xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไร้อำนาจชักใบแดง กกต.รบมือเปล่า?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ข้อสรุปในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ หมวดศาลยุติธรรม จากการประชุมที่โรงแรมเอเชีย พัทยา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยในมาตรา 241 กรรมาธิการยกร่างฯ กำหนดให้คดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การให้มีการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง) ในการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ให้อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์

คดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การให้มีการเลือกตั้งใหม่และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในเขตท้องที่ของศาลใดให้อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคนั้นแล้วแต่กรณี

และคดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาพิพากษา โดยกำหนดให้สามารถยื่นขออุทธรณ์ไปที่ศาลฎีกาได้ ซึ่งผู้สมัครเลือกตั้งที่ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ใบเหลืองหรือใบแดง สามารถยื่นต่อสู้คดีไปที่ศาลฎีกาได้ จากเดิมที่การไต่สวนเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) และส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเป็นผู้วินิจฉัย

นั่นเท่ากับว่า ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อำนาจการให้ใบเหลือง-ใบแดงแก่ผู้สมัครที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง จะถูกเปลี่ยนมือจาก กกต.ไปเป็นของศาลอุทธรณ์แทน

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง แถลงว่า กกต.มีมติจะเสนอความเห็นไปยังกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการให้อำนาจในการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือใบแดง กลับมาอยู่ในอำนาจของ กกต.

โดยก่อนถึงวันเลือกตั้ง หากพบผู้สมัครคนใดทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ขอให้ กกต.มีอำนาจแจกใบแดงให้ผู้สมัครที่ทุจริตออกจากสนามเลือกตั้ง โดยให้ กกต.เสนอขอความเห็นชอบไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการจัดเลือกตั้งใหม่

ภายหลังจากการลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว แต่อยู่ในช่วงก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หากพบการทุจริตเลือกตั้ง แต่ไม่เชื่อมโยงถึงผู้สมัคร ขอให้ กกต.มีอำนาจให้ใบเหลือง หรือสั่งเลือกตั้งใหม่ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด กรณีที่ให้ใบเหลืองแก่ผู้สมัครไปแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งจะเท่ากับเป็นใบส้ม เพื่อให้บุคคลนั้นไม่มีสิทธิลงสมัครเลือกตั้งในครั้งนั้น

ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หากพบว่ามีการทุจริตและเชื่อมโยงไปยังผู้สมัคร ขอให้ กกต.มีอำนาจแจกใบแดง เพื่อตัดสิทธิผู้สมัครเป็นเวลา 1 ปี และ ภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งแล้วพบทุจริตการเลือกตั้ง จะเชื่อมโยงหรือไม่เชื่อมโยงกับผู้สมัคร ก็ขอส่งเรื่องไปที่ศาลอุทธรณ์ หากศาลฯ ยืนตามมติ กกต. ถ้าเป็นใบเหลืองก็ให้จัดเลือกตั้งใหม่ ถ้าเป็นใบแดงก็ให้ตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

นายสมชัยกล่าวว่า หาก กกต.มีอำนาจให้ใบเหลืองเพียงอย่างเดียวนั้น จากสถิติการเลือกตั้ง 10 ปีที่ผ่านมา กกต.ให้ใบเหลืองไปแล้ว 82 ใบ แต่พบว่าผู้สมัครกลับมาได้ถึง 78 คน คิดเป็นร้อยละ 95 ที่กลับมาได้เกือบทั้งหมด จึงเห็นว่าการให้อำนาจ กกต.ให้แค่ใบเหลืองไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาทางการเมือง แม้เลือกตั้งก็จะกลับมาได้ ส่งผลเสียต่อ กกต.ประชาชนและรัฐบาลที่ต้องเสียงบประมาณในการจัดเลือกตั้ง แต่นักการเมืองไม่ได้เสียเงินในส่วนนี้

ต่อมา วันที่ 15 กรกฎาคม ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา มีการแถลงผลการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในการพิจารณาในส่วนของ กกต.ว่า กรณีที่ กกต.ได้ทำหนังสือถึง กมธ.ยกร่างฯ ขอให้มีการพิจารณาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการแจกใบเหลือง ใบแดง รวมทั้งมีข้อเสนอกรณีที่ กกต.ให้ใบเหลืองแก่ผู้สมัครไปแล้ว แต่ยังพบว่ามีการทุจริตโดยกลุ่มเดิมก็ขอให้ กกต.แจกใบส้ม เพื่อให้ไม่มีสิทธิลงสมัครเลือกตั้งนั้น ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้มีการนำมาพิจารณากันโดยเฉพาะประเด็นการให้ใบส้ม ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ โดยขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะกำหนดให้รูปแบบออกมาเป็นอย่างไร เนื่องจากที่ประชุมได้ให้เวลา กมธ.ยกร่างฯ ไปทบทวนและคิดพิจารณาด้วยความรอบคอบอีกครั้ง

ส่วนอำนาจการให้ใบเหลือง กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้ กกต.สามารถดำเนินการได้เฉพาะก่อนประกาศผลรับรองการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนอำนาจการพิจารณาให้ใบแดง ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลเป็นผู้ดำเนินการ

เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่คืนอำนาจการให้ใบแดง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร จึงเปิดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ว่า การออกแบบในร่างรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการยกร่างฯ จะทำให้ทั้ง กกต. หรือศาลไม่สามารถจัดการคนทุจริตก่อนการเลือกตั้งและก่อนการประกาศได้เลย รวมทั้งเมื่อประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้วกว่าศาลจะได้ตัดสินก็ใช้ระยะเวลา 1-2 ปีในการจัดการคนทุจริต เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญออกแบบเป็นระบบ 2 ศาล คือ ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

ทั้งนี้ จากสถิติตั้งแต่ปี 2552-2557 ที่ศาลไม่เห็นตามสำนวนที่ กกต.เสนอ โดยยกฟ้องถึงร้อยละ 43.5 เชื่อว่าไม่ใช่เป็นเพราะนักการเมืองที่ถูกร้องสุจริต แต่เพราะเมื่อผู้สมัคร หรือผู้ได้รับเลือกตั้งรายนั้น เข้าไปมีตำแหน่งก็จะใช้อิทธิพลข่มขู่คุกคามพยาน กดดันให้ออกจากพื้นที่ ไม่สามารถเรียกพยานมาให้การต่อศาลได้ ที่สำคัญกระบวนการพิจารณาของศาลเป็นการไต่สวนแบบเผชิญหน้าทำให้ประชาชนเกรงกลัวได้

นายสมชัยย้ำว่า ประเด็นที่ กกต.เสนอคือจะต้องเร่งรัดให้ออกใบแดงก่อนประกาศผลให้ได้ จะโดยใครก็ได้ จะเป็น กกต.ส่งให้กฤษฎีกาช่วยพิจารณา หรือให้ศาลพิจารณาก็ได้ แต่ถ้ารอให้ศาลตัดสินให้ใบแดง ก็จะเข้าสู่วงรอบ 1-2 ปีจึงจะเอานักการเมืองออกจากตำแหน่งได้ แล้วสุดท้ายใบแดงก่อนเลือกตั้งหรือก่อนประกาศรับรองผลการเลือกตั้งก็จะกลายเป็นเพียงเรื่องในตำนานของประเทศไทย

ส่วนที่ตนเสนอให้ใช้เกณฑ์ 2 ใบเหลืองเท่ากับ 1 ใบส้ม เพื่อเอานักการเมืองออกจากสนามเลือกตั้ง แม้จะกำหนดไว้ในกฎหมายลูกได้ แต่ก็เห็นว่าเสี่ยงต่อการถูกโต้แย้งเรื่องเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญได้ จึงควรมีกำหนดให้ชัดเจนไว้ในรัฐธรรมนูญดีกว่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ แถลงว่า เห็นด้วยที่กำหนดให้การให้ใบแดง อยู่ในอำนาจของศาล ที่ผ่านมางานของ กกต.จะกว้างขวางมาก ตั้งแต่การจัดเลือกตั้งไปถึงการสืบสวนสอบสวนคำร้องคัดค้านเลือกตั้งเพื่อตรวจสอบว่ามีการทุจริตหรือไม่ แต่หน้าที่สำคัญที่สุดของ กกต.คือ การจัดการเลือกตั้ง จึงเห็นว่าการพิจารณาบทลงโทษเพิกถอนสิทธินักการเมืองที่ทุจริต ควรเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสำนวนคดี นั่นคือให้เป็นหน้าที่ของศาล และทางที่ดีควรจะเป็นการพิจารณาอย่างน้อย 2 ศาล คือ ให้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิอุทธรณ์แสดงความบริสุทธิ์ได้ เนื่องจากในร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะมีบทกำหนดโทษที่รุนแรงคือตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต เป็นมาตรการที่เข้มงวดมากกว่าเดิม

นางสดศรียังกล่าวอีกว่า กกต.ต้องกลับมามองตัวเองว่าการทำงานที่ผ่านมามีความเรียบร้อยดีหรือไม่ การขออำนาจการให้ใบแดงซึ่งควรเป็นอำนาจที่ตรวจสอบได้ เพราะตามกฎหมายเดิมที่มีการระบุถ้อยคำว่า เชื่อได้ว่าอาจจะทุจริต ก็สามารถให้ใบเหลืองหรือใบแดงได้ แต่สิ่งนี้ไม่ได้เป็นมาตรการที่จะรับประกันว่าถูกต้องจริงหรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้คือต้องทบทวนตัวเองว่าทำไมเขาจึงมีแนวคิดให้จัดตั้ง กจต.หรือมอบอำนาจการให้ใบแดงไปสู่ศาล ถ้าทำงานดีจริงร้อยเปอร์เซนต์จะมีแนวคิดดังกล่าวออกมาหรือไม่

วันต่อมา นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ออกมาแถลงย้ำอีกครั้งว่า กมธ.ยกร่างฯ ควรให้อำนาจในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ก่อนวันเลือกตั้งและก่อนประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแก่ กกต. เพื่อเป็นมาตรการในการไล่คนที่มีหลักฐานว่าทุจริตออกจากการเลือกตั้ง ถือเป็นการตัดสิทธิชั่วคราวเพียง 1 ปี ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นอำนาจของศาล เพราะถ้าส่งไปเชื่อว่าศาลไม่สามารถพิจารณาคดีได้ทันตามเวลาที่กฎหมายกำหนด

หาก กมธ.ยกร่างฯ ไม่มีการแก้ไขตามข้อเสนอ กกต. นายสมชัยกล่าวว่า แม้ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจ กกต.ก็ต้องจัดการเลือกตั้งให้สุจริตมากเท่าที่ทำได้ แต่ถ้ามีไม้กระบองก็ดีกว่าสู้ด้วยมือเปล่า เหมือนเวลาจะออกรบคนเป็นเสนาธิการต้องรู้ว่าส่งทหารไปสู้กับอะไร ก็ต้องให้ยุทโธปกรณ์พอสมควร จะให้เราเป็นยักษ์ก็ต้องมีกระบอง เป็นนักรบก็ต้องมีดาบ ไม่ใช่ไปมือเปล่า ถ้าไปรบแล้วแพ้คนที่คิดวางแผนก็สมควรโดนโทษประหาร

ส่วนที่อดีต กกต.ให้ความเห็นว่าอำนาจการให้ใบแดงควรเป็นของศาล เพราะที่ผ่านมา กกต.ไม่มีความสามารถ นายสมชัยตอบกลับว่า ท่านอยู่ที่นี่มา 7 ปี สามารถช่วยให้ระบบต่างๆ ดีขึ้นได้ แต่ 7 ปีที่ผ่านมาท่านได้ทำอะไรอยู่ขอให้ทบทวนด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ กกต.ได้มีการตกลงกันว่าวันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ กกต.จะไม่ออกความเห็นอีก เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากระบวนการจัดทำประชามติที่ กกต.เป็นผู้ดำเนินการนั้น จะกระทำด้วยความเป็นกลาง


กำลังโหลดความคิดเห็น