xs
xsm
sm
md
lg

2กลุ่มชิงดำสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ กฟผ.คาดรู้ผลใน4เดือน ลุ้นบอร์ดสวล.อนุมัติEHIA

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "กฟผ." เปิดยื่นประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ 4.9 หมื่นล้านบาท เผยกลุ่มร่วมค้าพาวเวอร์ฯ ไชน่า-อิตาเลี่ยน ไทย และกลุ่มอาล์สตอม-มารูเบนี เข้าชิงดำ รู้ผลภายในไม่เกิน 4 เดือน กฟผ.ลุ้นบอร์ดสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอนุมัติ EHIAภายในไตรมาสแรกปีหน้า เพื่อเดินหน้าก่อสร้างให้เสร็จตามแผนจ่ายไฟเดือนธ.ค.ปี 62 ด้านอิตัลฯ ไทยมั่นใจชนะแน่

นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า วานนี้ (5มี.ค.) กฟผ. ได้จัดให้มีการยื่นและเปิดซองประกวดราคา (Bid Opening Date) สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ขนาดกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อปิดรับข้อเสนอ มีเอกชนเข้ามายื่นจำนวน 2 กลุ่มบริษัท ได้แก่ 1.กิจการค้าร่วม พาวเวอร์

คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟไชน่า กับบมจ.อิตาเลี่ยน-ไทย ดีเวลลอปเมนท์ (Consortium of Power Construction corporation of China and Italian-Thai Development PCL.) และ 2.กิจการค้าร่วมบริษัทอัลสตอม เพาเวอร์ ซิสเต็ม, อัลสตอม (ประเทศไทย) จำกัด และมารูเบนี (The Consortium Consisting of ALSTOM Power Systems, ALSTOM (Thailand) Ltd. And Marubeni Corporation) โดยขั้นตอนจะมีการพิจารณาด้านเทคนิคภายใน 3 เดือน และพิจารณาด้านราคารวมแล้วคงสรุปได้ภายในไม่เกิน 4-6เดือน

"หลังจากนี้จะดูข้อเสนอทางเทคนิคว่าแต่ละบริษัทมีการดำเนินงานอย่างไร โดยเฉพาะด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะต้องสอดรับกับข้อเสนอของชุมชนที่มีการปรับให้สอดคล้องกับการเปิดเวทีรับฟังความเห็นหรือค.3 แล้ว จากนั้นจึงจะมาดูราคาที่เสนอ ซึ่งราคากลางที่แนะนำ คือ 4.9 หมื่นล้านบาท"นายรัตนชัยกล่าว

***ลุ้นบอร์ดสิ่งแวดล้อมอนุมัติ EHIA

นายรัตนชัยกล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานการคัดเลือกผู้ประมูลก่อสร้างจะทำควบคู่ไปกับการทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคี

ทั้งนี้ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ผ่าน EHIA หรือรัฐบาลสั่งให้หยุด ซึ่งตามเป้าหมายโรงไฟฟ้ากระบี่จะต้องจ่ายไฟเข้าระบบเดือนธ.ค.2562 โดยยอมรับว่าหากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไม่พิจารณา EHIA ภายในไตรมาสแรกของปี 2559 การจ่ายไฟก็คงจะดีเลย์ออกไป เพราะการก่อสร้างจะต้องใช้เวลาประมาณ 4 ปี

อย่างไรก็ตาม กฟผ.ยังคาดหวังว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ และเทพา จ.สงขลา (กำหนดจ่ายไฟยูนิตแรก 1 มิ.ย.2564) ยังคงจะเดินหน้าได้ตามแผน แม้ว่าคนยังมีความกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ทั้ง กฟผ. และกระทรวงพลังงาน ได้พยายามทำความเข้าใจกับชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องว่ามีการกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดกว่ามาตรฐานรัฐกำหนดด้วยซ้ำ

***ก.ย.เปิดประมูลสร้างบางปะกง-พระนครใต้

นายรัตนชัยกล่าวว่า วันที่ 2 ก.ย.นี้ จะมีการเปิดให้ยื่นซองประกวดราคาก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางปะกง (ทดแทนเครื่อง1-2) กำลังผลิต 1,300 เมกะวัตต์ และวันที่ 30 ก.ย. จะเปิดให้ยื่นประกวดราคาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทนกำลังการผลิต 1,300เมกะวัตต์ รวมเงินลงทุนประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งการลงทุนจะเน้นเงินกู้จากสถาบันการเงิน 75% ที่เหลือเป็นเงินทุน กฟผ. ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากรูปแบบการขายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในช่วงเช้า ซึ่งกฟผ.เปิดโต๊ะให้เอกชนที่สนใจเข้ามาลงทะเบียน เพื่อยื่นเอกสารประกวดเทคนิค และราคาช่วง 08:00-10:00 น. ซึ่งปรากฏว่าเมื่อปิดให้ลงทะเบียนมีกลุ่มบริษัทมายื่นเพียง 2 กลุ่มจากที่แจ้งเจตจำนงจะยื่น 4 ราย โดยพบว่า 2 ราย คือ กลุ่มซีเมนส์ และมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ไม่มาตามที่แจ้ง แต่พบตัวแทนมิตซูบิชิมาสังเกตุการณ์ ขณะที่การซื้อซองประมูลมีทั้งสิ้น 12 ราย

***อิตัลฯไทยมั่นใจชนะหวังได้ก่อสร้าง

นายอัครพงศ์ วสุวรรณธก รองประธานกรรมการหน่วยโรงงานอุตสาหกรรม 2 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การมายื่นครั้งนี้ มั่นใจว่าจะชนะการประมูลก่อสร้าง เพราะใช้เทคโนโลยีที่เป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก ส่วนกรณีที่มีปัญหาการคัดค้าน และจะได้ก่อสร้างจริงหรือไม่ อยู่ที่ภาครัฐและประชาชนจะตัดสินใจในการมองความจำเป็นของประเทศ

"ประชาชนน่าจะตัดสินใจมากกว่า เราใช้เทคโนโลยีที่กำจัดมลพิษที่ดี มั่นใจว่าทำได้ อุปกรณ์หลักๆ ก็ใช้กันทั่วโลก และการผลิตเทคโนโลยีที่สูง ก็มีไม่กี่รายในโลกนี้ จึงไม่กังวล ส่วนผมเองก็เห็นด้วยกับรัฐบาลในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราเข้าประมูลก็เสนอตามหน้าที่การตัดสินใจเทคนิคก็อยู่ที่ กฟผ. โดยบริษัทยื่นราคาใกล้เคียงกับราคากลางที่ กฟผ.ประกาศ” นายอัครพงศ์กล่าว

***จี้รัฐมีความชัดเจนทางออกช่วยSPP

นายณรงค์ชัย วิสูตรชัย นายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ใหม่ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2560-2568 โดยเสนอให้รับซื้อไฟฟ้าในปริมาณ 45 เมกะวัตต์และในราคาการรับซื้อไฟฟ้าจากSPP รอบใหม่ ขณะเดียวกันภาคเอกชนจะมีการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดด้วย เชื่อว่าทางสนพ.จะมีความชัดเจนเรื่องนี้ภายในปลายปีนี้

ก่อนหน้านี้ มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหากลุ่มSPP ที่จะทยอยสิ้นสุดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าปี 2560-2568 จำนวน 25 โครงการ โดยส่วนแรกจะเป็นกลุ่ม SPP ที่จะทำสัญญาใหม่ ซึ่งจะรับซื้อไฟฟ้าในปริมาณไม่เกิน 20% ของกำลังการผลิตติดตั้งเดิมและในราคาไม่เกินอัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และอีกส่วนเป็นกลุ่ม SPP ที่จะหมดอายุสัญญาในปี 2560-61 จะได้รับการต่ออายุอีก 3-5 ปีในปริมาณรับซื้อที่น้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นขอให้ภาครัฐต่ออายุสัญญาการซื้อไฟฟ้ากับSPPที่จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2560-61 ออกไป 3-5ปี โดยลดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าลงไม่มากจากสัญญาเดิม ขณะเดียวกันก็หารือเรื่องสัญญารับซื้อไฟฟ้าใหม่หลังจากนั้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น