xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มอำนาจปชช.ฟันนักการเมือง ตัดกจต.ยอมแยกกสม.-ผู้ตรวจฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 10.30 น. วานนี้ (15ก.ค.) ที่รร.เอเชีย พัทยา นายปกรณ์ ปรียากร พร้อมด้วย น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกคณะกรรมการธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายปกรณ์ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้พิจารณาในเรื่องการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์และการถอดถอนออกจากตำแหน่งเสร็จสิ้นแล้ว
มีการปรับแก้เนื้อหา ให้รัฐสภาถอดถอน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ ส่วนตำแหน่งอื่นไม่ว่าจะเป็น ตุลาการศาลรธน. กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ข้าราชการอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ให้วุฒิสภาเป็นผู้ถอดถอนใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของส.ว. เท่าที่มีอยู่ในวุฒิสภา และต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี
ส่วนผู้ที่มีสิทธิยื่นถอดถอน คือ 1. ส.ส.หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ยื่นเรื่องให้ประธานของแต่ละสภา 2. ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน ยื่นเรื่องให้กับประธานรัฐสภา หรือประธานวุฒิสภา โดยผู้ที่ยื่นคำร้องทั้งสองกรณีนี้ จะต้องมีการระบุพฤติการณ์ความผิดของบุคคลทั้ง 6 มูลฐานให้ชัดเจน คือ 1. ส่อว่าร่ำรวยผิดปกติ 2. ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ 3. ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ 4. ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม 5. ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย 6. ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ดังนั้น เมื่อประธานรัฐสภา หรือประธานวุฒิสภา ได้รับเรื่องแล้วจะต้องดำเนินการส่งไปให้ ป.ป.ช. พิจารณาโดยเร็ว และเมื่อป.ป.ช. พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว จะต้องส่งกลับมาที่รัฐสภา หรือวุฒิสภา เพื่อดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตาม เฉพาะการถอดถอนบุคคลตามฐานความผิดในการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงนั้น เมื่อรัฐสภา หรือวุฒิสภา ได้รับคำร้องแล้วจะต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ไต่สวน แต่ ป.ป.ช.ต้องตั้งคณะกรรมการที่มีชื่อว่า "คณะกรรมการพิจารณาการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติธรรมจริยธรรมอย่างร้ายแรง" ขึ้นมา ซึ่งจะประกอบผู้แทนหรือผู้ทรงคุณวุฒิจากป.ป.ช. และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐองค์กรละ 1 คน โดยเมื่อคณะกรรมการชุดนี้พิจารณาไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว จะส่งให้รัฐสภา หรือวุฒิสภา ลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ต่อไปเช่นกัน
ส่วนการกำหนดว่า พฤติการณ์ใดบ้างที่จะเป็นความผิดที่ว่าด้วยการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง รายละเอียด จะอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
สำหรับสาเหตุที่ต้องให้มีคณะกรรมการพิจารณาการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมอย่างร้ายแรง เนื่องจากที่ผ่านมาการตรวจสอบเรื่องจริยธรรม ที่นำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิด โดยแต่ละองค์กรที่มีอำนาจมีความล่าช้าเป็นอย่างมาก ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในเรื่องการตรวจสอบจริยธรรม
นอกจากนี้ กมธ.ยกร่างฯ เห็นชอบกับการให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำหน้าที่พิพากษาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามเดิม พร้อมกับให้ส.ส.- ส.ว. หรือสมาชิกของสองสภารวมกัน เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ยื่นให้ประธานศาลฎีกา เพื่อขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา พิจารณาแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ จำนวน 3 คน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเป็นกลางทางการเมือง และมีความซื่อสัตย์สุจริต หากส.ส.และ ส.ว. เห็นว่าคณะกรรมการป.ป.ช.ไม่รับไต่สวน หรือไต่ส่วนเรื่องการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองล่าช้า เกินสมควร

**ชง 7อรหันต์สรรหากกต.-ตัดทิ้งกจต.

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กล่าวถึง การพิจารณาในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า โดยหลักการ ทางกมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้กกต. มีจำนวน 5 คน ตามโครงสร้างเดิม ส่วนคณะกรรมการสรรหากกต.นั้น ได้มีการปรับปรุงจากเดิมที่มีจำนวน 12 คน มาเป็น 7 คน ประกอบด้วย
1. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 คน 2. ประธานศาลปกครองสูงสุด หรือตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของตุลาการศาลปกครองสูงสุด จำนวน 1 คน
3. ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ซึ่งได้รับเลือกจากพรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 1 คน
4. ผู้นำฝ่ายค้านในสภาหรือ ส.ส. ซึ่งเลือกโดยพรรคไม่ได้ร่วมรัฐบาล 1 คน
5. อธิการบดี ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เลือกมาจำนวน 1 คน
6. ตัวแทนภาคเอกชน ให้ตัวแทนจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน จับสลากให้เหลือ จำนวน 1 คน
7. ตัวแทนจากประชาชนเลือกโดยประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัดทุกจังหวัดให้จับสลากเหลือจำนวน 1 คน
นายปกรณ์ ปรียากร โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวต่อว่า ตามร่างแรก ที่กมธ.ยกร่างฯได้กำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) นั้น ทางกมธ.ยกร่างฯ ได้ตัดออกไป แล้วคืนอำนาจให้ กกต.ทำหน้าที่ในการจัดให้มีการเลือกตั้ง และควบคุมการเลือกตั้งส.ส.-ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ให้เป็นไปโดยสุจริต และโปร่งใสตามเดิม รวมทั้งได้มีการบัญญัติข้อความใหม่ ให้ กกต.สามารถมอบอำนาจให้หน่วยงานของรัฐ หรือแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งเป็นคราวๆไปด้วย
ส่วน มาตรา 267 ที่ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินการเลือกตั้งทั้งหมดนั้น ทางกมธ.ยกร่างฯ ได้ตัดออกจากร่างรัฐธรรมนูญ และนำไปใส่ไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

** ทบทวนการแจกใบเหลือง-ใบแดง

ส่วนกรณีที่ กกต.ได้ทำหนังสือถึง กมธ.ยกร่างฯ ขอให้มีการพิจารณาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการแจก ใบเหลือง ใบแดง รวมทั้งมีข้อเสนอกรณีที่กกต.ให้ใบเหลืองแก่ผู้สมัครไปแล้ว แต่ยังพบว่ามีการทุจริตโดยกลุ่มเดิม ก็ขอให้กกต.แจกใบส้ม เพื่อให้ไม่มีสิทธิลงสมัครเลือกตั้งนั้น ทางกมธ.ยกร่างฯ ก็ได้มีการนำมาพิจารณากันโดยเฉพาะประเด็นการให้ ใบส้ม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ โดยขณะนี้ ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะกำหนดให้รูปแบบออกมาเป็นอย่างไร เนื่องจากที่ประชุมได้ให้เวลา กมธ.ยกร่างฯ ไปทบทวนและคิดพิจารณาด้วยความรอบคอบอีกครั้ง
ส่วนอำนาจการให้ ใบเหลือง กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้กกต.สามารถดำเนินการได้เฉพาะก่อนประกาศผลรับรองการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนอำนาจการพิจารณาเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง (ใบแดง) ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลเป็นผู้ดำเนินการ

** แยกกก.สิทธิฯ-ผู้ตรวจการฯ

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิชย์ โฆษกกมธ.ยกร่างฯ แถลงว่า ที่ประชุมได้พิจารณา ในส่วนขององค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญครบถ้วนแล้ว ประกอบด้วย 5 องค์กร ได้แก่ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) มีกรรมการ 5 คน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีกรรมการ 7 คน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีกรรมการ 9 คน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) มีกรรมการ 7 คน และผู้ตรวจการแผ่นดิน มีกรรมการ 3 คน
ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯ ยอมรับข้อเสนอ ตามความเห็นของ สปช. 7 กลุ่ม ให้แยกผู้ตรวจการแผ่นดิน กับคณะกรรมการสิทธิฯ ไว้เป็นสององค์กรตามเดิม จากเดิมที่รวมเป็นองค์กรเดียว เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนในการใช้สิทธิ์ แต่ข้อเสนอที่ส่งมาเห็นว่าแยกกัน จะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่า ทั้งยังเป็นไปตามจดหมาย ที่องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายประเทศ ยืนยันว่า ช่วยประกันเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนได้ดีกว่า แต่ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯได้บัญญัติใน บทเฉพาะกาล ว่า จะมีการประเมินผลทั้งสององค์กรในอีก 3 ปี เพื่อให้ทั้งสององค์กร เร่งพัฒนาประสิทธิภาพ และประชา สัมพันธ์ ให้ประชาชนไม่เกิดความสับสน ก่อนจะกลับมาพิจารณาอีกครั้ง ว่าควรจะแยกหรือไม่
สำหรับโครงสร้างที่มาของคณะกรรมการสรรหา องค์กรตรวจสอบทั้ง 5 องค์กร เห็นตรงกันว่า ควรจะมีกรรมการสรรหา 7 คนโดยคนที่ 1-6 เป็นโครงสร้างเดียวกัน ประกอบด้วย 1. ประธานหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน 2. ประธาน หรือตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลเลือกมา 1 คน 3. ประธานสภาผู้แทนฯ หรือส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 1 คน 4. ผู้นำฝ่ายค้าน หรือส.ส. ฝ่ายค้าน เลือกมา 1 คน 5. อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเลือกมา 1 คน 6. ตัวแทนภาคเอกชนจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนสามสถาบันจับสลากมา 1 คน
ส่วนที่มาของกรรมการสรรหา คนที่ 7 จะแตกต่างกัน ตามสภาพการทำหน้าที่ของแต่ละองค์กร ประกอบด้วย กรณีของกกต. มาจาก ประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนทุกจังหวัดจับสลากมา 1 คน กรณีของ คตง. มาจากผู้แทนองค์กรวิชาชีพ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบบัญชี ให้จับสลากมา 1 คน กรณีของ ป.ป.ช. มาจากประธานศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกมา 1 คน กรณีของ กสม. มาจากผู้แทนองค์กรภาคเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน โดยวิธีการได้มาจะขึ้นกับ พ.ร.บ. คณะกรรมการสิทธินุษยชน ซึ่งจะมีการร่างขึ้นใหม่อีกที และกรณีของผู้ตรวจการแผ่นดิน มาจากผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง หรือเทียบเท่า จับสลากมา 1 คน
"การที่ให้กรรมการสรรหามีส่วนที่มาจากการจับสลาก เพราะเห็นว่าเป็นคณะกรรมการที่ทำงานช่วงสั้น ๆ ราว 30 วันเท่านั้น จึงควรใช้ขั้นตอนที่รวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องยุ่งยากด้วยการตั้งกรรมการมาสรรหากรรมการสรรหาอีกที และการจับสลากก็มีผลดีคือเกิดความโปร่งใสยากแก่การล๊อบบี้ และยังได้ความหลากลายไม่ซ้ำหน้าในการสรรหาแต่ละครั้ง" พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว
สำหรับวาระในการดำรงตำแหน่งนั้น ให้ ป.ป.ช. มีวาระมากกว่าองค์กรตรวจสอบอื่นๆ คือ 9 ปี เนื่องจากเป็นองค์กรกึ่งตุลาการและมีคดีทุจริตจำนวนมาก ส่วนองค์กรที่เหลือ มีวาระ 6 ปี อย่างไรก็ตาม เฉพาะ ป.ป.ช. และผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่หากมีกรรมการพ้นไปก่อนครบวาระ คนที่มาใหม่จะมีวาระเต็มตามวาระ 9 ปี หรือ 6 ปีตามกรณี ส่วนอีก 3 องค์กรที่เหลือ กรรมการที่มาแทนที่ จะอยู่ในวาระเท่ากับวาระที่เหลือของกรรมการที่พ้นไปเท่านั้น หรือนัยหนึ่งคือ จะต้องพ้นไปทั้งคณะ พร้อมกันเมื่อครบวาระ
กำลังโหลดความคิดเห็น