ที่ประชุมกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยอมถอยกลับไปใช้โครงสร้างคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมแบบเดิม หลังคณะผู้พิพากษานับพันคัดค้าน พร้อมเตรียมหารือขยายเวลาทำงาน หลัง สนช. อนุมัติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว
วันนี้ (18 มิ.ย.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า การประชุมคณะ กมธ.ยกร่างฯ วันนี้ได้หารือถึงข้อเสนอของคณะผู้พิพากษาจำนวน 1,130 คน ที่ขอให้ทบทวนสัดส่วนของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก โดยที่ประชุมส่วนใหญ่มีความเห็นร่วมกันว่าควรกลับไปโครงสร้างแบบเดิม คือ ให้มีสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกที่ไม่เป็น หรือ เคยเป็นผู้พิพากษา หรือ ตุลาการ และไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจำนวน 2 คน
อย่างไรก็ตาม คณะ กมธ. ยกร่างฯ ยังไม่ได้ลงมือแก้ไขในตัวบทบัญญัติอย่างเป็นทางการ เพราะเป็นเพียงแค่การหารือและรวบประเด็นเท่านั้น โดยการแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะรวมไปถึงการพิจารณาแก้ไขเนื้อหาในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย
กมธ.ยกร่างฯ รายนี้ กล่าวอีกว่า แม้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะได้ลงมติให้ความเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว แต่คณะ กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ตัดสินใจว่าจะขอขยายเวลาการทำงานเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมออกไปอีก 30 วันหรือไม่ เนื่องจากต้องการให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีผลบังคับใช้ก่อน จากนั้นถึงจะมีการนัดประชุมและมีมติออกเป็นทางการว่าจะให้ขยายเวลาการทำงานหรือไม่ต่อไป แต่สำหรับส่วนตัวแล้วคิดว่าคณะ กมธ. ยกร่างฯ น่าจะเห็นด้วยกับการขยายเวลาการทำงานเพิ่มเติม เพราะจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เพื่อให้มีเวลาในการทำงานได้อย่างรอบคอบ