โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยประชุมวันนี้คุยเลือกตั้งจะให้เป็นหน้าที่ หรือสิทธิ และควรบัญญัติองค์ประกอบกรรมการสรรหา ส.ว.สรรหา ไว้ในกฎหมายสูงสุดหรือไม่ แย้มพวกโดนร่ำรวยผิดปกติ ส่อทุจริตในหน้าที่ ผิดต่อตำแหน่งราชการ-ยุติธรรม ถูกแบนตลอดชีวิต เปลี่ยนเอกสิทธิ์ยกเว้นคุ้มครองผู้แทน หากผิดฐานโกง โดนคดีคุกเกิน 10 ปี แต่ถ้าถูกจับประธานสภาฯ สามารถขอให้ปล่อยตัวได้ ระบุอ้างความเห็นชาวบ้านไม่อยากให้คุ้มครองพวกติดคดีอาญาร้ายแรง
วันนี้ (18 ก.ค.) ที่รร.เอเชีย พัทยา จ.ชลบุรี เมื่อเวลา 10.30 น.นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า การประชุมวันนี้เป็นการทบทวน 2 ประเด็นสำคัญ คือ จะให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่เหมือนเดิมตามรัฐธรรมนูญ ปี 40 และปี 50 หรือให้จะการเลือกตั้งเป็นสิทธิ เพราะมีเสียงเรียกร้องจากการสำรวจความเห็นประชาชนที่เข้ามาจำนวนมากที่ต้องการให้เป็นหน้าที่ ไม่ใช่สิทธิ และเรื่องที่มาของ ส.ว. ประเภทสรรหาว่าสมควรจะต้องบัญญัติองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาไว้ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเป็นส่วนสำคัญไม่ควรอยู่ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ
นายคำนูณ กล่าวว่า สำหรับการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง โดยโทษตัดสิทธิทางการเมือง หรือตำแหน่งอื่นเป็นเวลา 5 ปี จะมาจากฐานความผิดที่ประกอบด้วย ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง พฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม แต่หากกรณีที่ถูกถอดถอนด้วยเหตุว่าพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม จะต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง หรือตำแหน่งอื่นตลอดไป หรือความหมายตามภาษาชาวบ้าน คือ ตลอดชีวิต ตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขข้อบังคับที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 35(4)
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นการการเอกสิทธิคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.และ ส.ว. กมธ.ยกร่างฯ ได้ปรับหลักการสำคัญให้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา โดยเดิมกำหนดให้ไม่ให้มีการจับคุมขัง ออกหมายเรียกตัว ส.ส. ส.ว. ไปดำเนินการสอบสวนคดีอาญา ยกเว้นกรณีที่ได้รับอนุญาตจากสภาแล้วแต่กรณี และถูกจับในขณะกระทำความผิด แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เพิ่มข้อยกเว้นการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ คือ ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ และกรณีทำความผิดที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ขณะที่การคุ้มครองไม่ให้นำตัว ส.ส. หรือส.ว.ไปดำเนินคดีระหว่างชั้นศาล ได้ปรับแก้ไขจากเดิมที่ไม่สามารถทำได้ ยกเว้นได้รับจากความยินยอมจากสภาฯหรือวุฒิสภา หรือกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยเปลี่ยนเป็นว่าถ้าเป็นกรณีที่เป็นคดีที่ความผิดต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และกรณีที่สมาชิกผู้นั้นยินยอมให้ดำเนินคดีก็จะสามารถถูกดำเนินคดีได้ นอกจากนี้ กรณีที่มีการจับ ส.ส.และ ส.ว.ในขณะกระทำความผิดให้รายงานไปยังสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกโดยพลัน และประธานสภาผู้นั้นเป็นสมาชิกร้องขอผู้ถูกจับได้
เมื่อถามถึงคำว่า ประธานสภาอาจร้องขอให้ปล่อยตัว ส.ส.หรือ ส.ว.หมายความว่า พนักงานสอบสวน หรือศาลสามารถใช้ดุลพินิจว่าจะปล่อยตัวหรือไม่ปล่อยตัวก็ได้ใช่หรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ประเด็นร้องขอมีค่าเท่ากับสั่ง บางคนก็มองว่าคำว่าร้องขอนั้นไม่มีค่าเท่ากับคำว่าสั่ง คงต้องเป็นกรณีที่วินิจฉัย และคณะ กมธ.ยกร่างฯอาจไปกำหนดให้ชัดเจนในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่อไป
เมื่อถามว่า การแก้ไขเอกสิทธิ์คุ้มครองเช่นนี้จะมีผลให้ฝ่ายรัฐบาลที่ควบคุมกลไกอำนาจรัฐใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า คณะ กมธ.ยกร่างฯ ได้อภิปรายข้อดีข้อเสีย ตั้งแต่การพิจารณารายมาตรารอบแรกเช่นกัน ซึ่งมีสองมุม คือ มาตรฐานเดิมของมาตรานี้เป็นไปตามระบบรัฐสภา ทั่วโลกที่มีมายาวนานเป็นร้อยปีที่คุ้มครองฝ่ายนิติบัญญัติที่ไม่ถูกกลั่นแกล้งจากฝ่ายบริหาร กมธ.ยกร่างฯ อีกด้านก็มองว่า โอกาสที่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นในยุคปัจจุบันก็ได้เปลี่ยนแปลงมาก และรัฐธรรมนูญในต่างประเทศก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน ประกอบกับความรู้สึก และการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อสาธารณะก็ต้องการไม่ให้มีความคุ้มครองเด็ดขาดเพราะหลายกรณีเป็นคดีอาญาที่มีโทษร้ายแรง จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรได้รับคุ้มครอง