xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯฟังเสียงองคมนตรี ให้ส.ว.สรรหากต.คนนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือคัดค้านถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ใน 2 ประเด็นหลัก คือ การคัดค้านผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) และ การบัญญัติในนิยามคำว่า ยุติธรรม ตามหลักนิติธรรม ไม่มีความชัดเจนว่า การพิจารณารายประเด็นในช่วงที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คน ได้พูดคุยเนื้อหาดังกล่าวแล้ว เห็นตรงกันว่าจะแก้ไขเนื้อหาในร่างแรก ของรัฐธรรมนูญใน มาตรา 225 จากเดิมที่ให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ไม่เป็น หรือเคยเป็นผู้พากษา หรือตุลาการ และไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 สามารถเข้ามาเป็น กต. ศาลยุติธรรม ได้ โดยจะแก้ไขให้กลับไปใช้หลักการหลักการเดิม ตามรัฐธรรมนูญ 2550 คือ เปิดช่องให้มี กต. ยุติธรรม จากบุคคลภายนอกจำนวน 2 คน แต่มาจากการสรรหาของวุฒิสภาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวจะมีการพิจารณา ลงรายละเอียดอีกครั้งในช่วงลงรายมาตรา ประมาณกลางเดือนก.ค.นี้ ซึ่งเห็นว่าจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนสาเหตุที่ กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่มีการแถลงเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เพราะอยู่ในช่วงพิจารณาเรื่องอื่นๆ อยู่ และยังไม่ถึงลำดับการพิจารณาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาล
ส่วนประเด็น คำนิยามว่า"ยุติธรรมตามหลักนิติธรรม" ที่องคมนตรีธานินทร์ ได้โต้แย้งว่ามีความคลุมเครือในการตีความบังคับใช้ในกระบวนการยุติธรรมนั้น ในมาตรา 219 ประกอบ 217 ในร่างรัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้ตัวเองยังไม่ได้ศึกษาและเชื่อว่าเมื่อมีการพิจารณาถึงเรื่องดังกล่าวก็จะมีคำตอบในเรื่องนี้อย่างชัดเจนเช่นกัน

** "ประสพสุข"หนุนแก้ปม ก.ต.

นายประสพสุข บุญเดช กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง ข้อท้วงติงเรื่องให้คนนอกเป็นคณะกรรมการตุลาการ (กต.)ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า ในฐานะที่ใกล้ชิดกับวงการตุลาการ ได้มีเสียงสะท้อนแสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้กันมาก เพราะเกรงว่าจะไม่เข้าใจวัฒนธรรม และการทำงานของผู้พิพากษา และบางคนยังเสนอด้วยว่า ควรให้ผู้พิพากษาเป็นคนเลือก กต. แล้วให้วุฒิสภารับรองอีกครั้ง แทนที่จะให้วุฒิสภาเลือกด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม จะเสนอเรื่องนี้ต่อ กมธ.ยกร่างฯ ให้รับทราบข้อห่วงใย และปรับแก้ เพราะข้อห่วงใยในเรื่องนี้ของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ถือว่ามีน้ำหนักมาก และควรที่จะปรับแก้ ส่วนประเด็นเรื่องความยุติธรรม ที่องคมนตรีระบุว่า ความหมายกว้างไปนั้น เป็นเรื่องที่อยากให้มองความยุติธรรมในหลายมิติ ไม่ใช่มองเฉพาะมิติทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว
"ร่างรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหามากเกินไป ในขณะที่กมธ.ยกร่างฯ ได้พยายามปรับลดลง และเห็นด้วยว่า ควรจะต้องปรับลงอีก เพราะในหลักการ และรายละเอียด ควรใส่ไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ" นายประสพสุข กล่าว
ส่วนกระแสข่าวที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไม่กังวล ขอยืนยันว่า กมธ.ยกร่างฯ จะนำสิ่งที่ดีที่สุดเสนอให้สปช.พิจารณา และเสนอต่อประชาชน ส่วนตัวมองว่า สปช. จะผ่านร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ผ่านนั้น ไม่สำคัญ แต่สิ่งสำคัญคือ อยากให้สามารถรักษาสถาบันฯ และสร้างให้เกิดความปรองดอง จึงไม่เน้นแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเอาใจใครหวังเพียงให้รัฐธรรมนูญผ่านเท่านั้น
ด้าน นายบรรเจิด สิงคะเนติ กมธ.ยกร่างฯ และผู้รับผิดชอบในการยกร่าง ในหมวดศาลและกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า เรื่องสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกใน กต.ในศาลยุติธรรม กมธ.ยกร่างฯ ได้พิจารณาในชั้นหลักการ จนยุติไปเรียบร้อยนานแล้ว โดยให้คงบัญญัติไว้แบบเดิมในรัฐธรรมนูญปี 50 คือ เป็นบุคคลภายนอกจำนวน 2 คน มาจากการสรรหาจากวุฒิสภา
"สาเหตุที่ยอมแก้ไข เนื่องจากมีผู้คัดค้านเรื่องดังกล่าวเข้ามามาก โดยเฉพาะจากองค์กรของศาล และผู้พิพากษา ที่เห็นว่าไม่เหมาะสม และ ทางกมธ.ยกร่างฯ ก็คิดว่าหากยอมแก้ไข ก็ไม่กระทบหลักการใหญ่ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งเน้นการปฏิรูปประเทศเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการเปิดประเด็นสร้างความขัดแย้งให้เพิ่มมากขึ้น เพราะขณะนี้ในร่างรัฐธรรมนูญก็มีหลายมาตราที่เป็นประเด็นอยู่แล้ว" นายบรรเจิด กล่าว

** แฉกมธ.ลอบบี้ให้ผ่านร่างรธน.

นายวันชัย สอนศิริ โฆษกกรรมาธิการประสานงานกิจการสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวถึงการประชุม สปช. ในวันนี้ (29 มิ.ย.) ว่าไม่มีประเด็นต้องคุยเรื่องรัฐธรรมนูญ รอวันที่ 22 ส.ค. ที่จะได้รับร่างสุดท้าย คงเป็นการติดตามข่าวของสมาชิก และแลกเปลี่ยนความเห็นของกรรมาธิการฯต่างๆ อีกทั้งรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ดังนั้นจึงน่าจะเป็นการคุยภายในมากกว่า
นายวันชัย กล่าวว่า การปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีทั้งกลุ่มที่พอใจ และไม่พอใจ เช่น 1. เรื่องยืนยันนายกฯ คนนอก กลุ่มที่ต้องการให้มาจากส.ส. ก็ไม่พอใจ อาจประสานกับพรรคการเมืองแสดงออกว่า ไม่เอาเรื่องนี้ 2. ที่มาส.ส. แค่ปรับลดจำนวนส.ส.ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย 3. ที่มา ส.ว. สรรหาอย่างเดียว จะมีทั้งพอใจและไม่พอใจ รวมถึงพรรคการเมืองด้วย 4. กรรมการสิทธิฯ กับผู้ตรวจการแผ่นดินจะกลับไปเหมือนเดิม ไม่ยุบรวม แสดงว่า กมธ.ไม่มีจุดยืน และหลักที่มั่นคงโอนเอนไปตามกระแส เพราะมีวัตถุประสงค์ต้องการให้รัฐธรรมนูญผ่าน โดยคิดว่าอะไรที่สปช.พรรคการเมือง หรือ รัฐบาลต้องการ ก็พยายามปรับเปลี่ยน ทั้งที่ไม่ตรงกับหลักการที่ตัวเองวางไว้แก้ปัญหาจากอดีตจนถึงอนาคต
" มีความพยายามวิงวอน สปช. ให้ผ่านรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ กมธ.ยกร่างฯ ต้องยึดหลักการของตัวเอง ถ้าคิดว่าเป็นปัญหา ถ้าต้องแก้ไข ก็ต้องไม่ยอม แต่ตอนนี้พยายามโอ้โลม ปฏิโลม เอาใจให้ สปช. ผ่านความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ก่อนหน้านี้แข็งขัน ไม่ยอม สปช. แต่พอสปช.จะถูกยุบแน่นอน หลังแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จึงมาเอาใจขอให้รัฐธรรมนูญผ่าน เพื่อกรรมาธิการฯ จะได้ไม่เสียหน้า และได้อยู่ต่อ ซึ่งผมคิดว่าไม่ถูก ตอนนี้พยายามล็อบบี้ว่าเป็นพวกเดียวกัน ต้องให้รัฐธรรมนูญผ่าน" นายวันชัย กล่าว
โฆษก วิป สปช. กล่าวว่า กรรมาธิการฯ ต้องยึดหลักทำให้ร่างรัฐธรรมนูญออกมาดีที่สุด สปช.จะพิจารณาเองว่า จะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ไม่จำเป็นต้องมาเอาใจ สปช. แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจ ไม่มีใครฝันว่าจะกินขนมต่อ 200 ถ้วย จากการยุบ สปช. แล้วตั้งสภาขับเคลื่อนฯใหม่ 200 คน เพราะรัฐบาลมีสิทธิเลือก สภาขับเคลื่อนไม่เกี่ยวกับการโหวตร่างรัฐธรรมนูญ คงไม่พิจารณาว่า คนคว่ำรัฐธรรมนูญ จะให้เป็นสภาขับเคลื่อนฯ ก็เป็นการทำงานที่ไม่ถูกต้อง ใครคิดแบบนี้แย่มาก ไม่มีสติปัญญา ดูถูกสปช. ใครถูกล่อลวงได้ก็ปัญญาอ่อน ไม่ควรไปเป็นอะไรทั้งสิ้น
"กระแสล็อบบี้ให้ผ่านมีมากพอสมควร พยายามอยากให้ผ่าน บอกว่า 126 เสียง เขาก็พอใจแล้ว อ้างเพื่อศักดิ์ศรี กลัวลนลานว่าจะไม่ผ่าน ทั้งที่มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้ดีที่สุด อย่ามาเอาใจ หรืออ้างว่าเป็นแฝดอินจัน ทอดทิ้งกันไม่ได้ ซึ่งเชื่อว่าการล็อบบี้ คงจะเข้มข้นขึ้นโดยใช้สารพัดวิธี โน้มน้าว สปช. ถึงขนาดพยายามเชิญสปช.แต่ละกลุ่มไปทำความเข้าใจ ทั้งที่เมื่อก่อนการแก้ไข ออกระเบียบเคร่งครัด แต่ตอนนี้ยังไงก็ได้ โดยที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดช่องไว้ให้ อย่างไรก็ตามผมไม่เชื่อว่าวิธีการล็อบบี้จะสำเร็จ เพราะ สปช.รู้สึกว่าก่อนหน้านี้แข็งกร้าว แต่ตอนนี้โอนอ่อนทุกอย่าง จึงจะพิจารณาร่าง สุดท้ายแล้วจะตัดสินใจเอง" นายวันชัย กล่าว
นายนิรันดร์ พันทรกิจ สปช. ด้านการเมือง กล่าวว่า จากการติดตามการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น ที่มีการนำเสนอว่ามีการปรับเปลี่ยนตามคำขอแล้วบางส่วนในขั้นการพิจารณาหลักการใหญ่ ก็ถือว่าพอรับได้ แต่ก็ต้องรอการปรับแก้ที่เสร็จสมบูรณ์อีกครั้ง ว่าเป็นที่น่าพอใจมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากประเด็นหลักบางเรื่อง ยังไม่ได้รับการแก้ไข ก่อนตัดสินใจเรื่องโหวต แต่ทางที่ดี กมธ.ยกร่าง ควรส่งร่างที่ปรับแก้ไขแล้วในแต่ละหมวดให้กับ สปช. ดู ก่อนที่จะส่งร่างฉบับสมบูรณ์ เพื่อจะได้มีโอกาสปรับแก้อีกครั้ง เพราะหากส่งตามกำหนดทีเดียว จะไม่สามารถปรับแก้อะไรได้เลย และจะต้องลงมติว่ารับ หรือไม่รับ ร่าง รธน. ฉบับดังกล่าวเท่านั้น

**เครือข่ายสตรีฯนัดชำแหละร่าง รธน.
เมื่อวานนี้ (28 มิ.ย.) ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (วีมูฟ) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และองค์กรเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ จัดสัมมนาเสียงผู้หญิง ต่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นวันที่ 2 โดยในช่วงเช้า เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของเครือข่ายสตรีจาก 4 ภาค เกี่ยวกับสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะความเท่าเทียมของชาย หญิง และสัดส่วนผู้หญิงที่จะมีส่วนตัดสินใจทางสังคมทุกระดับที่ควรจะบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีข้อเสนอว่าทางกลุ่มสตรีฯ จะมีการเคลื่อนไหวกดดันสภาปฏิรูปแห่ง ชาติ (สปช.) หลังจากเห็นร่างรัฐธรรมนูญกรอบสุดท้าย ในเดือน ส.ค.นี้ หากเนื้อหามีการแก้ไข เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มสตรี ก็จะเคลื่อนไหวกดดันให้ สปช. รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นที่น่าพอใจ ก็จะกดดันเคลื่อนไหวให้ สปช. ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการลงมติในเดือนก.ย.
ในช่วงบ่าย น.ส.อุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการมูลนิธิผู้หญิง พร้อมด้วยขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศ เครือข่ายสตรีจาก 4 ภาค และองค์กรด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผ่าน นางนรีวรรณ จินตกานนท์ รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ เพื่อเรียกร้องให้ กมธ.ยกร่างฯ แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาที่มีมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ และสัดส่วนชาย หญิงในทางการเมืองที่เท่าเทียมกันในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีการเสนอให้ระบบสัดส่วนในมาตรา 76 ให้มีสัดส่วนชาย หญิงที่เท่าเทียมกันโดยสลับชาย หญิงกันทั้งบัญชีรายชื่อ ในระบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง และใน มาตรา 212 องค์กรบริหารท้องถิ่น โดยคณะผู้บริหารท้องถิ่นต้องมีสัดส่วนชาย หญิงที่เท่าเทียมกัน
ด้านนางนรีวรรณ กล่าวว่าจะรับข้อเสนอดังกล่าวไปมอบให้กับ กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งนายบวรศักดิ์ เห็นด้วยกับความเสมอภาคในการเปิดโอกาสให้กับผู้หญิง แต่ที่ไม่ได้มารับข้อเสนอด้วยตัวเอง เนื่องจากเดินทางไปต่างประเทศ ทั้งนี้เรายึดหลักที่จะสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ทั้งชายและหญิงอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม กมธ.ยกร่างฯ จะส่งร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายให้ สปช. ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ โดยมีเวลา 15 วันให้ สปช. พิจารณาก่อนลงมติ ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 4-7 ก.ย.
ด้านนางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า ทางองค์กรผู้หญิงจะติดตามการพิจารณาของ กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งอาจจะมีการสนับสนุน หรือคัดค้านบ้างในบางประเด็น ทั้งนี้ ปลายเดือนก.ค. กลุ่มผู้หญิงจะนัดประชุมอีกครั้ง เพื่อดูร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะผู้หญิง ไม่ได้สนในเรื่องผู้หญิงอย่างเดียว เพราะอาจจะมีการเคลื่อนไหวไปยังสปช.ให้รับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น