xs
xsm
sm
md
lg

กกต.โต้ครหาระดับจังหวัดรีดเงิน ขออำนาจชักใบแดง-เหลือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (23 ก.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า มาตรการแกัไขปัญหาการทุจริตเลือกตั้ง ที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดขึ้น ยังไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาซื้อสิทธิขายเสียง เป็นการคิดในเชิงอุดมคติ ที่ไม่สามารถเกิดผลในทางปฏบัติ ท้ายที่สุดก็จะเสียของ ซึ่ง กกต.เห็นว่า กมธ.ยกร่างฯ ควรให้อำนาจในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ก่อนวันเลือกตั้ง และก่อนประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแก่กกต. เพื่อเป็นมาตรการในการไล่คนที่มีหลักฐานว่าทุจริต ออกจากการเลือกตั้ง ถือเป็นการตัดสิทธิชั่วคราวเพียง 1 ปี ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นอำนาจของศาล เพราะถ้าส่งไปศาล เชื่อว่าไม่สามารถพิจารณาคดีได้ทันตามเวลาที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนี้ ที่กมธ.ยกร่างฯ ขานรับข้อเสนอว่า หากมีกระทำการเข้าข่ายให้การเลือกตั้งไม่สุจริต แม้จะยังเชื่อมโยงไม่ถึงตัวผู้สมัคร แต่มีหลักฐานว่า เป็นการกระทำที่มาจากคนกลุ่มเดิม จนทำให้ต้องมีการสั่งเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) ถึง 2 ครั้ง ก็จะถือเป็น ใบส้ม คือการตัดสิทธิการเลือกตั้งผู้สมัครรายนั้น เป็นเวลา 1 ปี โดยให้ไปใส่ในกฎหมายลูก หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง เห็นว่า หากนำมาใช้จะเกิดปัญหาในเรื่องของการตีความว่า ไม่บันทึกเป็นเจตนารมณ์ไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงควรจะใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน ทั้งนี้เชื่อว่าหาก กมธ.ยกร่างฯให้อำนาจใบเหลือง ใบแดง แก่ กกต. ก่อนประกาศรับรองผล กกต.จะปรับกระบวนการภายใน จนสามารถพิจารณาได้ทันภายใน 30 วัน แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องพิจารณาตัวเอง
ส่วนหลังประกาศรับรองผลอำนาจให้ใบเหลือง ใบแดง ที่กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้เป็นอำนาจของศาล โดยเฉพาะใบแดง ที่เป็นการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต กกต.เห็นด้วย
"ที่กมธ.ยกร่างฯ ได้ข้อมูลว่า ถ้าให้กกต.มีอำนาจใบเหลือง ใบแดง ก่อนประกาศรับรองผล จะมีการวิ่งเต้นในระดับจังหวัด จนทำให้ไม่ไว้วางใจที่จะให้อำนาจ กกต. ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะสำนวนการให้ใบเหลือง ใบแดง ในช่วงเวลาดังกล่าว จะยิงตรงถึง กกต.กลาง ไม่ผ่าน กกต.จังหวัด ที่เกรงว่าจะเรียกรับผลประโยชน์ เป็นสิ่งที่จะไม่เกิดขึ้น จึงถือเป็นข้อกังวลของ กมธ.ยกร่างฯ บนพื้นฐานของความไม่รู้ ทำให้กังวลเกินเหตุ"
นายสมชัย ยังเรียกร้องให้ กมธ.ยกร่างฯ บัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญว่า หลังประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เมื่อศาลอุทธรณ์รับคำร้องใบเหลือง ใบแดง ไว้พิจารณาให้ผู้ที่ถูกร้องซึ่งเป็น ส.ส.-ส.ว. และเพิ่มเติมถึงรัฐมนตรี ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งหลักการนี้เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 แต่รัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้บัญญัติไว้ ถ้าไม่มีบทบัญญัตินี้ ส.ส.-ส.ว. และรัฐมนตรี เมื่อถูกร้องต่อศาล ก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป
"การให้สู้ถึง 2 ศาล คนเป็น ส.ส.-ส.ว. ก็ลอยนวลอยู่ในสภา รัฐมนตรีที่ทำผิดก็อยู่ได้จนครบวาระถอนทุนกันเรียบร้อย ท่านพายเรือให้ใครนั่ง ผมว่าไม่ได้พายเรือให้ประชาชน เพราะฉะนั้น การออกแบบแก้ไขปัญหาทุจริต จะต้องมองใบเหลือง ใบแดง ให้ครบทุกใบ ผมพูดมาทั้งหมด 7 ใบ แต่ท่านเขียนในรัฐธรรมนูญให้เราแค่ 3 ใบ คือ ใบเหลือง ก่อนประกาศรับรองผล และเหลืองกับแดง หลังประกาศรับรองผลที่ต้องไปศาล หายไปครึ่ง 7 ข้อ ตอบได้ 3 ข้อ ถือว่าสอบตก ไปลงทะเบียนใหม่ ที่พูดไม่ได้บอกให้เชื่อ แต่อยากให้ กมธ.ยกร่างฯไปคิดว่าจะทำอย่างไรกับกลไกเหล่านี้ ถ้ามีการทุจริตก่อนการรับรองผล ถ้าส่งไปศาล แล้วศาลจะทำทันหรือไม่ ถ้าไม่ทัน เขียนไปก็ไร้ประโยชน์ กมธ.ยกร่างฯ จึงต้องสร้างกลไกที่ทำได้จริง" นายสมชัย กล่าว
เมื่อถามว่า หากกมธ.ยกร่างฯ ไม่มีการแก้ไขตามข้อเสนอ กกต. จะทำอย่างไร นายสมชัย กล่าวว่า แม้ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจ กกต. ทาง กกต.ก็ต้องจัดการเลือกตั้งให้สุจริตมากเท่าที่ทำได้ แต่ถ้ามีไม้กระบองก็ดีกว่าสู้ด้วยมือเปล่า เหมือนเวลาจะออกรบ คนเป็นเสนาธิการต้องรู้ว่า ส่งทหารไปสู้กับอะไร ก็ต้องให้ยุทโธปกรณ์พอสมควร จะให้เราเป็นยักษ์ก็ต้องมีกระบอง เป็นนักรบก็ต้องมีดาบ ไม่ใช่ไปมือเปล่า ถ้าไปรบแล้วแพ้ คนที่คิดวางแผนก็สมควรโดนโทษประหาร
นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณี ที่มีอดีต กกต.ให้ความเห็นว่า อำนาจการให้ใบแดง ควรเป็นของศาล เพราะที่ผ่านมากกต.ไม่มีความสามารถ นั้น ขออนุญาตตอบกลับสั้นๆว่า ท่านอยู่ที่นี่มา 7 ปี สามารถช่วยให้ระบบต่างๆ ดีขึ้นได้ แต่ 7 ปีที่ผ่านมา ท่านได้ทำอะไรอยู่ ขอให้ทบทวนด้วย อีกทั้งในส่วนของ กกต.ได้มีการตกลงกันว่า วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ กกต.จะไม่มีการออกมาให้ความเห็น เชิงวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอีก เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า กระบวนการจัดทำประชามติ ที่ กกต.เป็นผู้ดำเนินการนั้น จะต้องกระทำด้วยความเป็นกลาง แต่ในขณะนี้ ยังถือว่ายังอยู่ในช่วงเวลาปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ กกต. ในฐานะผู้ปฏิบัติ ขอใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญเกิดประโยชน์
กำลังโหลดความคิดเห็น