“เลิศรัตน์” แจง กมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้ถอยแต่ปรับให้ออกมาดีที่สุด “เจษฎ์” ยัน รธน.ใหม่มีเรื่องปฏิรูป พยายามรักษาเนื้อหา แย้มตั้งสภาขับเคลื่อนฯ 200 คน ตาม รธน.ชั่วคราว แจงให้คนนอกคุมอัยการ เพื่อสร้างระบบตรวจสอบ รับถูกสังคมเพ่งเล็ง จึงต้องแก้ “ไพบูลย์” เสริม แต่ก่อนให้ อสส.เป็นมีอำนาจมากเกินไป กมธ.หารือบทเฉพาะกาล เบื้องต้นส่อตัดกลุ่มการเมือง ไม่ยุบรวมผู้ตรวจฯ-กสม.
วันนี้ (24 มิ.ย.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเปิดเผยว่า ขณะนี้ กมธ.ยกร่างฯ ได้มีหลักการเบื้องต้นในประเด็นสำคัญเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการพิจารณาเป็นรายมาตราเรียบร้อยแล้ว โดยหลักการที่ได้ข้อสรุปมานั้นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีซึ่งจะช่วยให้กระบวนการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ ในช่วงการพิจารณาเป็นรายมาตราเดินหน้าไปได้ด้วยดี เนื่องจากหลายประเด็นก็มีได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้มีความเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับตามที่ภาคส่วนต่างๆ เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเข้ามา ส่วนที่มีข่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ยอมถอยปรับแก้ไขเป็น 100 มาตรานั้น ต้องชี้แจงว่าเราไม่ได้ถอยแต่เป็นการปรับปรุงเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญออกมาให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง
นายเจษฎ์ โทณวณิก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะ กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ได้มีข้อสรุปว่าจะปรับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองอย่างไร แต่ยืนยันว่าในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีเนื้อหาส่วนนี้อย่างแน่นอน เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปขณะที่คณะ กมธ.ยกร่างฯ พยายามจะรักษาเนื้อหาในหมวดว่าด้วยการปฏิรูป เนื่องจากเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมา ประชาชน ตลอดจนทหาร ต่างเห็นว่า ประเทศจำเป็นต้องมีการปฏิรูป ยิ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดให้ยุบสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แล้วตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปขึ้นมาแทน หากในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ไม่มีหมวดปฏิรูปอยู่เลย ก็ต้องถามว่าแล้วเราจะเอาอะไรปฏิรูป กมธ.ยกร่างฯ จึงเห็นว่าจำเป็นต้องมีหมวดนี้ แต่เนื้อหาจะเป็นอย่างไรต้องรอในการพิจารณาเป็นรายมาตรา ส่วนสภาขับเคลื่อนฯนั้น ทางคณะ กมธ.ยกร่างฯคงต้องเขียนรับรองไปตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ ทั้งอำนาจหน้าที่และจำนวนที่มี 200 คน
นายเจษฎ์กล่าวต่อว่า การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกกำหนดให้ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) มาจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก รวมไปถึงการให้ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาเป็นกรรมการ ก.อ.ในสัดส่วน 1 ใน 3 เนื่องจากต้องการเปิดให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานขององค์กรอัยการ
นายเจษฎ์กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาประชาชนไม่ได้รับรู้ถึงการทำงานของกระบวนการยุติธรรมเท่าไหรนัก ทำให้จำเป็นต้องสร้างกระบวนการในการมีส่วนร่วมและการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ดังจะเห็นได้จากการมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเข้ามาเป็นคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ซึ่งการให้บุคคลภายนอกเข้ามาเป็นกรรมการ ก.อ.ก็อยู่บนพื้นฐานของเหตุผลนี้
“ในเชิงการทำงานแน่นอนว่าการตัดสินใจในเรื่องหนึ่งเรื่องใดของคณะกรรมการ ก.อ. ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกไม่สามารถกุมทิศทางใดๆได้เท่าไหร่นัก แต่ที่ต้องมีคนนอกให้มาเป็นกรรมการ ก.อ.ก็เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลเท่านั้น” นายเจษฎ์กล่าว
เมื่อถามว่า ทำไมในเมื่อประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ก.ต.แต่ประธาน ก.อ.กลับไม่ได้จากบุคคลที่เป็นอัยการสูงสุด หรืออดีตอัยการที่มีความรู้ความสามารถ นายเจษฎ์กล่าวว่า ต้องยอมรับที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของอัยการสูงสุดถูกสังคมเพ่งเล็งมาตลอด จึงเห็นว่าควรต้องมีการปรับแก้ไข โดยให้ผู้ใหญ่และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความอาวุโสและมาจากประชาชนเข้าไปทำหน้าที่ อย่างไรก็ตาม คณะ กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะปรับแก้ให้สอดคล้องกับข้อเสนอของอัยการหรือไม่ เพราะต้องรอการพิจารณาเป็นรายมาตราก่อน
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การพิจารณาทบทวนโครงสร้างของคณะกรรมการ ก.อ.คงต้องรอให้มีข้อเสนอจากอัยการเข้ามาอย่างเป็นทางการก่อน ทางคณะ กมธ.ยกร่างฯ ถึงจะมาพิจารณาดูว่าควรปรับปรุงในส่วนไหนหรือไม่อย่างไร
นายไพบูลย์กล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่คณะ กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้ประธาน ก.อ.ห้ามมาจากข้าราชการอัยการทั้งในอดีตและปัจจุบัน เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับข้อคิดจากหลายฝ่ายว่าการให้อัยการสูงสุดโดยตำแหน่งเข้ามาเป็นประธาน ก.อ.จะมีผลให้อัยการสูงสุดมีอำนาจมากเกินไป โดยอัยการสูงสุดมีหน้าที่ในการวินิจฉัยคดีที่ต้องฟ้องต่อศาลด้วย ดังนั้น หากอัยการสูงสุดเป็นประธาน ก.อ.เท่ากับว่าอัยการสูงสุดจะคุมอำนาจทั้งการวินิจฉัยคดีและการบริหารงานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการทำงานของอัยการ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
นายไพบูลย์กล่าวว่า ส่วนการให้คนนอกมาดำรงตำแหน่งกรรมการ ก.อ.ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ก.อ.ทั้งหมด เพราะคณะ กมธ.ยกร่างฯ ต้องการให้คนนอกเข้ามามีส่วนร่วมและตรวจสอบการทำงานของอัยการ
กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังพิจารณาภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาลที่เริ่มตั้งแต่มาตรา 304-315 ตามคำขอแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 9 ญัตติ มาประกอบการพิจารณา อาทิ การเสนอให้กำหนดระยะเวลาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในช่วงระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ เพื่อให้เกิดการดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ และสอดคล้องกับการกำหนดระยะเวลาในหมวดปฏิรูป นอกจากนี้ ที่ประชุมอาจปรับแก้โดยตัดบางมาตราออก โดยเฉพาะการตัดกลุ่มการเมืองออก ที่ในร่างเดิมเขียนไว้ว่า กลุ่มการเมืองสามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งทั่วไปได้ รวมถึงการยุบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นั้น กรรมาธิการฯ เห็นว่าหลายคนไม่เห็นด้วยจึงไม่ควบรวม แต่จะแบ่งแยกหน้าที่การทำงานให้ชัดเจน