xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ให้ ป.ป.ช.ตั้ง กก.สอบผิดจริยธรรม เหลือ 7 อรหันต์คัด กกต. ใบส้มยังไร้ข้อยุติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เผยปรับเนื้อหาให้รัฐสภา ปมถอดถอน ผู้ทำผิดร้ายแรง เรื่องถึง ป.ป.ช.ต้องตั้ง กก.พิจารณา ก่อนชงสภาตัดสินถอดถอน แจงแก้ปัญหาความล่าช้า และคงศาลฎีกาแผนกคดีนักการเมือง ปรับลดกรรมการสรรหา กกต.เป็น 7 คน ตัด กจต.ทิ้งคืนอำนาจ กกต.ตามเดิม มอบอำนาจตั้งทีมช่วยดำเนินการเลือกตั้ง ข้อเสนอไอเดียใบส้ม ห้ามลงเลือกตั้งยังไม่มีข้อยุติ ใบเหลืองให้ได้ก่อนประกาศผล ใบแดงคงเป็นอำนาจศาล

วันนี้ (15 ก.ค.) ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา นายปกรณ์ ปรียากร พร้อมด้วย น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายปกรณ์กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้พิจารณาในเรื่องการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์และการถอดถอนออกจากตำแหน่งเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งได้ปรับแก้เนื้อหาโดยให้รัฐสภา ถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ ส่วนตำแหน่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ข้าราชการอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ให้วุฒิสภาเป็นผู้ถอดถอน ใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของ ส.ว.เท่าที่มีอยู่ในวุฒิสภา และต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

นายปกรณ์กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ที่มีสิทธิยื่นถอดถอน คือ 1. ส.ส.หรือ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ยื่นเรื่องให้ประธานของแต่ละสภา 2. ประชาชนผู้มีสิทธิ์ เลือกตั้งไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคนยื่นเรื่องให้กับประธานรัฐสภา หรือประธานวุฒิสภา โดยผู้ที่ยื่นคำร้องทั้งสองกรณีนี้จะต้องมีการระบุพฤติการณ์ความผิดของบุคคลทั้ง 6 มูลฐานให้ชัดเจน คือ 1. ส่อว่าร่ำรวยผิดปกติ 2. ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ 3. ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ 4. ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม 5. ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย 6. ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ดังนั้น เมื่อประธานรัฐสภา หรือประธานวุฒิสภาได้รับเรื่องแล้วจะต้องดำเนินการส่งไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาโดยเร็ว และเมื่อ ป.ป.ช.พิจารณาเสร็จสิ้นแล้วจะต้องส่งกลับมาที่รัฐสภาหรือวุฒิสภาเพื่อดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม เฉพาะการถอดถอนบุคคลตามฐานความผิดในการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงนั้น เมื่อรัฐสภาหรือวุฒิสภาได้รับคำร้องแล้ว จะต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ไต่สวน แต่ ป.ป.ช.ต้องตั้งคณะกรรมการที่มีชื่อว่า “คณะกรรมการพิจารณาการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติธรรมจริยธรรมอย่างร้ายแรง” ขึ้นมา ประกอบด้วย ผู้แทนหรือผู้ทรงคุณวุฒิจาก ป.ป.ช. และผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐองค์กรละ 1 คน โดยเมื่อคณะกรรมการชุดนี้พิจารณาไต่สวนเสร็จสิ้นแล้วจะส่งให้รัฐสภาหรือวุฒิสภาลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ต่อไปเช่นกัน

นายปกรณ์กล่าวว่า ส่วนการกำหนดว่าพฤติการณ์ใดบ้างที่จะเป็นความผิดที่ว่าด้วยการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง รายละเอียดจะอยู่ไปในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สำหรับสาเหตุที่ต้องให้มีคณะกรรมการพิจารณาการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติธรรมจริยธรรมอย่างร้ายแรง เนื่องจากที่ผ่านมาการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมที่นำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดโดยแต่ละองค์กรที่มีอำนาจมีความล่าช้าเป็นอย่างมาก ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในเรื่องการตรวจสอบจริยธรรม นอกจากนี้กมธ.ยกร่างฯเห็นชอบกับการให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทำหน้าที่พิพากษาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามเดิม พร้อมกับให้ ส.ส. ส.ว. หรือสมาชิกของสองสภารวมกันเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ยื่นให้ประธานศาลฎีกาเพื่อขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระจำนวน 3 คน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริต หาก ส.ส.และ ส.ว.เห็นว่าคณะกรรมการป.ป.ช.ไม่รับไต่สวนหรือไต่ส่วนเรื่องการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองล่าช้าเกินสมควร

น.ส.สุภัทรากล่าวถึงการพิจารณาในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า โดยหลักการทาง กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้ กกต.มีจำนวน 5 คนตามโครงสร้างเดิม ส่วนคณะกรรมการสรรหา กกต.นั้น ได้ปรับหลักการจากร่างแรกที่กำหนดให้คณะกรรมการสรรหา กกต.มีจำนวน 12 คน มาเป็น 7 คน ประกอบด้วย 1. ประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 คน 2. ประธานศาลปกครองสูงสุดหรือตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของตุลาการศาลปกครองสูงสุด จำนวน 1 คน 3. ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ซึ่งได้รับเลือกจากพรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 1 คน 4. ผู้นำฝ่ายค้านในสภาหรือส.ส.ซึ่งเลือกโดยพรรคไม่ได้ร่วมรัฐบาล 1 คน 5. อธิการบดีซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เลือกมาจำนวน 1 คน 6. ตัวแทนภาคเอกชน ให้ตัวแทนจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน จับสลากให้เหลือ จำนวน 1 คน 7. ตัวแทนจากประชาชนเลือกโดยประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัดทุกจังหวัดให้จับสลากเหลือจำนวน 1 คน

นายปกรณ์กล่าวต่อว่า ตามร่างแรกที่ กมธ.ยกร่างฯได้กำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง หรือ กจต.นั้น ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้ตัดออกไปแล้วคืนอำนาจให้ กกต.ทำหน้าที่ในการจัดให้มีการเลือกตั้งและควบคุมการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ให้เป็นไปโดยสุจริตและโปร่งใส ตามเดิม รวมทั้งได้มีการบัญญัติข้อความใหม่ให้ กกต.สามารถมอบอำนาจให้หน่วยงานของรัฐหรือแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งเป็นคราวๆ ไปด้วย ส่วนมาตรา 267 ที่ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินการเลือกตั้งทั้งหมดนั้น ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้ตัดออกจากร่างรัฐธรรมนูญและนำไปใส่ไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแทน

นายปกรณ์กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ กกต.ได้ทำหนังสือถึง กมธ.ยกร่างฯ ขอให้มีการพิจารณาอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการแจกใบเหลือง ใบแดง รวมทั้งมีข้อเสนอกรณีที่ กกต.ให้ใบเหลืองแก่ผู้สมัครไปแล้ว แต่ยังพบว่ามีการทุจริตโดยกลุ่มเดิมก็ขอให้ กกต.แจกใบส้ม เพื่อให้ไม่มีสิทธิลงสมัครเลือกตั้งนั้น ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้รับหนังสือจาก กกต.เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา เราได้มีการนำมาพิจารณากันโดยเฉพาะประเด็นการให้ใบส้ม ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ โดยขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะกำหนดให้รูปแบบออกมาเป็นอย่างไร เนื่องจากที่ประชุมได้ให้เวลา กมธ.ยกร่างฯ ไปทบทวนและคิดพิจารณาด้วยความรอบคอบอีกครั้ง ส่วนอำนาจการให้ใบเหลือง กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้ กกต.สามารถดำเนินการได้เฉพาะก่อนประกาศผลรับรองการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนอำนาจการพิจารณาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลเป็นผู้ดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมคณะ กมธ.ยกร่างฯ นอกสถานที่ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา จ.ชลบุรี วันที่ 3 ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 09.10 น.โดยที่ประชุมได้นำเนื้อหาในภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและการสร้าความปรองดองขึ้นมาพิจารณาก่อนแทนการพิจารณาเนื้อหาที่เกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก กมธ.ยกร่างฯที่รับผิดชอบในหมวดปฏิรูปทั้ง 3คน ประกอบด้วย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล จะต้องไปร่วมประชุมกับตัวแทนของคณะ กมธ.ปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้ง18 คณะ ที่รัฐสภา


กำลังโหลดความคิดเห็น