xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลับ-ลวง-พราง…ในร่างทรง “พ่อค้าถ่านหิน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 เอกชน 2 กลุ่มบริษัทค้าร่วม ได้แก่ กลุ่มเพาเวอร์ไชน่าและอิตาเลียน-ไทย กับกลุ่ม ALSTOM และมารูเบนี เข้ายื่นประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมา
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การเปิดเกมรุกคืบตามบัญชา “พ่อค้าถ่านหิน” บรรลุผลไปอีกขั้น เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถอ้าแขนเปิดให้มีการยื่นซองประมูลก่อสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่” ได้สำเร็จแบบไร้อุปสรรคใดๆ ไปแผ้วพาน เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา

อันเป็นไปท่ามกลางเสียงชื่นชมที่ยังไม่ทันจางหายต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่แสดงบทบาทคืนความสุขให้กับชาวเมืองดาบและคนในชาติจำนวนมาก

จากที่มีกลุ่มทุนพลังงานทั้งไทยและเทศซื้อซองประมูลไปทั้งสิ้น 12 ราย แต่กลับมายื่นซองจริงเพียง 2 ราย ได้แก่ กลุ่มบริษัทร่วมค้าร่วมระหว่างเพาเวอร์ไชน่ากับอิตาเลียนไทย และกลุ่มบริษัทค้าร่วมอัลสตอมและมารูเบนี (ALSTOM Thailand-Marubeni Corporation) ส่วนกลุ่มซีเมนส์และมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งก่อนหน้าเคยแจ้งเจตจำนงว่าจะมาลงทะเบียนเพื่อประมูล แต่ที่สุดก็ไม่ได้ยื่น โดยกลุ่มมิตซูบิชิส่งตัวแทนเข้าสังเกตการณ์เท่านั้น

การเปิดให้ยื่นซองประกวดเทคนิคและราคาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งมีกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์สำหรับโรงแรก จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า 4 โรง หรือให้ได้กำลังผลิตรวมราว 3,200 เมกะวัตต์นั้น นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ.ให้ข้อมูลไว้ว่า หลังจากนี้จะไปพิจารณาเอกสารต่างๆ ว่าถูกต้องหรือไม่ โดยการพิจารณาเรื่องเทคนิคจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จากนั้นก็จะดูเรื่องราคาต่อ ซึ่งโดยรวมจะใช้เวลาไม่เกิน 4 เดือนก็จะรู้ผล

เป็นที่น่าสังเกตว่า กำหนดเปิดประมูลการก่อสร้างโรงฟ้าถ่านหินกระบี่ เดิมกำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.2558 แต่ได้เลื่อนมาเป็นเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้วด้วยเหตุผลที่ให้ไว้คือ ยังมีบางกลุ่มทุนขอเวลาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งแม้ กฟผ.จะไม่เปิดเผยชื่อ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าคือ กลุ่มทุนพลังงานยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน

เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมจึงอดคิดไม่ได้ว่า เหตุไฉนต้องเลื่อนวันประมูลเพื่อกลุ่มทุนเพียงบางกลุ่ม แล้วผลก็ออกมาว่า “กลุ่มบริษัทร่วมค้าร่วมระหว่างเพาเวอร์ไชน่ากับอิตาเลียนไทย” คือ 1 ใน 2 กลุ่มทุนที่ได้เข้ายื่นซองประมูล แล้วอีก 10 กลุ่มที่ลงทุนควักเงินซื้อซองไปแล้วทำไมไม่มายื่น แถมบางกลุ่มกลับส่งตัวแทนเข้าสังเกตการณ์ใกล้ชิดเสียด้วย

เป็นที่น่าสังเกตอีกว่า ในวันเดียวกับที่ กฟผ.เปิดประมูล 5 ส.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเพื่อนร่วมรุ่นของ พล.ประยุทธ์ อยู่ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่มาเลเซีย ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องของความมั่นคงในระดับภูมิภาคนี้อย่างเป็นพิเศษ แต่กลับได้สร้างปรากฏการณ์สะท้านโลกด้วยการ “เชลียร์พญามังกร” ที่กำลังมีความขัดแย้งกับหลายประเทศอาเซียน ชนิดที่เป็นที่ฮือฮาและสร้างความขนลุกขนพองต่อหน้าสื่อนานาชาติ

ต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลจีนและกลุ่มทุนจีนฉวยโอกาสต่อสายสัมพันธ์และหวังผลประโยชน์จากรัฐบาลท็อปบู๊ตของไทยมาอย่างต่อเนื่องหลังเกิดรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เนื่องจากโลกตะวันตกแสดงบทบาทรับไม่ได้กับความไม่เป็นประชาธิปไตย และสร้างกระแสกดดันไทยมาจนวันนี้

จึงไม่แปลกที่ กฟผ.จะต้องรอให้ “เพาเวอร์ไชน่า” พร้อมจะเข้าร่วมประมูล แล้วมาจับมือกับ “อิตาเลียนไทย” ตั้งบริษัทร่วมค้า ซึ่งคนไทยก็ไม่ควรฉงนสนเท่ห์ใดๆ ทั้งสิ้นที่กลุ่มทุนไทยกลุ่มนี้ ในห้วงที่ผ่านมาได้ไปร่วมลงทุนในเหมืองถ่านหินที่อยู่ในหลายประเทศรอบๆ บ้านเราไว้รอรับเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ดี ยังมีภาพที่สังคมอาจจะเข้าใจไปได้ว่า การเลื่อนประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ดังกล่าว เป็นผลจากปฏิบัติการอา รยะขัดขืนแบบสันติวิธีของ “เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน” ที่ได้ส่งตัวแทนอดอาหารประท้วงจากหน้ากระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. ก่อนรุกก้าวเข้าสู่บริเวณทำเนียบรัฐบาลช่วงวันใกล้เปิดประมูลที่ กฟผ.กำหนดไว้หนแรกวันที่ 22 ก.ค. พร้อมกับยกระดับเป็นคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มทั่วภาคใต้ รวมถึงทุกพื้นที่ทั่วไทย

แล้ววันที่ 23 ก.ค. นายกรัฐมนตรีก็ยินยอมออกมาประกาศยอมรับ “บางข้อเสนอ” ของเครือข่ายฯ รวมเวลา 14 วันที่มีตัวแทนอดข้าวประท้วง ซึ่งก็ได้สร้างความสั่นไหวให้กับผู้คนในสังคมได้มากพอควร แล้วก็ทำให้เชื่อไปได้ว่านั่นคือ “ชัยชนะของภาคประชาชน” ในอีกยกหนึ่งของการต่อสู้ในเรื่องนี้

สำหรับข้อเสนอของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินที่ยื่นต่อนายกฯ รวม 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้ยกเลิกรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของทั้งโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและท่าเรือขนส่งถ่านหินกระบี่ 2.ให้ กฟผ.ยุติเปิดประมูลการก่อสร้างอย่างไม่มีกำหนด และ 3.ให้ตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาข้อเสนอของเครือข่ายฯ

ทั้งนี้ ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ พล.อ.ประยุทธ์ ยินยอมรับเฉพาะข้อที่ 3 เท่านั้น ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับได้ของเครือข่ายฯ เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นผลให้ข้อเสนอที่ 1 และ 2 เป็นผลในทางปฏิบัติไปด้วยโดยปริยาย

นอกจากนี้ ยังมีการตอกย้ำความเชื่อเช่นนี้อีกครั้ง เมื่อนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือ ที่ นร 0505/ว 246 เรื่อง “ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี” ลงวันที่ 29 ก.ค.2558 แจ้งไปยังทุกรัฐมนตรีและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ โดยมีเนื้อหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้

ด้วยในคราวประชุมประชุม ครม.เมื่อวันที่ 29 ก.ค. นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการด้านการบริหารราชการแผ่นดินและอื่นๆ คือ ให้กระทรวงพลังงาน ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหากรณีที่มีกลุ่มผู้คัดค้านการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเรือขนส่งถ่านหินในบริเวณ อ.เทพา จ.สงขลา และใน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ของ กฟผ.ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว ทั้งนี้ ให้ตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าวให้มีความโปร่งใสในกระบวนการต่าง ๆ เช่น การจัดทำประชาพิจารณ์ การจัดทำรายงาน EHIA ด้วย

ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีข้างต้น ใช้เป็นแนวทางในการบริหารราชการให้เกิดประสิทธิภาพ ดังนั้น ในขั้นตอนการปฏิบัติ หน่วยงานจะต้องดำเนินการโดยยึดถือกฎหมาย ระเบียบ หรือมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก

ทว่า แม้คำประกาศที่ผ่านเรียวปากของ พล.อ.ประยุทธ์เอง รวมถึงหนังสือข้อสั่งการของนายกฯ จะเป็นที่ประจักษ์แจ้งก็ตาม แต่กระทรวงพลังงานและ กฟผ.ก็มิเคยนำพา จนปรากฏเป็นภาพต่อสาธารณะที่ทำให้ดูเหมือน “ท่านผู้นำ” จะกลายเป็นตัวตลก และคำพูดที่ควรต้องศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่ต่างอะไรไปจากการผายลมไปแล้ว

ทั้งนี้ แค่คำกล่าวของ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมาก็ยืนยันได้ชัดเจน กรณีนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายหรือไตรภาคีเพื่อแก้ปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้น

“การจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีไม่ได้อยู่ในกระบวนการสร้างโรงไฟฟ้าใดๆ แต่เป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจ ไม่ได้เกี่ยวกับการอนุมัติใดๆ ทั้งสิ้น เพราะยังมีประชาชนไม่เข้าใจอยู่ ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจต่อไป นั่นคือเจตนาของนายกรัฐมนตรี”

นายณรงค์ชัยกล่าวไว้ด้วยว่า การจัดทำ EHIA ยังคงดำเนินตามกรอบและหน้าที่ที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติ ไม่ได้มีการสั่งให้หยุดจัดทำแต่อย่างใด และการดำเนินงานก็ยังทำควบคู่ไปกับการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ตามเดิม โดยหากที่สุดแล้วการจัดทำ EHIA ไม่ผ่านความเห็น กฟผ.ก็ไม่สามารถก่อสร้างได้

“กระบวนการเปิดซองประกวดราคาก็เดินคู่ขนานไปกับกระบวนการด้านสิ่งแวดล้อม เพราะจะประกาศผลได้ทั้งเทคนิค ทั้งราคาก็หลายเดือนอยู่ และที่สำคัญถ้าไม่ผ่านสิ่งแวดล้อมก็สร้างไม่ได้อยู่ดี คนที่เขียนว่า กฟผ.ทำผิดกฎหมายช่วยบอกด้วยว่าเขียนไม่เป็นความจริงเลย”

ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนของ กฟผ.ก็เปิดฉากรุกทำเวที ค.3 โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและท่าเรือขนส่งถ่านหินเทพาอย่างเอิกเกริกระหว่างวันที่ 27-28 ก.ค. โดยถูกกล่าหาว่าละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ ทั้งเรื่องการจัดทำ EHIA และการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน นอกจากนี้ยังมากมายไปด้วยความไม่โปร่งใสอย่างเป็นที่ประจักษ์

แล้ว กฟผ.ยังแสดงการตอกย้ำในเรื่องนี้อีกครั้ง ด้วยการเดินหน้าเปิดให้ยื่นซองประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ดังกล่าวอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่เพิ่งผ่านมา

ดังนี้แล้ว สังคมก็ต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า หลังจากครบกำหนดเวลาประมาณ 4 เดือนของการเปิดซองเพื่อพิจารณา ทั้งเงื่อนไขด้านเทคนิคและราคาที่ 2 กลุ่มบริษัทร่วมค้ายื่นไปแล้วนั้น กฟผ.จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่หรือไม่ แล้วกลุ่มทุนไหนชนะ อีกทั้งการศึกษาจัดทำรายงาน EHIA จะผ่านการยอมรับ จนนำไปสู่การเริ่มงานก่อสร้างได้หรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้แล้วเสร็จตามที่ต้องการเปิดใช้ในปี 2562 นั่นเอง

ว่ากันว่า หากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เดินเครื่องงานก่อสร้างได้สำเร็จ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาก็จะตามมาติดๆ จากนั้นเมกะโปรเจกต์ด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ก็ไม่น่าจะต้องเผชิญอุปสรรคหนักหนาใดๆ อีกแล้ว โดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกทั้งฝั่งอันดามัน-อ่าวไทย เชื่อมกันด้วยถนนมอเตอร์เวย์ รถไฟ ท่อน้ำมัน-ท่อก๊าซ ซึ่งทั้งหมดจะประกอบเป็น “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” นำไปสู่การการตั้งโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซ ต่อเนื่องด้วย “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ขนาดใหญ่ และไปจบที่ “อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค-บริโภค” กระจายทั่วภาคใต้

ทั้งหมดทั้งปวงเหล่านั้นก็คือ การเนรมิตไทยให้เป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” ที่ใช้ภาคใต้เป็นฐานที่มั่นนั่นเอง**

อย่างไรก็ตาม จากการเล่นกันคนละบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ กับนายณรงค์ชัย และผู้นำองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทำให้ผู้คนจำนวนมากพานคิดไปว่า หรือนี่คือกลเกมของกลุ่มผู้กุมอำนาจรัฐ จับมือกับบรรดากลุ่มทุนพลังงาน โดยเฉพาะบรรษัทขนาดใหญ่พลิกผันตัวเองมาเล่นบท “พ่อค้าถ่านหิน” ซึ่งได้ร่วมกันวางแผนกันไว้แล้วอย่างเป็นระบบกับ

หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ไม่น่าจะเกินเลยถ้าจะมีใครฉายภาพไว้ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า นี่คือแผน “ลับ-ลวง-พราง...ในร่างทรงพ่อค้าถ่านหิน” นั่นเอง?!


กำลังโหลดความคิดเห็น