xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ค้านตัดเอกสิทธิ์คุ้มหัวส.ส.-ส.ว. "บวรศักดิ์"เลิกถ้าคว่ำรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาแก้ไขการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในเรื่องเอกสิทธิ์คุ้มครอง ส.ส. และ ส.ว.ในระหว่างสมัยประชุม ซึ่งเดิมห้ามไม่ให้จับ คุมขัง หรือออกหมายเรียกไปดำเนินการสอบสวน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสภาเป็นรายกรณี หรือถูกจับขณะกระทำความผิด
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้เพิ่มเติมเนื้อหาความผิดในส่วนนี้ โดยจะไม่ครอบคลุมไปถึงกรณีที่ ส.ส.กระทำความผิดทุจริตต่อหน้าที่ และมีโทษจำคุก 10 ปีขึ้นไป
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีที่ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้ปรับรุงเกี่ยวกับเอกสิทธิ์ ส.ส. และ ส.ว. ดังกล่าวว่า ตนคิดว่าหลักการนี้ ยังมีช่องว่างอยู่ ถ้าหากได้รัฐบาลที่สุจริต เข้ามาทำหน้าที่ หลักการใหม่นี้คงจะใช้ได้ แต่ถ้าหากรัฐบาลไม่สุจริตเข้ามา ก็สามารถแจ้งข้อหา ที่มีบทลงโทษเกิน 10 ปี กับ ส.ส. คนใดก็ได้ อาทิ ข้อหากบฏ หรือฆ่าคนตายเป็นต้น ซึ่งตนมองว่า ข้อหาเหล่านี้แจ้งกันได้ง่ายมาก เมื่อส.ส.หรือ ส.ว. ผู้ถูกกล่าวหาถูกล็อกตัวไปแล้ว ก็จะส่งผลต่อการโหวตในสภา ซึ่งในบางครั้งก็ตัดสินแพ้ชนะกันที่คะแนนเสียงเดียว ผู้ถูกกล่าวหา ก็ อาจจะถูกคุมขังจนเลยเวลาลงคะแนนเสียงไปแล้ว
ดังนั้น ตนเชื่อว่าควรจะคงเอกสิทธิ์การคุ้มครองส.ส.และ ส.ว. เอาไว้ตามหลักการเดิม คือ คุ้มครองในช่วงที่มีการประชุมสภา ซึ่งจะมีการลงคะแนนเสียง และควรจะไปดำเนินคดีต่อ หลังจากพ้นประชุมสภาแล้ว

**เชื่ออดีต 248 ส.ส. ผิดกรณีเดียวกับ 38 สว.

เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อกรณีที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณาถอดถอนอดีต 248 ส.ส. กรณีแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมิชอบนั้น นายวิรัตน์ กล่าวว่า ฐานความผิดของอดีต 248 ส.ส. อยู่ในฐานความผิดเดียวกับ อดีต 38 ส.ว. ที่รอดจากการถอดถอน โดยอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว ซึ่งถ้าหากสนช. พิจารณาตามหลักนิติรัฐ และหลักนิติธรรม ก็น่าจะยอมรับได้ เว้นแต่กรณีผู้ที่มีความผิดกรณีสอดบัตรแทนกัน หรือผู้ที่ปลอมญัตติ ตรงนี้ก็ต้องไปรับผิดทางอาญา ซึ่งก็ต้องว่ากันตามกระบวนการต่อไป
พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึง กรณีที่กมธ.ยกร่างฯ เห็นชอบในประเด็นตัดสิทธิ์ทางการเมืองคนที่เคยถูกถอดถอนตลอดไป ว่า ถือว่าเป็นการตัดสิทธิ์ที่รุนแรงเกินไป ตนมองว่า ความชอบธรรมในเวลานี้ ไม่ได้เกิดจากจุดที่เป็นกลาง ที่ผ่านมาบางพรรคการเมือง ไม่เคยโดนในกรณีเดียวกัน ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯ ควรที่จะบัญญัติว่า คนที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ห้ามนอกลู่นอกทาง ไม่กระทำการทุจริต ไม่ใช่ป้องกันไม่ให้นายกฯ ก. กลับมาเป็นนายกฯ อีก เพราะถ้าป้องกันไม่ให้กลับมา เดี๋ยวก็มีนายกฯ ข. และ ค. ตามมาแทน
" การที่ กมธ.ยกร่างฯ บัญญัติแบบนี้ เหมือนมองย้อนอดีต แล้วไม่ป้องกันปัจจุบัน ทั้งที่ไม่จำเป็นที่ต้องทำขนาดนั้น ทำไมต้องไปขุดคุ้ยกันจนตาย ทาง กมธ.ยกร่างฯ และคณะกรรมการป้องกันการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แน่ใจหรือว่า ที่ผ่านมาไม่เคยกระทำความผิด" พ.ต.อาณันย์ กล่าว
** ส่งก.ม.ลูกปฎิรูปคู่รธน.ให้ปชช.
วานนี้ (19 ก.ค.) ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา จ.ชลบุรี น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 6 ในฐานะประธาน อนุกมธ.ศึกษาเตรียมการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการปฏิรูป กล่าวถึงเหตุผลที่ กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้ต้องยื่น ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการปฏิรูปให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาควบคู่กับ ร่างรัฐธรรมนูญ ว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้รับคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ จากสปช. ที่ต้องการให้ปรับเพิ่มสาระ ขณะที่ ครม.กังวลกรณีหากขีดเส้นกำหนดเวลาปฏิรูปเพียงระยะเวลา 1-2 ปี อาจเกิดสถานการณ์ที่นำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองต่อไปได้ อีกทั้ง การมีองค์กรใหม่ แม้จะมีความจำเป็นแต่อาจเป็นภาระต่องบประมาณ และอาจเกิดความกังวลต่อรัฐบาลหน้า
นพ.ชูชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในหมวดการปฏิรูป และการสร้างความปรองดองที่ตนรับผิดชอบ กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาจนได้ข้อยุติให้เหลือ จำนวน 5 มาตรา ที่มีเป้าหมาย ทิศทาง หลักการสำคัญชัดเจน ส่วนสาระไปบัญญัติไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป ซึ่งจะมีเวลาพิจารณาได้ละเอียดรอบคอบมากกว่า ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่า จะเกิดการปฏิรูปได้จริง ส่วนองค์กร ที่จะมาดูแลเรื่องการปฏิรูป อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่ หรือเป็นองค์กรที่มีอยู่เดิม
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีคนขอให้หมวดการปฏิรูป และสร้างความปรองดอง เหลือเพียงมาตราเดียว ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่สามารถตอบโจทก์หลักประกัน ที่จะเรียกเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปได้ ส่วนการกำหนดการปฏิรูปที่มีเป้าหมายชัดเจน เช่น ปฏิรูปกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม อย่างการปฏิรูปกลไกตำรวจ ปฏิรูปโครงสร้างระบบการศึกษาและงบประมาณ จึงเรียกได้เต็มปากว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจเต็มที่ จึงมีกระบวนการทำงานร่วมกัน ระหว่างอนุกมธ. และกมธ.ปฏิรูป 18 ด้านของ สปช. เพื่อหารือให้ได้เป้าหมายทิศทางและหลักการที่ชัดเจนและเป็นที่น่าพอใจของ สปช. ทั้งร่างรัฐธรรมนูญ และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ถือเป็นงานที่ สปช. คิดว่าฝากไว้ให้กับประเทศได้
นพ.ชูชัย ยังกล่าวถึงเหตุผลที่ ร่างรัฐธรรมนูญ และ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป ต้องส่งถึงมือประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นฉบับประชาชน รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นฉบับประชามติ ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นฉบับปฏิรูปผ่านการออกเสียงประชามติ ดังนั้น ประชาชนก็ควรรับทราบ เพราะประชาชน ถือเป็นพลังสูงสุดที่จะทำให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จสูงสุด รวมถึงทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ เป็นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ในสังคม ซึ่งหากเห็นชอบผ่านการออกเสียงประชามติด้วยความมั่นใจ ก็จะเป็นประโยชน์ให้ประเทศเดินหน้าไปได้หากเป็นไปตามกลไกที่วางไว้ก็จะเห็นอนาคตประเทศ
"คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง ที่จะมีขึ้นในอนาคต เพื่อมาทำหน้าที่ปฏิรูปสานต่องานจาก สปช. เพื่อแก้ปัญหาของบ้านเมือง เพราะเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็น ดังนั้น จึงไม่ใช่การสืบทอดอำนาจตามที่สังคมหวาดระแวงอย่างแน่นอน" นพ.ชูชัย กล่าว

"**บวรศักดิ์"ลั่นร่างรธน.ไม่ผ่าน ไม่ทำต่อ
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง ภาพรวมการพิจารณาปรับปรุง ร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่มีข้อเสนอแนะ และคำขอแก้ไขจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้จัดประชุมที่โรงแรมเอเชียพัทยา จ.ชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 13 - 19 ก.ค. ว่า ประเด็นที่รอการพิจารณาไว้ ได้นำมาหารือ และตัดสินกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ยังมีบทบัญญัติว่าด้วย มาตราเกี่ยวกับการปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง และ บทเฉพาะกาล ที่ต้องนำกลับไปพิจารณากันอีกครั้ง ส่วนหนึ่งในประเด็นปฏิรูปนั้น ต้องรอสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ร่วมเป็นคณะทำงาน อย่างไรก็ตาม การปรับบทบัญญัติของ ร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้กระทบหลักการสำคัญใน 4 เจตนารมณ์ ถึงแม้จะมีการปรับถ้อยคำ เช่น พลเมือง เป็นบุคคล หรือปวงชนชาวไทย ก็ตาม
"ภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญ ผมพอใจเท่าที่พอใจ ก่อนหน้านั้น ผมเคยพูดแล้วว่า รัฐธรรมนูญที่ถูกใจที่สุดในโลก หรือ100 เปอร์เซ็นต์ไม่มี และ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ยกร่างนี้ ไม่ใช่ฉบับในฝัน เพราะหากเป็นฉบับในฝัน มีหลายเรื่องที่ผมจะเขียนไว้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้ดำเนินการนั้นเป็นไปภายใต้เงื่อนไข และข้อบังคับ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 35 โดยเฉพาะ (4) ที่กำหนดให้ มีกลไกประสิทธิภาพในการป้องกัน และตรวจสอบไม่ให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้
การเลือกตั้งไม่สุจริต หรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด จึงทำให้ร่างรัฐธรรมนูญ ต้องเขียนตัดสิทธิทางการเมืองตลอดไป แม้ว่ากมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องการจะเขียน แต่หากไม่เขียนก็เท่ากับว่า ไม่ปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 35 (4) กำหนด" นายบวรศักดิ์ กล่าว
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ในวันที่ 21 ก.ค.นี้ จะมีการประชุม กมธ.ยกร่างฯ เวลา 13.30 น. เพื่อพิจารณาลงมติ ต่อการขยายวันทำงานออกไปตามที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมกำหนดไว้ และเมื่อมติเป็นเช่นไร จะแจ้งไปยังที่ประชุม สปช. ให้รับทราบ ส่วนแผนการทำงานของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต่อการลงพื้นที่ชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อ สปช. ลงมติเห็นชอบนั้น มีที่คิดไว้ในใจบ้างแล้ว แต่ยังไม่กล้าเชื่อมั่นว่า สปช. จะลงมติเห็นชอบ ร่าง รัฐธรรมนูญ แต่หากมติ สปช. ให้ผ่าน ตนจะนัดประชุม เพื่อทำแผนการทำงานอีกครั้ง
เมื่อถามถึงผลการประเมินว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป จะถูกบังคับใช้นานเท่าใด นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะตนอยู่กับปัจจุบัน แต่หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ผ่านและต้องตั้งกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ตนขออย่ามาคิดถึงตนอีก และขอให้ตัวใครตัวมัน ส่วนตนนั้นจะกลับบ้านนอน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นัดสุดท้าย ที่โรงแรมเอเชียพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งมีวาระรับรองบันทึกรายงานการประชุม ก่อนเข้าสู่การพิจารณา ตัวแทน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้กล่าวเปิดใจถึงการทำหน้าที่ โดย นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กล่าว่า ตนเชื่อมั่นว่าร่างรัฐธรรมนูญ จะผ่านมติของ สปช. และการทำประชาามติของประชาชน เพราะจากการทำงานร่วมกับ สปช. ที่ผ่านมา พบว่า สปช.รู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ ขณะที่การทำประชามตินั้น เชื่อว่าสาระสำคัญที่นำชาติ และบ้านเมืองไปสู่ความคาดหวัง และทำให้เกิดความศิวิไลซ์แก่แผ่นดินสยาม
ด้าน นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวด้วยว่า ตนผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว 3 ฉบับ โดยแต่ละฉบับนั้น มีโจทย์การทำงานที่แตกต่างกัน โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ยกร่างขณะนี้ ถือว่ามีโจทย์การทำงานที่ยากที่สุด เพราะต้องทำให้บ้านเมืองคืนสู่ความสงบ และทำชาติให้เจริญก้าวหน้า ทั้งนี้ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษ ที่จะแก้ไขวิกฤตต่างๆ ที่ผ่านมา และนำประเทศไปสู่ความสงบโดยพริบตา แต่เป็นแนวทางที่คาดว่า จะเป็นช่องทางให้บ้านเมืองไปสู่สันติสุข และเจริญก้าวหน้าได้อย่างน่าชื่นชม
"รัฐธรรมนูญร่างแรกที่ออกมานั้น หลายคนคิดว่าเป็นกลไกที่สร้างขึ้นมาแล้วสามารถแก้ไปัญหาและนำประเทศไปสู่ความสงบสุขได้ แต่เมื่อรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ และเสียงประชาชนแล้ว ต้องนำความเห็นนั้นมาปรับเพื่อให้เกิดความสมดุลและได้รับการยอมรับมากขึ้น แม้จะไม่ใช่โจทย์ที่ต้องการ แต่สุดท้ายต้องไม่ลืมเป้าหมายสูงสุดที่เพื่อแก้ปัญหาให้บ้านเมือง และให้บ้านเมืองสงบสุข" นางกาญจนารัตน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น