xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สอย คปก.กลางอากาศ มาตรฐาน “ม.44” อยู่ตรงไหน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ประชาชนได้เห็นความเด็ดขาดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)อีกครั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ลงนามในคำสั่ง คสช.ที่ 20/2558 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 สั่งระงับการสรรหาบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จำนวน 11 คน เพื่อดำรงตำแหน่งแทน คปก.ชุดเดิมที่หมดวาระไปตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2558

พร้อมทั้งให้ คปก.ชุดเดิมทั้ง 11 คน ที่ยังรักษาการอยู่ พ้นจากตำแหน่งทันที และให้สำนักงาน คปก.ไปสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือปฏิบัติหน้าที่อื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี

เรียกได้ว่าเป็นการสั่งระงับกันกลางอากาศก็ว่าไว้ นั่นเพราะกระบวนการสรรหาได้งวดเข้ามาทุกขณะแล้ว มีการคัดเลือกผู้สมัคร 85 คน ให้เหลือ 22 คน พร้อมนัดแนะให้มาแสดงวิสัยทัศน์ต่อกรรมการสรรหาฯ ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2558 ตั้งแต่เวลา 09.00 น.เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 11 คน เสนอชื่อเป็น คปก.ชุดใหม่ต่อไป

สาเหตุการยกเลิก คปก.ตามที่ระบุในคำสั่ง คสช. ระบุว่า เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปประเทศ และมีหลักการสำคัญส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอาจมีการวางหลักเกณฑ์หรือกำหนดกลไกที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกฎหมายไว้แตกต่างไปจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ก็ได้มีองค์กรที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว

การระงับกระบวนการสรรหาและคัดเลือกกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดใหม่ไว้ก่อน ก็เพื่อให้การปฏิรูปกฎหมายของประเทศมีความเป็นเอกภาพและสอดคล้องกับหลักการที่จะได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การระงับการสรรหา คปก.เพราะเขาคิดว่ามันซับซ้อนกัน ทำอะไรตอนนี้อาจไม่ดีงาม โดยระหว่างยังไม่มีคณะกรรมการ คปก.ให้สำนักงาน คปก.มาประสานงานกันกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่อย่างนั้นจะไม่มีอะไรทำ ส่วนก่อนหน้านี้มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหลายคนสมัครเข้ารับการสรรหา ก็ไม่น่าจะเป็นสาเหตุ

ขณะที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ปฏิเสธว่า กมธ.ยกร่างฯ ไม่มีการพูดคุยกันในทางที่จะให้ยุบ คปก.หรือให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะว่าในกรรมาธิการฯ ก็มีกรรมการอยู่คนหนึ่งคือนายบรรเจิด สิงคะเนติ และมี สปช.สมัครอีก 2 คน คือ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ และ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว จึงไม่มีเหตุใดที่ กมธ.ยกร่างฯ จะไปคิดในทำนองที่ไม่ให้มีการสรรหาหรือยุบ

นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า กมธ.ยกร่างฯ ยังได้เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 282(3) เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของ คปก.ในการเสนอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พิจารณายกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย หรือกฎ แล้วแต่กรณี ที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระ หรือขั้นตอนโดยไม่จำเป็น ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ยังไม่ได้พิจารณากัน เพราะฉะนั้นการที่ไปลือว่า กมธ.ยกร่างฯ และตนอยู่เบื้องหลังคำสั่งนี้จึงตรงกันข้ามกับความจริง ขอร้องคนที่ไปปล่อยข่าวให้ยุติการกระทำไม่เช่นนั้นก็ไปเจอกันที่ศาลอาญา

จากรูปการณ์จึงน่าเชื่อได้ว่า คนชงเรื่องให้ระงับการสรรหา คปก.และให้ คปก.ชุดรักษาการพ้นจากตำแหน่ง ไม่ได้มาจากฟากฝั่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือนายบวรศักดิ์ ค่อนข้างแน่นอน แต่การจะเซ็นคำสั่งตามที่มีคนชงเรื่องมาหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์เพียงคนเดียวเท่านั้น
การที่ พล.อ.ประยุทธ์ลงนามคำสั่งนี้ก็เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์เห็นด้วยว่า คปก.ควรจะยุติบทบาทไว้ก่อน โดยอ้างเรื่องการซ้ำซ้อนกับกลไกการปฏิรูปกฎหมายที่กำลังดำเนินอยู่ในกระบวนการปฏิรูปประเทศ

การลงนามในคำสั่ง คสช. 20/2558 ยังส่งผลไปถึง ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 282(3) ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของ คปก.เอาไว้ในการเสนอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทำการแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายแล้วแต่กรณี นั่นเพราะหากยังไม่มีคำสั่งอื่นมาเปลี่ยนแปลงก็เท่ากับว่า ร่างมาตรานี้จะถูกลบไปโดยปริยาย โดยอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยที่ กมธ.ยกร่างฯ หรือ สปช.ไม่ต้องไปเสียเวลาถกเถียงกันให้เมื่อย

รวมทั้งยังส่งผลไปถึงสถานะภาพของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.2553 เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการเป็นอิสระในการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ รวมทั้งปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนั้นประกอบ

เรียกว่า คปก.ตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม มีสถานะเป็นองค์กรอิสระย่อยๆ อีกองค์กรหนึ่ง

แต่ก็มิอาจรอดพ้นไปจากการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ของ พล.อ.ประยุทธ์ได้

เห็นการใช้อำนาจที่เด็ดขาดของ พล.อ.ประยุทธ์ในกรณีนี้ ก็มีคำถามไปถึงการใช้วิจารณญาณของ พล.อ.ประโยชน์ในกรณีอื่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติในระดับที่กว้างกว่าปัญหาการซ้ำซ้อนของกลไกการปฏิรูปกฎหมาย และมีเสียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐรัฐธรรมนูญชั่วคราวเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เช่น ปัญหาการเปิดสัมปทานปิโตรเลี่ยมรอบ 21 ปัญหาการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือ ปัญหาเรือประมงพาณิชย์ที่ทำลายทรัพยากรทางทะเล เป็นต้น

กรณีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมนั้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เคยยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558 เรียกร้องให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เปิดประมูลแข่งขันในการผลิตปิโตรเลียมที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตเฉพาะแปลงที่มีศักยภาพสูง โดยต้องกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลยินยอมปรับปรุงเงื่อนไขของสัญญาเพื่อให้การผลิตดำเนินต่อไปโดยไม่ขาดตอน รวมทั้งต้องมอบอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ และให้รัฐสามารถเข้าพื้นที่เพื่อรับมอบการโอนถ่ายการผลิตปิโตรเลียมก่อนหมดอายุสัมปทาน

ทั้งนี้ เนื่องจาก สัมปทานปิโตรเลียมเดิมที่จะหมดลงในปี 2565-2566 ไม่มีเงื่อนไขให้รัฐบาลเข้าพื้นที่เพื่อโอนถ่ายการผลิตปิโตรเลียม ทำให้รัฐไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ก่อนที่จะสิ้นสุดสัญญาซึ่งอาจทำให้เกิดวิกฤตพลังงานได้ เป็นเหตุให้รัฐต้องตัดสินใจเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เพื่อหาพลังงานทดแทน โดยไม่ผ่านการประมูล หรืออาจจะถูกกดดันให้มีการต่ออายุสัมปทานแก่ผู้ผลิตรายเดิม

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวแม้แต่น้อย รวมทั้งข้อเสนอให้หยุดยั้งร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน ที่มีลักษณะหมกเม็ดเอื้อประโยชน์ต่อทุนพลังงาน ก็ยังไม่มีการขานรับจาก พล.อ.ประโยชน์เช่นกัน นอกจากส่งคำเหน็บแนมกลับมายังภาคประชาชนเท่านั้น

หรือ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ที่จะทำลายการท่องเที่ยว จนมีประชาชนมานั่งอดข้าวประท้วงหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พล.อ.ประยุทธ์เคยคิดจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้ามาแก้ไขปัญหานี้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น