xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ จ่อเพิ่มองค์ประกอบกรรมการสรรหาศาลรัฐธรรมนูญใน รธน.ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
“ศาลรัฐธรรมนูญ” สัมมนาวิชาการ เชิญผู้เชี่ยวชาญเยอรมันจ้อ เผยรัฐธรรมนูญดอยช์แลนด์สั้น ส่วนศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทสำคัญเพื่อปกป้องกฎหมาย เป็นกลางทางการเมืองเพราะมาจาก 2 สภา พรรคการเมืองจะถูกยุบเฉพาะกรณีทำลายความสงบ ล้มล้างประชาธิปไตย ถ้าสมาชิกผิดจะฟันรายตัว แต่ต้องบริหารแบบประชาธิปไตย ปาร์ตี้ลิสต์มีเลือกตั้ง ด้าน กมธ.ยกร่างฯ เผยเตรียมเพิ่มองค์ประกอบกรรมการสรรหา รับยังไม่เหมาะให้ประชาชนร้องทุกข์โดยตรง

วันนี้ (1 ก.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ร่วมกับมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปการเมืองไทย โดยศาสตราจารย์จอร์จ แมนเซล ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญจากเยอรมนี กล่าวตอนหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามามีบทบาทกับการเลือกตั้งเยอรมนีในการให้แก้กฎหมายการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญเยอรมนีสั้นมากถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญของไทย หรือประมาณ 146 มาตรา เพราะรายละเอียดจะตราในกฎหมายสหพันธรัฐ รัฐธรรมนูญเยอรมนีแต่ละมาตราเนื้อหาสั้นในตัวมันเองเมื่อเทียบกับไทย ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงจำเป็นต้องขยายความโดยฝ่ายนิติบัญญัติ และศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับบทบาทศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนีมีความสำคัญมากเพราะเกี่ยวข้องกับความสั้นของรัฐธรรมนูญ จึงวางบทบาทตนเองได้อย่างเข้มแข้งในการปกป้องรัฐธรรมนูญ ช่วงแรกมีผลงานดีมากทำให้เป็นที่นิยมของประชาชนถูกไว้วางใจมากกว่าสภาและรัฐบาล บางครั้งมีคำวินิจฉัยในประเด็นโต้แย้งทำให้นักการเมืองหรือรัฐบาลไม่พอใจ แต่ก็ต้องปฏิบัติตามและไม่สามารถวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ อาจวิจารณ์คำวินิจฉัยได้เล็กน้อยเท่านั้น และศาลรัฐธรรมนูญมีความเป็นกลางทางการเมืองได้รับคัดเลือกจาก 2 สภาของเยอรมนี

ศาสตราจารย์จอร์จกล่าวอีกว่า ส่วนบทบาทพรรคการเมืองในเยอรมนีพรรคการเมืองจะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเฉพาะพรรคที่ทำลายความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ล้มล้างประชาธิปไตย การกระทำผิดเล็กน้อย เช่น พรรคการเมืองใดไม่รายงานผลการดำเนินการประจำปี รายงานการเงินผิด จะไม่ถูกยุบ หรือถ้าสมาชิกคนใดคนหนึ่ง กระทำผิดกฎหมาย นักการเมืองจะถูกลงโทษเฉพาะบุคคลที่ทำผิดเท่านั้น พรรคจะไม่ถูกยุบ ขณะเดียวกัน พรรคต้องบริหารงานแบบประชาธิปไตย เช่น บัญชีรายชื่อต้องมีการเลือกตั้งมาด้วย ไม่อย่างนั้นจะถูกลงโทษ

ด้านนายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริการศาสตร์ (นิด้า) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญแบบเยอรมันมีหน้าที่หลัก คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย คุ้มครองเสียงข้างน้อยในสภา พิทักษ์หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะหลักนิติรัฐและหลักประชาธิปไตย เป็นการปฏิรูประบบรัฐสภาสมัยใหม่ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญไทยไม่เหมือนเยอรมนี ฐานการนำเข้ามาใช้ไม่เหมือนเยอรมนีที่ต้องการนำมาถ่วงดุล แต่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยเกิดจากการไม่ยอมรับในการทำหน้าที่ของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญช่วงก่อนมีรัฐธรรมนูญ 40 เมื่อมีศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 40 การวินิจฉัยก็ยังมีปัญหาส่วนสำคัญมาจากอิทธิพลและการแทรกแซงทางการเมืองมีการล็อกตัวจากกรรมการสรรหา เป็นปัญหาระบบอุปถัมภ์ซึ่งเยอรมนีไม่มี ทำให้ศรัทธาตก ส่วนรัฐธรรมนูญ 50 ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่เข้มแข็งขึ้นในการถ่วงดุลกับรัฐสภา

ส่วนศาลรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญปี 58 ที่กำลังยกร่างฯ นายบรรเจิดกล่าวว่า จะเพิ่มองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหามีความความหลากหลายมากขึ้นซึ่งคิดว่าประสบการณ์ศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาแม้ช่วงแรกมีปัญหาเรื่องความเป็นอิสระ เพราะไม่ใช่เรื่องโครงสร้างอย่างเดียว แต่เชื่อมโยงระบบวัฒนธรรม ระบบอุปถัมภ์ ประเด็นสำคัญต้องมีหลักการที่แน่นอนมีความเป็นกลางจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความมั่นคง ของเยอรมันให้ประชาชนร้องทุกข์ศาลรัฐธรรมนูญได้ มีคนถามว่าประเทศไทยควรนำมาใช้หรือไม่ เห็นว่าประเทศไทยยังไม่เหมาะสม เพราะยังไม่มั่นคงเข้มแข็งและอาจจะทำลายระบบของ 2 ศาลได้ ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญต้องพิสูจน์การสร้างดุลยภาพทางการเมือง

นายบรรเจิดกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ตราบที่ระบบการเมืองภายใต้ระบบรัฐสภาของไทยยังไม่เข้มแข็งเกิดความขัดแย้งระหว่างการนำ หลักประชาธิปไตยกับหลักนิติรัฐมาใช้ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ เห็นว่าการดำรงอยู่ของศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อสร้างดุลยภาพในอำนาจไม่ให้เกิดความเปลี่ยนที่เกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ อีกด้านหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหาของระบบรัฐสภาที่มีลักษณะเป็นอำนาจเดี่ยว ซึ่งคิดว่านี่คือภารกิจสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญในยุคใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น