xs
xsm
sm
md
lg

โรดแมปของประชามติ สาระสรุปของรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ (2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

เรื่องสำคัญที่สุดที่ส่งผลให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในครั้งนี้ ก็คือการแก้ไขให้ประชาชนลงประชามติยอมรับหรือไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป คล้ายกันกับกระบวนการเมื่อครั้งให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญปี 2550

ดังได้เคยเขียนไว้แล้วว่า การเปิดโอกาสให้ประชาชนลงประชามตินั้นมีข้อดีหลายประการ โดยเฉพาะในแง่ของการให้ประชาชน “ลงสัตยาบัน” ยอมรับการปฏิรูปครั้งนี้ แม้จะเริ่มต้นด้วยการกระทำที่ไม่ถูกต้องคือรัฐประหาร แต่ถ้าประชาชนเห็นชอบภายหลังผ่านกระบวนการประชามติยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับว่ากระบวนการปฏิรูปเช่นนี้ประชาชนยอมรับได้

และการลงประชามตินี้เอง จะเป็นเกราะคุ้มครองตัวรัฐธรรมนูญ เนื่องจากจะถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ชอบธรรม ผ่านความเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศแล้ว ข้อโจมตีเรื่องเป็นรัฐธรรมนูญจากรัฐประหารบ้าง หรือการขอแก้ไขที่ทำลายสาระสำคัญของเจตนารมณ์หลัก โดยกระบวนการรัฐสภาหลังจากนั้น ก็จะกระทำได้ยากขึ้น

โดยรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่นี้ บัญญัติไว้ในมาตรา 37 วรรคสาม กำหนดเพิ่มเติมให้มีการลงประชามติ ภายหลังจากที่สภาปฏิรูปแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้จัดให้มีประชามติ โดยถือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552

ที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ ก็เนื่องด้วยว่า การลงประชามตินี้จะมีได้ก็ต่อเมื่อ สปช. “เห็นชอบ” รัฐธรรมนูญที่ กมธ.ยกร่างได้แก้ไขมาเท่านั้น หาก สปช.ไม่เห็นชอบ ก็เป็นอันว่ารัฐธรรมนูญตกไป กระบวนการทำประชามติก็จะไม่เกิดขึ้น กระบวนการก็จะดำเนินไปตามกลไกที่ได้แก้ไขใหม่ รายละเอียดดังอธิบายไว้บทความตอนที่ 1 ซึ่งก็คือ คสช.ก็จะตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 20 คนขึ้นมาแทนเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ในกรณีที่ถ้า สปช. “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญนี้ กระบวนการทำประชามติก็จะดำเนินไป แต่ก็แตกต่างจากตอนรัฐธรรมนูญ 2550 นั่นคือ ในครั้งที่ทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น ประชาชนลงมติเพียงว่าจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น

แต่ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ วรรคสี่ของมาตรา 37 เปิดโอกาสให้สภาสปช. และสภา สนช.สามารถเสนอให้ลงประชามติใน “ประเด็นอื่นใดเพิ่มเติม” ไปด้วยก็ได้ สภาละหนึ่งประเด็น โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดย สปช.จะต้องเสนอประเด็นไปพร้อมกับการลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ส่วน สนช.จะต้องเสนอประเด็นภายใน 3 วันนับแต่ สปช.ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

นั่นก็คือ เท่ากับว่า นอกจากคำถามเพื่อลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นฉบับปฏิรูปแล้ว ยังอาจจะมี “คำถามเพิ่ม” ขึ้นมาได้อีกหนึ่งถึงสองคำถาม จาก สปช. และ สนช.

ซึ่งคำถามนั้นจะเป็น “เรื่องอะไรก็ได้” เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าจะถามประเด็นใด หรือจะต้องเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยตัวบทใช้คำว่า “...สภาปฏิรูปแห่งชาติหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีมติเสนอประเด็นอื่นใดที่สมควรให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติมพร้อมไปในคราวเดียวกันด้วย...”

หากประเด็นที่ต้องทำประชามตินั้นส่งผลให้ต้องมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นไปตามประชามติ ก็ให้ส่งกลับไปให้คณะ กมธ.เป็นผู้แก้ไข แล้วให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญนั้นสอดคล้องต่อผลประชามติของประชาชนหรือไม่ด้วย

การเปิดช่องไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ก็อาจจะเป็นไปเพื่อให้นำประเด็นที่หาข้อสรุปไม่ได้ระหว่าง กมธ.กับทาง สปช.ในเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นประเด็นร้อน เช่น ในประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีว่าควรจะต้องเป็น ส.ส.หรือไม่ หรือสมาชิกวุฒิสภานั้นควรจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนอาจจะควรมีสิทธิในการตัดสินใจให้ประชาชนไปตกลงเอาเองว่าจะเสียงข้างมากเห็นอย่างไรในประเด็นต่างๆ นี้

แต่ก็น่าสังเกตว่า ความที่ประเด็นอื่นที่จะตั้งเพื่อนำไปลงประชามตินั้นจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ ไม่จำกัดว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ ดังนั้น คำถามก็อาจจะเป็นไปได้แม้แต่ว่า ควรมีการขยายโรดแมปแห่งการปฏิรูปออกไปอีกดีหรือไม่

หรือควรจะมี “รัฐบาลแห่งชาติ” มาบริหารประเทศไปพลางๆ ในช่วงบทเฉพาะกาล จนกว่าประเทศจะพร้อมให้มีการเลือกตั้งหรือไม่

รวมถึงประเด็นอื่นๆ เช่นว่า ควรมีการนิรโทษกรรม การดำเนินกระบวนการเพื่อความปรองดอง หรือมาตรการยุติความขัดแย้งใดๆ หรือไม่ ฯลฯ

ซึ่งคำถามเพื่อการทำประชามติเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ตั้งได้อย่างไม่มีข้อจำกัด และสามารถ “บังคับได้” หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้รับความเห็นชอบให้ใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรได้

เช่น หากทำประชามติว่า ควรมีการขยายโรดแมปแห่งการปฏิรูป แล้วประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบ กมธ.ก็ต้องไปแก้ไขในบทเฉพาะกาลว่า ในระยะเวลาหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ไปจนถึงเมื่อไร เดือนปีไหน ให้งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เช่น มาตราว่าด้วยการเลือกตั้ง ว่าด้วย ครม. ให้ ครม.ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนในช่วงเวลานั้น

หรือถ้าประชามติออกมาว่า ประชาชนเห็นควรให้มี “รัฐบาลแห่งชาติ” มาบริหารประเทศ โดยยังไม่ต้องมีการเลือกตั้ง เพื่อลดความขัดแย้ง เช่นนี้ก็ทำได้ผ่านการแก้ไขบทเฉพาะกาลเช่นกัน

หรือแม้แต่ถ้าเสียงส่วนใหญ่ประชามติว่า ทุกอย่างควรเลิกแล้วต่อกัน นิรโทษกรรมทุกฝ่าย ลบล้างผลคำพิพากษาใดๆ ที่เอาผิดลงโทษคู่ขัดแย้งทางการเมือง ทั้งหมดก็สามารถกำหนดให้เขียนลงในรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งสิ้น เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นฐานแห่งความชอบด้วยกฎหมายที่เหนือกว่ากฎเกณฑ์แห่งกฎหมายและผลของคำพิพากษา คำวินิจฉัยทั้งปวงก็ย่อมได้

ดังนั้น จากที่คำนวณกันแล้ว สปช.น่าจะต้องพิจารณา และลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กมธ.ภายในต้นเดือนกันยายนประมาณวันที่ 4 นี้เป็นด่านแรกที่เราต้องจับตาและติดตามกันลุ้นว่ารัฐธรรมนูญจะ “ผ่าน” ไปจนถึงขั้นให้ลงประชามติหรือไม่ หรือจะตกไปเริ่มกระบวนการร่างฉบับใหม่ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่

และถ้ารัฐธรรมนูญ “ผ่าน” สปช.แล้ว จะมี “คำถามประชามติ” อะไรมาถามประชาชนเพิ่มเติมนอกจากจะว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่

เพื่อการประเมินว่า โฉมหน้าสถานการณ์ทางการเมืองในปีหน้า และปีต่อๆ ไปนั้น จะเป็นเช่นไร และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานร่วมทศวรรษของประเทศไทยจะสิ้นสุดลงได้หรือไม่ หรือจะพัฒนาไปอย่างไรต่อไป

รอลุ้นด่านแรก ต้นเดือนกันยายนนี้!
กำลังโหลดความคิดเห็น