่านี้มีความเชื่อมโยงทางการค้ากับจีนค่อนข้างสูง ส่วนเงินบาทอ่อนค่าลงทันที 0.35% เชื่อส่งผลกระทบต่อตลาดในระยะสั้น แต่คงต้องประเมินผลในระยะยาวด้วย ขณะที่ตลาดการเงินโลกอาจเผชิญกับความผันผวนที่สูงขึ้นได้ในช่วงนี้ สำหรับการค้าไทยจีนช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 ที่ระดับ 14.8% และสัดส่วนการใช้เงินหยวนเพื่อการชำระค่าสินค้า และบริการ ประมาณเกือบ 1% ของมูลค่าการค้าไทยจีน
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในวันนี้ (11 ส.ค.) ธนาคารกลางจีนประกาศอัตรากลางของค่าเงินหยวนประจำวัน (Daily Fixing) ที่ระดับ 6.2298 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอ่อนค่าลงจากวันก่อนที่ 6.1162 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ ร้อยละ 1.9 เป็นการประกาศอัตรากลางที่อ่อนลงจากผลของการเปลี่ยนวิธีการกำหนดค่ากลางใหม่ให้สอดคล้องกับกลไกตลาดมากขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปทางการเงินของจีนที่จะค่อยๆ ปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
หลังการประกาศดังกล่าว เงินหยวน (CNY spot rate) อ่อนค่าลง โดยเช้านี้ เงินหยวนอ่อนค่าลงร้อยละ 1.7 จากอัตราปิดวานนี้ (10 ส.ค.) ส่งผลให้เงินสกุลภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งเงินบาทอ่อนค่าตามไปด้วย โดยในช่วงเช้าเงินวอน เกาหลีใต้ (KRW ) และเงินดอลลาร์สิงคโปร์ (SGD) อ่อนค่าลงประมาณ ร้อยละ 1.0 และ 0.7 ตามลำดับ สำหรับเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ ร้อยละ 0.35 เนื่องจากตลาดมองว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียเหล่านี้มีความเชื่อมโยงทางการค้ากับจีนค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ประเทศคู่ค้าสำคัญกับจีนอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย ค่าเงินก็อ่อนค่าลง ร้อยละ 0.4 ด้วยเช่นกัน
สำหรับผลกระทบของค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลง แม้จะมีผลกระทบต่อตลาดในระยะสั้น แต่คงต้องประเมินผลในระยะยาวด้วยว่า ค่าเงินหยวนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นน่าจะเป็นผลดีต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน อีกทั้งการอ่อนค่าของเงินหยวนน่าจะมีผลบวกที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจจีนได้มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการค้าภายในภูมิภาคด้วย
ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การค้าระหว่างไทยและจีนมีสัดส่วนสูงเป็นอันดับ 1 ที่ร้อยละ 14.8 ของมูลค่าการค้ารวม และสัดส่วนการใช้เงินหยวนเพื่อการชำระค่าสินค้า และบริการ ประมาณเกือบร้อยละ 1 ของมูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีน
อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินโลกที่อาจเผชิญกับความผันผวนที่สูงขึ้นได้ในช่วงนี้ ผู้ประกอบการจึงควรติดตามสถานการณ์และใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดทอนผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นได้ โดย ธปท.จะติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงิน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปอย่างใกล้ชิด