xs
xsm
sm
md
lg

ลับ-ลวง-พราง…ในร่างทรง “พ่อค้าถ่านหิน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เอกชน 2 กลุ่มบริษัทค้าร่วม ได้แก่ กลุ่มเพาเวอร์ไชน่าและอิตาเลียนไทย กับกลุ่ม ALSTOM และมารูเบนี เข้ายื่นประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา
 
โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
 
แล้วเกมรุกคืบตามบัญชา “พ่อค้าถ่านหิน” ก็บรรลุผลไปอีกขั้น เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถอ้าแขนเปิดให้มีการยื่นซองประมูลก่อสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่” ได้สำเร็จแบบไร้อุปสรรคใดๆ ไปแผ้วพาน เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา
 
อันเป็นไปท่ามกลางเสียงชื่นชมที่ยังไม่ทันจางหายต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่แสดงบทบาท “คืนความสุข” ให้แก่ชาวเมืองดาบ และคนในชาติจำนวนมาก
 
จากที่มีกลุ่มทุนพลังงานทั้งไทย และเทศซื้อซองประมูลไปทั้งสิ้น 12 ราย แต่กลับมายื่นซองจริงเพียง 2 ราย ได้แก่ กลุ่มบริษัทร่วมค้าร่วมระหว่างเพาเวอร์ไชน่า กับอิตาเลียนไทย และกลุ่มบริษัทค้าร่วมอาล์สตอมและมารูเบนี (ALSTOM Thailand-Marubeni Corporation) ส่วนกลุ่มซีเมนส์ และมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งก่อนหน้าเคยแจ้งเจตจำนงว่าจะมาลงทะเบียนเพื่อประมูล แต่ที่สุดก็ไม่ได้ยื่น โดยกลุ่มมิตซูบิชิส่งตัวแทนเข้าสังเกตการณ์เท่านั้น

การเปิดให้ยื่นซองประกวดเทคนิคและราคาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งมีกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ สำหรับโรงแรก จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ประมาณ 4 โรง หรือให้ได้กำลังผลิตรวมไม่ต่ำกว่า 3,200 เมกะวัตต์นั้น นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ.ให้ข้อมูลไว้ว่า หลังจากนี้จะไปพิจารณาเอกสารต่างๆ ว่าถูกต้องหรือไม่ โดยการพิจารณาเรื่องเทคนิคจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จากนั้นก็จะดูเรื่องราคาต่อ ซึ่งโดยรวมจะใช้เวลาไม่เกิน 4 เดือนก็จะรู้ผล

เป็นที่น่าสังเกตว่า กำหนดเปิดประมูลการก่อสร้างโรงฟ้าถ่านหินกระบี่ เดิมกำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.2558 แต่ได้เลื่อนมาเป็นเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยเหตุผลที่ให้ไว้คือ ยังมีบางกลุ่มทุนขอเวลาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งแม้ กฟผ.จะไม่เปิดเผยชื่อ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าคือ กลุ่มทุนพลังงานยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน
 
เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมจึงอดคิดไม่ได้ว่า เหตุไฉนต้องเลื่อนวันประมูลเพื่อกลุ่มทุนเพียงบางกลุ่ม แล้วผลก็ออกมาว่า “กลุ่มบริษัทร่วมค้าร่วมระหว่างเพาเวอร์ไชน่ากับอิตาเลียนไทย” คือ 1 ใน 2 กลุ่มทุนที่ได้เข้ายื่นซองประมูล แล้วอีก 10 กลุ่มที่ลงทุนควักเงินซื้อซองไปแล้วทำไมไม่มายื่น แถมบางกลุ่มกลับส่งตัวแทนเข้าสังเกตการณ์ใกล้ชิดเสียด้วย
 
เป็นที่น่าสังเกตอีกว่า ในวันเดียวกับที่ กฟผ.เปิดประมูล 5 ส.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รองหัวหน้า คสช. และเพื่อนร่วมรุ่นของ พล.ประยุทธ์ ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่มาเลเซีย ซึ่งให้ความสำคัญต่อเรื่องของความมั่นคงในระดับภูมิภาคนี้อย่างเป็นพิเศษ แต่กลับได้สร้างปรากฏการณ์สะท้านโลกด้วยการ “เชลียร์พญามังกร” ที่กำลังมีความขัดแย้งกับหลายประเทศอาเซียน ชนิดที่เป็นที่ฮือฮา และสร้างความขนลุกขนพองต่อหน้าสื่อนานาชาติ
 
ต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลจีน และกลุ่มทุนจีนฉวยโอกาสต่อสายสัมพันธ์และหวังผลประโยชน์จากรัฐบาลทอปบูตของไทยมาอย่างต่อเนื่องหลังเกิดรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 เนื่องจากโลกตะวันตกแสดงบทบาทรับไม่ได้ต่อความไม่เป็นประชาธิปไตย และสร้างกระแสกดดันไทยมาจนวันนี้
 
จึงไม่แปลที่ กฟผ.จะต้องรอให้ “เพาเวอร์ไชน่า” พร้อมที่จะเข้าร่วมประมูล แล้วมาจับมือกับ “อิตาเลียนไทย” ตั้งบริษัทร่วมค้า ซึ่งคนไทยก็ไม่ควรฉงนสนเท่ห์ใดๆ ทั้งสิ้นที่กลุ่มทุนไทยกลุ่มนี้ ในห้วงที่ผ่านมาได้ไปร่วมลงทุนในเหมืองถ่านหินที่อยู่ในประเทศรอบบ้านเราไว้รอรับเรียบร้อยแล้ว
 
อย่างไรก็ดี ยังมีภาพที่สังคมอาจจะเข้าใจไปได้ว่า การเลื่อนประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ดังกล่าว เป็นผลจากปฏิบัติการอารยะขัดขืนแบบสันติวิธีของ “เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน” ที่ได้ส่งตัวแทนอดอาหารประท้วงจากหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. ก่อนรุกก้าวเข้าสู่บริเวณทำเนียบรัฐบาลช่วงวันใกล้เปิดประมูลที่ กฟผ.กำหนดไว้หนแรกวันที่ 22 ก.ค. พร้อมกับยกระดับเป็นคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มทั่วภาคใต้ รวมถึงทุกพื้นที่ทั่วไทย
 
แล้ววันที่ 23 ก.ค. นายกรัฐมนตรีก็ยินยอมออกมาประกาศยอมรับ “บางข้อเสนอ” ของเครือข่ายฯ รวมเวลา 14 วันที่มีตัวแทนอดข้าวประท้วงที่ได้สร้างความสั่นไหวให้แก่ผู้คนในสังคมได้มากพอควร แล้วก็ทำให้เชื่อไปได้ว่านั่นคือ “ชัยชนะของภาคประชาชน” ในอีกยกหนึ่งของการต่อสู้ในเรื่องนี้
 
ปฏิบัติการเดินสายต่อสู้ของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
 
สำหรับข้อเสนอของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินที่ยื่นต่อนายกฯ รวม 3 ข้อ ประกอบด้วย  1.ให้ยกเลิกการทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของทั้งโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และท่าเรือขนส่งถ่านหินกระบี่ 2.ให้ กฟผ.ยุติเปิดประมูลการก่อสร้างอย่างไม่มีกำหนด และ 3.ให้ตั้งคณะกรรมการร่วมจากฝ่ายต่างๆ เพื่อพิจารณาข้อเสนอของเครือข่ายฯ
 
ทั้งนี้ ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ พล.อ.ประยุทธ์ ยินยอมรับเฉพาะข้อที่ 3 เท่านั้น ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับได้ของเครือข่ายฯ เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นผลให้ข้อเสนอที่ 1 และ 2 เป็นผลในทางปฏิบัติไปด้วยโดยปริยาย
 
นอกจากนี้ ยังมีการตอกย้ำความเชื่อเช่นนี้อีกครั้ง เมื่อนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือ ที่ นร 0505/ว 246 เรื่อง “ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี” ลงวันที่ 29 ก.ค.2558 แจ้งไปยังทุกรัฐมนตรี และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติราชการ โดยมีเนื้อหาสำคัญที่เกี่ยวข้องต่อโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ ได้แก่ 
 
ด้วยในคราวประชุมประชุม ครม.เมื่อวันที่ 29 ก.ค. นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการด้านการบริหารราชการแผ่นดิน และอื่นๆ คือ ให้กระทรวงพลังงาน ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหากรณีที่มีกลุ่มผู้คัดค้านการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเรือขนส่งถ่านหินในบริเวณ อ.เทพา จ.สงขลา และใน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ของ กฟผ.ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว ทั้งนี้ ให้ตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าวให้มีความโปร่งใสในกระบวนการต่างๆ เช่น การจัดทำประชาพิจารณ์ การจัดทำรายงาน EHIA ด้วย
 
ข้อสั่งการของนากรัฐมนตรีข้างต้น ใช้เป็นแนวทางในการบริหารราชการให้เกิดประสิทธิภาพ ดังนั้น ในขั้นตอนการปฏิบัติหน่วยงานจะต้องดำเนินการโดยยึดถือกฎหมาย ระเบียบ หรือมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก
 
ทว่า คำประกาศที่ผ่านเรียวปากของ พล.อ.ประยุทธ์ เอง รวมถึงหนังสือข้อสั่งการของนายกฯ แม้จะเป็นที่ประจักษ์แจ้งก็ตาม แต่กระทรวงพลังงาน และ กฟผ.ก็มิเคยนำพา จนปรากฏเป็นภาพต่อสาธารณะที่ทำให้ดูเหมือน “ท่านผู้นำ” จะกลายเป็น “ตัวตลก” และคำพูดที่ควรต้องศักดิ์สิทธิ์ก็ไม่ต่างอะไรไปจากการ “ผายลม” ไปแล้ว
 
ทั้งนี้ แค่คำกล่าวของ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังร่วมประชุมคระกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมาก็ยืนยันได้ชัดเจนว่า เป็นเช่นไรต่อกรณีนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย หรือไตรภาคีเพื่อแก้ปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
 
“การจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีไม่ได้อยู่ในกระบวนการสร้างโรงไฟฟ้าใดๆ แต่เป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจ ไม่ได้เกี่ยวต่อการอนุมัติใดๆ ทั้งสิ้น เพราะยังมีประชาชนไม่เข้าใจอยู่ ดังนั้น จึงต้องทำความเข้าใจต่อไป นั่นคือเจตนาของนายกรัฐมนตรี”
 
นายณรงค์ชัย กล่าวไว้ด้วยว่า การจัดทำ EHIA ยังคงดำเนินตามกรอบ และหน้าที่ที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติ ไม่ได้มีการสั่งให้หยุดจัดทำแต่อย่างใด และการดำเนินงานก็ยังทำควบคู่ไปกับการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ตามเดิม โดยหากที่สุดแล้วการจัดทำ EHIA ไม่ผ่านความเห็น กฟผ.ก็ไม่สามารถก่อสร้างได้
 
“กระบวนการเปิดซองประกวดราคาก็เดินคู่ขนานไปกับกระบวนการด้านสิ่งแวดล้อม เพราะจะประกาศผลได้ทั้งเทคนิค ทั้งราคาก็หลายเดือนอยู่ และที่สำคัญถ้าไม่ผ่านสิ่งแวดล้อมก็สร้างไม่ได้อยู่ดี คนที่เขียนว่า กฟผ.ทำผิดกฎหมายช่วยบอกด้วยว่า เขียนไม่เป็นความจริงเลย”
 
ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนของ กฟผ.ก็เปิดฉากรุกทำเวที ค.3 โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและท่าเรือขนส่งถ่านหินเทพาอย่างเอิกเกริก ระหว่างวันที่ 27-28 ก.ค. โดยถูกกล่าหาว่า ละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ ทั้งเรื่องการจัดทำ EHIA และการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน นอกจากนี้ ยังมากมายไปด้วยความไม่โปร่งใสอย่างเป็นที่ประจักษ์
 
แล้ว กฟผ.ยังแสดงการตอกย้ำในเรื่องนี้อีกด้วยการเดินหน้าเปิดให้มีการยื่นซองประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ดังกล่าวอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่เพิ่งผ่านมา
 
เมื่อกลับไปพิจารณาความระหว่างบรรทัดของเนื้อหาในหนังสือ “ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี” ดังกล่าว ก็พบว่า เป็นจริงตามที่นายณรงค์ชัย ว่าไว้ เพราะไม่มีตรงไหนระบุให้ทำตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ ทั้งในข้อที่ 1 และ 2 แม้แต่น้อย
 
ดังนี้แล้ว สังคมก็ต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า หลังจากครบกำหนดเวลาประมาณ 4 เดือนของการเปิดซองเพื่อพิจารณา ทั้งเงื่อนไขด้านเทคนิค และราคาที่ 2 กลุ่มบริษัทร่วมค้ายื่นไปแล้วนั้น กฟผ.จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนส่งถ่านหินกระบี่ มูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาทได้หรือไม่ แล้วกลุ่มทุนไหนชนะ อีกทั้งการศึกษาจัดทำรายงาน EHIA จะลากถูให้ผ่านการยอมรับ จนนำไปสู่การเริ่มงานก่อสร้างได้หรือไม่ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้แล้วเสร็จตามที่ต้องการให้เปิดใช้ได้ในปี 2562 นั่นเอง
 
อันเป็นไปตามความต้องการของบรรดา “พ่อค้าถ่านหิน” ที่มีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ในแวดวงพลังงานทั้งไทย และเทศเป็นเงาทะมึนอยู่เบื้องหลัง และยากปฏิเสธว่าไม่ได้เชื่อมโยงกับ “ระบอบทักษิณ” โดยเฉพาะที่ประกาศตัวว่าเป็นพวกธรรมาภิบาล แต่ผูกขาดพลังงานชาติไว้ในกำมือ
 
ว่ากันว่า หากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เดินเครื่องงานก่อสร้างได้สำเร็จ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาก็จะตามมาติดๆ จากนั้นเมกะโปรเจกต์ด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ก็ไม่น่าจะต้องเผชิญอุปสรรคหนักหนาใดๆ อีกแล้ว โดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกทั้งฝั่งอันดามัน-อ่าวไทย เชื่อมกันด้วยถนนมอเตอร์เวย์ รถไฟ ท่อน้ำมัน-ท่อก๊าซ ซึ่งทั้งหมดจะประกอบเป็น“แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” นำไปสู่การการตั้งโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซ ต่อเนื่องด้วย “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ขนาดใหญ่ และไปจบที่ “อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค” กระจ่ายทั่วภาคใต้
 
ทั้งหมดทั้งปวงเหล่านั้นก็คือ การเนรมิตไทยให้เป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” ที่ใช้ภาคใต้เป็นฐานที่มั่นนั่นเอง
 
อย่างไรก็ตาม จากการเล่นกันคนละบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ กับนายณรงค์ชัย และผู้นำองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทำให้ผู้คนจำนวนมากพานคิดไปว่า หรือนี่คือกลเกมของก๊วนผู้กุมอำนาจรัฐ จับมือกับบรรดากลุ่มทุนพลังงาน โดยเฉพาะบรรษัทขนาดใหญ่ที่พลิกผันตัวเองมาเล่นบท “พ่อค้าถ่านหิน” ซึ่งได้ร่วมกันวางแผนกันไว้แล้วอย่างเป็นระบบ
 
หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ไม่น่าจะเกินเลยถ้าจะมีใครฉายภาพไว้ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า นี่คือแผน “ลับ-ลวง-พราง...ในร่างทรงพ่อค้าถ่านหิน” นั่นเอง?!
 

 
ธำรงค์ เจริยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา แสดงออกอย่างโดดเด่นในเวที ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
 
----------------------  ล้อมกรอบ  ----------------------
 
“ผู้ว่าฯ ธำรงค์ เจริญกุล”...วัดนวลนรดิศคอนเนกชัน ผู้รับบทประจันหน้าตีฝ่าฝ่ายต้าน

 
เป็นที่เข้าใจสำหรับลูกสะตอที่แหลงปักษ์ใต้กับคำว่า “ผู้ว่าฯ แย่เหม็ด” มีความหมายอย่างถ้าจะให้ใช้ภาษากรุงเทพฯ อธิบายให้เข้าใจกันอย่างครบถ้วนกระบวนความแล้วก็ น่าจะบอกได้ว่า “ผู้ว่าฯ ทำเรื่องแย่ไปเสียหมด” หรืออะไรประมาณนั้น
 
นับจาก กฟผ.จัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 3 หรือ ค.3 โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและท่าเรือขนส่งถ่านหินเทพา ซึ่งถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 ก.ค.ที่ผ่านมา เสียงแซ่ซ้องเกี่ยวกับฉายาที่มีผู้ตั้งให้แก่ “ธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา” ก็กระหึ่มดังไปทั่ว โดยเฉพาะในแวดวงสื่อสังคมออนไลน์
 
ฉายานี้ได้มาจากผู้คนในแวดวงผู้เห็นต่างเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้วยพวกเขาเฝ้าจับตาดูผู้ว่าฯ ธำรงค์ ที่ได้แสดงออกในหลากหลายบทบาท โดยเฉพาะจากคำพูดที่มักจะเกิดขึ้นเสมอๆ ในเวทีประชุม งานเลี้ยง หรือแม้แต่ในที่ทางสาธารณะ ซึ่งก็มักจะมาควบคู่กับคำบอกเล่าเรื่องราวในอดีต อันเป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งยังเรียนอยู่ระดับชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศในเมืองหลวง โดยครั้งนั้นเคยมีเพื่อนร่วมรุ่นชื่อ...
 
“ประยุทธ์ จันทร์โอชา” 
 
ในเวที ค.3 ผู้ว่าฯ ธำรงในฐานะมีภาพ “วัดนวลนรดิศคอนเนกชัน” ประกาศต่อสาธารณะว่ารับอาสา กฟผ.ไปนั่งเป็นประธานในเวที ทั้งนี้ ก็สยบกลุ่มผู้เห็นต่างๆ ที่มีข่าวว่าอาจจะไปสร้างการปั่นป่วนในเวที
 
อีกทั้งก่อนหน้าคือวันที่ 21 ก.ค. ผู้ว่าฯ ธำรงค์ ยังได้เซ็นคำสั่งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สงขลา เรื่องการห้ามบุคคล หรือกลุ่มบุคคลเคลื่อนไหวหรือชุมนุมคัดค้านเวที ค.3 ของ กฟผ. บริเวณอาคารที่ทำการ อบต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ในระหว่างเวลา 01.00 น. ของวันที่ 26 ก.ค. ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 28 ก.ค.2558
 
นอกจากนี้แล้ว วันที่ 25 ก.ค.หรือ 2 วันก่อนที่ กฟผ.จะจัดเวที ฝ่ายเห็นต่างที่มีทั้งนักวิชาการ นักการสาธารณสุข นักการศาสนา ผู้นำท้องถิ่น และสื่อมวลชนจากทั่วประเทศ ได้ร่วมกันจัดเวที “ค.3 ภาคประชาชน โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา พัฒนาหรือหายนะ” ขึ้นในรั้ว ม.อ.หาดใหญ่ ปรากฏว่า ผู้ว่าฯ ธำรงค์ ก็ได้ดึงงบ กฟผ.ไปจัดเวทีแล้วระดมชาวบ้านเข้าร่วมประกบที่โรงแรมหรูริมหาดสมิหลา อ.เมือง จ.สงขลา
 
แล้วในเวทีนั้นเอง ผู้ว่าฯ ธำรงค์ ก็หลุดคำพูดในทำนองว่า จะให้คนไปตัดไฟฟ้าที่บ้านพวกเอ็นจีโอสัก 2-3 วัน แล้วดูว่าจะอยู่กันได้หรือไม่
 
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการหยิบยกเอาคำพูดของผู้ว่าฯ ธำรงค์ ต่อที่ประชุมผู้บริหารการศึกษาในจังหวัด เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ห้องประชุมบนศาลากลางมาเปิดเผยด้วย ซึ่งสรุปใจความสำคัญได้ในท่วงทำนองว่า ต้องเอาพวกเอ็นจีโอไปยิงเสียให้หมด เพื่อให้การเดินหน้าพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไม่สะดุด
 
ทั้งหมดทั้งปวงถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์กันให้แซดในแวดวงกลุ่มผู้เห็นต่าง และกลายเป็นข่าวครึกโครมช่วงที่มีการเปิดเวที ค.3 ของ กฟผ. จากนั้นวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำเรื่องนี้ไปร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ผ่านศูนย์บริการประชาชนของรัฐบาล เพื่อให้จัดการต่อผู้ว่าฯ ธำรงค์ ทั้งยังนำไปขยายความต่อในรายการทีวีอีกด้วย
 
แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อผู้สื่อข่าวนำเรื่องการร้องเรียนไปถาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คำตอบที่ได้รับคือ ไม่ขอวิจารณ์เรื่องนี้
 
“มันลอยๆ กันมา ผมไม่รู้จะพูดยังไง เพราะฉะนั้นผมขออนุญาตไม่พูดดีกว่า เดี๋ยวเอาไปเขียนเกี่ยวโยงผมอีก พยายามตอบทีไรก็เสร็จทุกที เอาเป็นว่า ถ้าคุณเป็นคนยื่นเรื่อง ก็ไปแจ้งความเอาผิดเขาสิ เพราะถือเป็นเรื่องของการข่มขู่ถึงชีวิต ควรเป็นไปตามกฎหมาย ผมไม่มีหน้าที่ไปตรวจสอบตรงนี้”
 
หรือนี่ก็เป็นอีกมาตรการ “ลับ-ลวง-พราง...ในร่างทรงพ่อค้าถ่านหิน” อีกและ?!
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น