xs
xsm
sm
md
lg

“เทพาโมเดล”...วิชามาร “กฟผ.”?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แผงลวดหนามปิดกั้นฝ่ายเห็นต่าง
 
โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
 
แทบไม่น่าเชื่อว่าความจำเป็นต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ที่บรรดา “พ่อค้าถ่านหิน” ผสมพันธุ์กับ “ก๊วนกุมอำนาจรัฐ” มาทุกยุคทุกสมัย แล้ววางแผนกำหนดให้เดินหน้าแบบหัวชนฝามาตลอด ซึ่งก็ได้เผชิญอุปสรรคขวากหนามมากมาย และนานนับปีที่ต้องเพลี่ยงพล้ำให้แก่กลุ่มต่อต้านการก่อสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” บนแผ่นดินด้ามขวาน ขณะที่ภาพชัดเจนล่าสุดถึงขั้นอาจจะต้องถอนหมุดโรงแรกออกจากกระบี่
 
ทว่า ชั่วเวลาแค่สัปดาห์เดียวมานี้ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)” หน่วยงานที่ยอมสยบรับบทหัวหอกรับใช้ “กลุ่มทุนพลังงาน” แบบสุดลิ่มทิ่มประตู กลับสามารถตีตื้นในกลเกมการผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินให้กลับฟื้นขึ้นมาได้ ทั้งนี้ ก็ด้วยอาศัยความคร่ำหวอด และชำนาญชั้นเชิงวิชามารนั่นเอง
 
จึงเกิดยุทธการปลุกปั้น “เทพาโมเดล” ขึ้นมาให้เป็นจุดรวมของสปอตไลต์ แม้จะเป็นไปท่ามกลางคำครหานินทาชนิดหนาหูก็ตาม!!
 
กลุ่มเห็นต่างถูกกักอยู่ด้านนอก
 
“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และการประสบความสำเร็จวันนี้ น่าจะเป็นเทพาโมเดล เพราะว่าชุมชนที่สนับสนุนโครงการ และโห่ร้องด้วยความยินดีที่การจัดทำเวทีผ่านพ้นไปด้วยดี...ถือเป็นครั้งแรกสำหรับการจัดทำเวทีรับฟังความเห็นที่มีความเรียบร้อยมากๆ”
 
นายพล คงเสือ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 3 กฟผ. ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวภายหลังเสร็จสิ้นเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียครั้งที่ 3 (ค.3) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและโครงการท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินเทพา ที่จัดขึ้น ณ อบต.ปากลาง อ.เทพา จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 27-28 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวทีที่ กฟผ.ภาคภูมิใจว่าเรียบร้อยมากที่สุดเท่าที่เคยทำเวทีแบบนี้มา แม้ตัวเลขผู้เข้าร่วมจะยังไม่เข้าเป้าที่กะเกณฑ์ไว้วันละกว่า 10,000 คนก็ตาม
 
สำหรับที่มาของ “เทพาโมเดล” ที่ผู้ช่วยผู้ว่าฯ กฟผ.โม้ไว้คือ การเปลี่ยนวิธีการทำงานมวลชนใหม่ จากใช้คน กฟผ.เข้าไปลุยโดยตรง ก็หันไปใช้แกนนำในชุมชนสร้างความเข้าใจก่อน จากนั้นคน กฟผ.จึงตามไปป้อนข้อมูลให้ แล้วค่อยพาไปเที่ยวดูงานทั้งใน และนอกประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงยอมรับแล้ว
 
โดย กฟผ.จะนำโมเดลนี้ไปปรับใช้ในโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าต่างๆ ของ กฟผ.ทั่วประเทศต่อไป หลังเคยพลาดท่ามาแล้วที่กระบี่ พระนครเหนือ หรือแม่เมาะมาแล้ว?!
 
แสดงออกได้เท่านี้
 
ความจริงแล้วเวที ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนถ่านหินเทพา ที่ กฟผ.สุดจะภาคภูมิใจ และยกยอปอปั้นให้เป็นโมเดลแม่แบบเอาไว้ใช้กับการรุกก้าวสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่อื่นๆ ในส่วนของข้อมูลข่าวสารที่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ ทั้งในหน้าสื่อมวลชน และสื่อสังคมออนไลน์ ปรากฏการณ์นี้กกลับมีมุมมองเป็นตรงกันข้าม 
 
เสียงติติงถึง “ความไม่ชอบธรรม” และ “ความไม่ชอบมาพากล” ดังกึกก้องมาอย่างยาวนาน นับจากเคยถูกไล่ให้ออกไปจากพื้นที่ในหลายจังหวัดภาคใต้ อย่างที่ จ.นครศรีธรรมราช เวลานี้ กฟผ.จัดกิจกรรมในพื้นที่แทบไม่ได้ แล้วต่อเนื่องมาถึง จ.กระบี่ แปรเป็นการต่อสู้ของ “เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน” ซึ่งลุกขึ้นทำกิจกรรมเกี่ยวร้อยเป็น 6 จังหวัดอันดามัน ก่อนที่จะขยายทั่วภาคใต้
 
แล้วเคลื่อนไปสู่ปฏิบัติการอารยะขัดขืนแบบสันติวิธี ด้วยการอดข้าวประท้วงจากหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จากนั้นไปจบลงที่ทำเนียบรัฐบาล ด้วยการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ต้องยินยอมประกาศยอมรับบางข้อเสนอ
 
แต่ก็ทำให้ภาพการเดินหน้า “โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่” ดูชะงักงันไปแล้วเวลานี้?!
 
ข้าราชการคือผู้รับใช้ประชาชน
 
เสียงวิพากษ์วิจารณ์มาดังขึ้นมาอีก และดูดดึงสายตาผู้คนในสังคมให้หันมาจับจ้องก็เมื่อครั้ง “เครือข่ายพลเมืองสงขลา” จัดเวที ค.3 ภาคประชาชน โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา พัฒนาหรือหายนะ?! ตัดหน้าก่อนที่ กฟผ.จะจัดเพียง 2 วัน คือ วันที่ 25 ก.ค.ในรั้ว ม.อ.หาดใหญ่ มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของภาคใต้
 
มีการระดมผู้รู้รอบด้านทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน นักการสาธารณสุข นักการศาสนา นักพัฒนา นักเคลื่อนไหว และสื่อมวลชนกว่าสิบชีวิต ให้มาช่วยกันลอกคราบ กฟผ. รวมถึงเปิดโปงกลุ่มทุนสามานย์ที่อิงแอบการเมืองอันเป็นเงาทะมึนอยู่เบื้องหลัง
 
แล้วในเวที ค.3 ของภาคประชาชนครั้งนี้เองที่ได้เปลือยให้เห็นวิชามารต่างๆ นานาของ กฟผ. พร้อมถอดหน้ากากนักปกครองชั้นสูงในพื้นที่ ซึ่งมีการนำเอาคำสั่งห้าม “บุคคลและกลุ่มบุคคลที่เห็นต่าง” เข้าไปเคลื่อนไหวในพื้นที่ อบต.ปากบาง และปริมณฑล สถานที่จัดเวที ค.3 ของ กฟผ.ตั้งแต่เวลา 01.00 น. ของคืนวันที่ 26 ก.ค.ถึงเวลา 24.00 น. ของคืนวันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา
 
คำสั่งน่าฉงนฉบับนี้ลงนามโดย นายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อนร่วมรุ่นมัธยมศึกษาวัดนวลนรดิศกับ “ท่านผู้นำ” ที่ถืออำนาจเต็มในเวลานี้!!
 
ด่านกีดกัน
 
ไม่เพียงเท่านั้น นักปกครองที่มีโอกาสก็จะพูดให้สาธารณะรับรู้มาตลอดตั้งแต่เกิดมีการรัฐประหารว่า เป็นเพื่อนร่วมรุ่นของนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เขายังประกาศด้วยว่า เพื่อให้เวที ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาของ กฟผ.เดินหน้าไปด้วยความสงบเรียบร้อย จึงต้องเอาตัวเองเป็นประกันในการเข้าร่วม และจะไปนั่งทำหน้าที่ประธานในเวทีที่จัดขึ้นทั้ง 2 วันด้วย
 
ขณะที่ “เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ที่ถูกกีดกันให้เป็นกลุ่มเห็นต่างก็เคลื่อนขบวนตามไปจี้ให้นายธำรงค์ ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว และยุติการแสดงออกถึงความไม่เป็นกลาง โดยเดินทางไปทั้งที่ศาลากลาง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 26 ก.ค. และที่เวที ค.3 ของ กฟผ.ที่จัดในบริเวณ อบต.ปากบาง เมื่อวันที่ 27 ก.ค. แต่ก็ไม่สามารถเข้าพบผู้ว่าฯ สงขลาได้ มีเพียงส่งคนมารับหนังสือไปเท่านั้น
 
ประธานเวที
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ บ่ายของวันที่ 27 ก.ค.จึงเคลื่อนขบวนต่อไปยัง จ.ยะลา เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะรับผิดชอบพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับเรียกร้องให้ดำเนินการ 3 ข้อ ประกอบด้วย
 
1.ตรวจสอบ บริษัท คอนซัลแทนท์ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ที่รับจ้าง กฟผ.จัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แบบขาดธรรมาภิบาล 2.ตรวจสอบทางวินัยการใช้อำนาจการปกครองอันมิชอบของผู้ว่าฯ สงขลา และ 3.ให้ กฟผ.ยุติโฆษณาชวนเชื่อ ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ อันทำให้เกิดความแตกแยก และความเข้าใจผิดต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน
 
โดยนอกจากเลขาธิการ ศอ.บต.จะออกมารับหนังสือด้วยตัวเองแล้ว ยังได้แนะนำให้เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เดินทางไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมประจำรัฐสภาอีกด้วย
 
ความเหมือนของฝ่ายสนับสนุน
 
แต่ทั้งหมดทั้งปวงยังไม่น่าสนใจเท่าข่าวการจัดเวที ค.3 โรงฟ้าฟ้าถ่านหินเทพาของ กฟผ.วันแรก สื่อทุกประเภทหยิบยกไปนำเสนอ แถมยังขึ้นหน้า 1 แทบทุกฉบับด้วยซ้ำ อันเป็นการให้น้ำหนักในประเด็นความเคลื่อนไหวของฝ่ายเห็นต่างเป็นหลัก ขณะที่ประเด็นความเคลื่อนไหวในเวที ค.3 ของ กฟผ.กลับกลายเป็นเพียงส่วนประกอบ
 
ที่สำคัญมีภาพของการระดมคนเข้าร่วมเวทีชัดแจ้ง และมีการสร้างแรงจูงใจด้วยการแจกทั้งเงิน อาหาร ข้าวสาร เสื้อผ้า และสิ่งของอื่นๆ อีกมากมายเพื่อจูงใจให้สนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนส่งถ่านหินเทพา!!
 
ขณะที่สื่อมวลชนก็มีการระดมเข้าร่วมแบบไม่อั้น พร้อมอำนวยความสะดวกสบายไปเสียทุกอย่าง เลี้ยงดูปูเสื่ออย่างอิ่มหมีพีมัน โดยเฉพาะหลังเสร็จเวทีแทบจะปิดผับหรูกลางเมืองหาดใหญ่ฉลอง “เทพาโมเดล” กันเลยทีเดียว!!
 
กองเผนินเทินทึก
 
แน่นอนภาพการเป็นพ่อพระของ กฟผ.ที่พร้อมแจกสะบั้นเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนสนับสนุนครานี้ อาจไม่ปะเจิดปะเจ้อเท่าเมื่อครั้งการจัดเวที ค.1 โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2557 ที่แจกข้าวสาร และสิ่งของอื่นๆ จนสร้างความโกลาหลไปทั่วบริเวณสถานที่จัดเวที
 
แต่การจัดเวที ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาครานี้ มีภาพเป็นที่ประจักษ์ก็เช่น กองกระเป๋าเอกสารและสิ่งของพะเนินเทินทึก อาหารการกินไม่ว่าจะเป็นข้าว และผลไม้ ถึงขั้นต้องใช้รอกลำเลียงขนส่งจากบริเวณถนนด้านนอก แล้วส่งเข้าไปเลี้ยงกันแบบมากมายก่ายกองภายในรั้ว อบต.ปากบาง ส่วนข้าวสารว่ากันว่า ให้กลับไปรับจากแกนนำในหมู่บ้าน
 
แต่ที่น่าสนใจ และเป็นที่จับตาของสังคม เพราะมีภาพปรากฏทางสื่อต่างๆ ชัดแจ้งนั่นคือ มี “ใบเสร็จรับเงิน” จากบริษัทที่ปรึกษาระบุว่า จ่ายค่าเดินทางแบบเหมาะรายละ 500 บาท!!
 
ของแจก
 
ไม่เพียงเท่านั้น บรรดาผู้เข้าร่วมเวทีจำนวนมากใส่เสื้อยืดที่มีข้อความ “เทพาเมืองเก่า คนเอาถ่าน” ในส่วนของพี่น้องมุสลิมก็แต่ง “ชุดละหมาดสีขาว” ที่ทั้งแบบ และรูปทรงเหมือนกันเปี๊ยบ อีกทั้งบางกลุ่มบางเครือข่ายอย่าง อสม.ก็ได้ใส่ “เสื้อแจ็กเกต” ที่สื่อถึงความเป็นทีมเดียวกัน ชนิดที่ในเวทีละลานอยู่เต็มไปหมด
 
นอกจากนี้ ในการจัดเวที ค.3 ของ กฟผ.ในวันที่สอง หรือวันที่ 28 ก.ค. ก็ได้รับความสนใจจากทั้งสื่อ และสังคมน้อยมาก เนื่องจากกลุ่มเห็นต่างเอือมต่อมาตรการปิดประตูตีแมว จึงหันไปตั้งเวทีคู่ขนานเพื่อชำแหละโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเรือขนถ่านหินเทพา ณ ลานหน้าโรงเรียนเทพา อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งก็มีทั้งนักวิชาการ และผู้รู้มากมายตามไปร่วม
 
ที่เวทีภาคประชาชนน่าสนใจเป็นพิเศษ คือ ศิลปินนักต่อสู้ขวัญใจคนใต้ “น้าซู-นายระพินทร์ พุฒิชาติ” ก็นำสมาชิก “วงซูซู” เต็มวงเข้าร่วม และให้กำลังใจด้วย ซึ่งก็ถือเป็นอีกจุดดูดดึงสื่อมวลชนทุกแขนงให้ต้องตามไปทำข่าวที่เวทีชาวบ้าน มากกว่าที่จะอยู่โยงกับเวที ค.3 ของ กฟผ.
 
ใบเสร็จ
 
เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกเหนือจากการเดินสายร้องเรียนยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ แล้ว เวลานี้ เครือข่ายพลเมืองสงขลา ยังได้ร่วมกับเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังเร่งเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาล
 
โดยเฉพาะในประเด็นการจัดเวที ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนถ่านหินเทพาของ กฟผ.ซึ่งถูกระบุว่า เป็นไปแบบ “ไม่ชอบธรรม”?!
 
ว่ากันว่านอกจากพยานอันน่าจะเป็นที่ประจักษ์แจ้งดังที่กล่าวไว้ข้างต้น และโดยเฉพาะสิ่งที่น่าจะถูกหยิบยกให้เป็นหลักฐานสำคัญใช้สนับสนุนการดำเนินคดี เพื่อหยุดยั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาของ กฟผ.ก็คือ การออกคำสั่งของผู้ว่าฯ สงขลา เรื่องห้ามบุคคล หรือกลุ่มบุคคลผู้เห็นต่างเข้าไปในบริเวณสถานที่จัดเวทีแล้ว
 
ชักรอกเพื่อความอิ่มหมีพีมัน
 
ยังมีอีกประเด็นที่ต้องจัดว่าเป็นภาพชัด และน่าจะสำคัญมากเช่นกันก็คือ การที่ฝ่ายความมั่นคงภายใต้รัฐบาลท็อปบูตระดมกำลังทั้งทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครราว 2,000 นาย พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์แบบครบครัน ไม่ว่าจะเป็นการวางลวดหนาม และตั้งด่านกีดกัน อาวุธปืน รถยนต์หุ้มเกราะ หรือแม้กระทั่งเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งทั้งนำไปจอดให้เห็นประจักษ์ และส่งบินเวียนวนช่วงที่มีการเปิดเวที 
 
อันทั้งหมดทั้งปวงล้วนเป็นไปได้ที่จะถูกตีความในเชิงข่มขู่คุกคามฝ่ายเห็นต่างนั่นเอง?!
 
ดังนี้แล้ว “เทพาโมเดล” ในสายตาผู้บริหาร กฟผ.กับในสายตากลุ่มเห็นต่าง ซึ่งฝ่ายหลังนี้ยังต้องรวมเอาผู้คนในสังคมอีกจำนวนมากไว้ด้วย จึงมีความแตกต่างกันอย่างแทบไม่ต้องสงสัย หรือหากจะว่าเป็นเหมือนดั่งก้อนเมฆบนท้องฟ้ากับก้นหุบเหวลึกก็ไม่น่าจะผิดอะไร
 
รถหุ้มเกราะพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์
 
อย่างไรก็ตาม การปลุกปั้นเวที. ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาให้เป็นถึงโมเดลต้นแบบของผู้บริหาร กฟผ.นั้น ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะคิดอะไรขึ้นมาแบบเลื่อนลอยก็ไม่น่าจะเป็นไปได้?!
 
ลึกๆ แล้วที่ประกาศต่อสื่อในท่วงทำนองประสบผลสำเร็จ และพร้อมจะใช้เป็นแม่แบบนำไปใช้ในการผลักดันสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่พื้นที่อื่นๆ อีก นั่นแหละคือ “เลศนัย” ที่ให้ตีความได้ไม่ยากเย็น และอยู่ในความหมายที่สื่ออกมาแล้วนั่นเอง!!
 
หากย้อนไปดูภาพอดีต การขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าในภาคใต้ของ กฟผ. ซึ่งเคยเอาจริงเอาจังว่าจะแจ้งเกิดให้ได้ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ภาคใต้ตอนบน หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี อ.กันตัง จ.ตรัง จ.สตูล อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา และโดยเฉพาะที่ขับเคลื่อนระดับแรงๆ ก็ที่ อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ต่างล้วนมีหลายปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้รุกก้าวประกาศเดินหน้า
 
ดูแลความเรียบร้อย
 
อย่างพื้นที่ อ.หัวไทร ประกาศไว้ชัดว่า จะต้องขึ้นโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างน้อยก็ 2 โรงขึ้นไป ปัจจัยที่เอื้อก็คือ ข้อเสนอเรื่องที่ดินทำนากุ้งเก่าร้างกว่า 2,000 ไร่ ของบริษัทยักษ์ใหญ่ทางการเกษตรแห่งหนึ่ง ซึ่งที่นั่น กฟผ.เคยปักหมุดว่าจะให้เป็นเหมือนโมเดลแห่งแรกของภาคใต้เช่นกัน แต่สุดท้ายกลับทนแรงต้านจากคนคอนไม่ไหว
 
เมื่อบ่ายหน้าไปยัง จ.กระบี่ ก็ได้เห็นปัจจัยที่เอื้อแบบสุดๆ จนมั่นใจยิ่งว่าจะต้องปักหมุดโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ที่นี่ได้เป็นที่แรก เนื่องจาก กฟผ.มีอาณาบริเวณที่ดินผืนใหญ่รองรับอยู่แล้ว และก็เคยแจ้งเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นั่นมาก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นน้ำมันเตาในเวลานี้
 
ทว่า กฟผ.ไม่เคยคาดคิดว่าจะถูกกลุ่มทุนท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะจาก 3 จังหวัดที่รวมพลังแข็งปึก และสร้างมูลค่านับเป็นแสนๆ ล้านบาทต่อปีคือ กระบี่ พังงา และ ภูเก็ต รวมตัวกันสยายปีกเข้าช่วยเหลือกลุ่มต่อต้านได้อย่างทรงพลัง ถึงขั้นรัฐบาลต้องยินยอมตั้งกรรมการ 3 ฝ่ายขึ้นมาหาข้อสรุป
 
จึงอาจจะส่งผลให้มีอันต้องเลื่อนแผนก่อสร้างเพื่อปักหมุดโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงแรกใน จ.กระบี่ ไปโดยปริยาย?!
 
ประจำการและพร้อมบินตรวจการตลอด
 
อีกทั้ง กฟผ.อาจจะลืมประวัติศาสตร์ไปแล้วว่า เมื่อกว่า 20 ปีมานี้ กลุ่มทุนท่องเที่ยว 3 จังหวัดอันดามันดังกล่าว เคยขับไล่ “สะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) กระบี่-ขนอม” ซึ่งมีแผนจะสร้าง “ท่าเรือน้ำลึก” บนชายฝั่งกระบี่ ที่จะกระทบต่อธรรมชาติของอาณาบริเวณอ่าวพังงามาแล้ว โดยเหลือทิ้งไว้ซึ่ง “ถนนเซาเทิร์นฯ” แบบใหญ่โตมโหฬารให้ดูต่างหน้า
 
เมื่อที่กระบี่มีอันต้องเลื่อนการปักหมุดแรกโรงไฟฟ้าถ่านหินออกไป จึงไม่แปลกที่ กฟผ.จะมีการคิด “มุกใหม่” ขึ้นมารองรับ ซึ่งก็คือ “เทพาโมเดล” อันเป็นเหมือนการประกาศว่า ถ้าอย่างนั้นขอเดินหน้าปักหมุดแรกที่เทพาแบบเต็มสูบแทนกระบี่ก่อนก็ได้ 
 
เดินทางไปร้องเลขาธิการ ศอ.บต.ที่ จ.ยะลา
 
เนื่องเพราะปัจจัยเอื้อมากมาย เช่น ที่ดินผื่นใหญ่ติดชายทะเลก็มีรองรับแล้ว แถมยังอยู่ใกล้เขตทหารอีกต่างหาก ที่สำคัญปราศจากกลุ่มทุน และฝ่ายไม่เห็นด้วยที่เข้มแข็ง สามารถเจาะไปหาคนสนับสนุน ขณะที่กลุ่มคุดค้านก็สามารถหาทางกุดหัวไว้ได้ง่ายๆ 
 
และที่ต้องจัดว่าสำคัญมากอย่างที่สุดก็คือ รัฐบาลทหารในเวลานี้มีส่วนหนุนเนื่องอย่างไม่ต้องสงสัย?!?!
 
เวทีคูขนานของถาคประชาชน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น