โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ เผย ที่ประชุมยอมแยกผู้ตรวจการแผ่นดินกับกรรมการสิทธิมนุษยชน อ้างไม่ให้ชาวบ้านสับสนในการใช้สิทธิ แต่เขียนประเมินงานอีก 3 ปี ส่วนกรรมการสรรหา มี 7 อรหันต์ จากศาล รธน.-ศาลปกครองสูงสุด-ปธ.สภาฯ-ผู้นำฝ่ายค้าน-อธิการบดี และเอกชน ส่วนคนที่ 7 ให้เป็นไปตามสภาพงานของแต่ละองค์กร บอกวิธีจับสลากยากต่อการล็อบบี้ ให้ ป.ป.ช.อยู่นาน 9 ปี ที่เหลือแค่ 6 แต่ให้สิทธิผู้ตรวจฯ-ป.ป.ช.อยู่เต็มวาระรายบุคคล ส่วนองค์กรอื่นหากเข้ามาใหม่ก็ต้องสิ้นสุดสถานภาพยกเซต
วันนี้ (15 ก.ค.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิชย์ โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาในส่วนขององค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญครบถ้วนแล้ว ประกอบด้วย 5 องค์กรได้แก่ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) มีกรรมการ 5 คน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีกรรมการ 7 คน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีกรรมการ 9 คน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) มีกรรมการ 7 คน และผู้ตรวจการแผ่นดินมีกรรมการ 3 คน
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ยอมรับข้อเสนอตามความเห็นของ สปช.7 กลุ่มให้แยกผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไว้เป็นสององค์กรตามเดิม จากเดิมที่รวมเป็นองค์กรเดียวเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนในการใช้สิทธิ แต่ข้อเสนอที่ส่งมาเห็นว่าแยกกันจะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่า ทั้งยังเป็นไปตามจดหมายที่องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายประเทศยืนยันว่าช่วยประกันเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนได้ดีกว่า แต่ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯ ได้บัญญัติในบทเฉพาะกาลว่าจะมีการประเมินผลทั้งสององค์กรในอีก 3 ปี เพื่อให้ทั้งสององค์กรเร่งพัฒนาประสิทธิภาพ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไม่เกิดความสับสน ก่อนจะกลับมาพิจารณาอีกครั้งว่าควรจะแยกหรือไม่
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงสร้างที่มาของคณะกรรมการสรรหาองค์กรตรวจสอบทั้ง 5 องค์กร เห็นตรงกันว่าควรจะมีกรรมการสรรหา 7 คน โดยคนที่ 1-6 เป็นโครงสร้างเดียวกันประกอบด้วย 1. ประธานหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน 2. ประธานหรือตุลาการศาลปกครองสูงสุดซึ่งเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลเลือกมา 1 คน 3. ประธานสภาผู้แทนฯ หรือ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 1 คน 4. ผู้นำฝ่ายค้านหรือ ส.ส.ฝ่ายค้านเลือกมา 1 คน 5. อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเลือกมา 1 คน 6. ตัวแทนภาคเอกชนจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนสามสถาบันจับสลากมา 1 คน
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า สำหรับที่มาของกรรมการสรรหาคนที่ 7 จะแตกต่างกันตามสภาพการทำหน้าที่ของแต่ละองค์กร ประกอบด้วย กรณีของ กกต.มาจากประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนทุกจังหวัดจับสลากมา 1 คน กรณีของ คตง.มาจากผู้แทนองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบบัญชี ให้จับสลากมา 1 คน กรณีของ ป.ป.ช.มาจากประธานศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกมา 1 คน กรณีของ กสม.มาจากผู้แทนองค์กรภาคเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน โดยวิธีการได้มาจะขึ้นกับ พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธินุษยชนซึ่งจะมีการร่างขึ้นใหม่อีกที และกรณีของผู้ตรวจการแผ่นดินมาจากผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า จับสลากมา 1 คน
“การที่ให้กรรมการสรรหามีส่วนที่มาจากการจับสลาก เพราะเห็นว่าเป็นคณะกรรมการที่ทำงานช่วงสั้นๆ ราว 30 วันเท่านั้น จึงควรใช้ขั้นตอนที่รวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องยุ่งยากด้วยการตั้งกรรมการมาสรรหากรรมการสรรหาอีกที และการจับสลากก็มีผลดีคือเกิดความโปร่งใสยากแก่การล็อบบี้ และยังได้ความหลากลายไม่ซ้ำหน้าในการสรรหาแต่ละครั้ง” พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า สำหรับวาระในการดำรงตำแหน่งนั้น ให้ ป.ป.ช.มีวาระมากกว่าองค์กรตรวจสอบอื่นๆ คือ 9 ปี เนื่องจากเป็นองค์กรกึ่งตุลาการและมีคดีทุจริตจำนวนมาก ส่วนองค์กรที่เหลือมีวาระ 6 ปี อย่างไรก็ตาม เฉพาะ ป.ป.ช. และผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่หากมีกรรมการพ้นไปก่อนครบวาระ คนที่มาใหม่จะมีวาระเต็มตามวาระ 9 ปีหรือ 6 ปีตามกรณี ส่วนอีก 3 องค์กรที่เหลือ กรรมการที่มาแทนที่จะอยู่ในวาระเท่ากับวาระที่เหลือของกรรมการที่พ้นไปเท่านั้น หรือนัยหนึ่งคือจะต้องพ้นไปทั้งคณะพร้อมกันเมื่อครบวาระ