xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

มหากาพย์แห่งการรอคอย !! 110วันสอบ"หัสวุฒิ"ไม่คืบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สร้างความฉงน งงงวยแก่สังคม มาโดยตลอดว่า เหตุใด ? กรณีการสอบสวนประธานศาลปกครองสูงสุด "หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล " จากเหตุจดหมายน้อยที่ผ่านเวลามาเนิ่นนานนั้น จึงยังไม่สรุปผลเสียที ถูก-ผิด ก็ว่ากันแบบตรงไปตรงมา จะถ่วงเวลาไปทำไม ? จะปล่อยให้อึมครึมอย่างนี้ไปถึงเมื่อไร ? สงสารประชาชนและบุคลากรในองค์กรที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่บ้าง !

ล่าสุด เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อีกว่า “ชาญชัย แสวงศักดิ์”รองประธานศาลปกครองสูงสุด ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวน ไม่ได้ดำเนินการขอขยายเวลาการสอบสวนตามที่กฎหมายกำหนด คือ ต้องขอความเห็นชอบจาก คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ก่อน ตามข้อ 11 ของระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครองผู้ถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. 2544 จนทำให้ต้องหาทางนำเรื่องเข้า ก.ศป. ที่กำลังจะมีการประชุมขึ้นเร็วๆ นี้ เพื่อขอความเห็นชอบย้อนหลัง เพราะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนไปตั้งแต่ วันที่ 17 มีนาคม 2558

ไม่น่าเชื่อว่า นักกฎหมายระดับนี้ จะพลาดได้อย่างไร

ยิ่งไปกว่านั้น.. เมื่อไม่นานมานี้ก็เห็นสำนักงานศาลปกครองออกมาชี้แจงต่อสังคมถึงกรณีการสอบสวนที่ล่าช้าผ่านสำนักข่าวแห่งหนึ่ง เมื่ออ่านซ้ำไปซ้ำมาแบบเอาความ ก็ไม่พบเหตุผลอะไรเลย เล่นเอาผู้อ่านงงเป็นไก่ตาแตก

หรือข่าวลือที่ว่า ประธานคณะกรรมการสอบสวนไม่มั่นใจในพยานหลักฐานที่จะเอาผิดประธานศาลปกครองสูงสุด จึงถ่วงเวลารอให้ 1 ในกรรมการสอบสวนเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ เพื่อที่จะได้แต่งตั้งกรรมการสอบสวนคนใหม่ ที่คาดหมายว่าจะคุมเสียงการโหวตได้มาแทน จะเป็นความจริง

หากเป็นเช่นนั้น ก็ถือเป็นเรื่องน่าเศร้า และเสื่อมศรัทธาอย่างมากกับตุลาการระดับบิ๊กเช่นนี้

ที่นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นการแย่งชิงอำนาจกันในองค์กร

แต่หากไม่ได้เป็นจริงดังเช่นข่าวลือ เหตุใดจึงไม่เร่งสอบสวนให้เสร็จสิ้น เพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อสังคม จนประธานศาลปกครองสูงสุดที่ถูกสั่งพักราชการ ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2558 ทนรอไม่ไหวต้องยื่นฟ้องประธานคณะกรรมการสอบสวนเป็นคดีอาญา ว่าเจตนาประวิงเวลาการสอบสวน งานนี้ จะแก้ตัวว่าคณะกรรมการสอบสวนไม่มีอะไรในกอไผ่ ก็คงไม่มีใครเชื่อ !!



องคมนตรีไม่เอาก.ต.คนนอก

สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีรายงานว่า นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทำบันทึกส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกร้องให้กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ไม่ให้มีสัดส่วนบุคคลภายนอก ที่ไม่ได้เป็นผู้พิพากษาเข้าดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) แม้แต่คนเดียว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา นายธานินทร์ เคยทำบันทึกถึงนายกรัฐมนตรี ฉบับหนึ่งแล้ว เพื่อคัดค้านเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูป ที่มีการเพิ่มสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ไม่เคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ และไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เข้าไปดำรงตำแหน่ง คณะกรรมการตุลาการ ซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลสูงสุดของศาลยุติธรรม เพราะเท่ากับเปิดทางให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงศาลยุติธรรม

หลังจากที่ส่งบันทึกฉบับแรกถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว ปรากฏว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับฟังข้อท้วงติงดังกล่าว โดยจะกลับไปใช้หลักการเดิม ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 คือ ให้มีสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเข้าไปเป็นคณะกรรมการตุลาการ 2 คน จาก 15 คน โดยผ่านการคัดเลือกจากวุฒิสภา

แต่นายธานินทร์ ยังคงเห็นว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นความบกพร่องผิดพลาด เพราะจริงๆ แล้ว ไม่ควรให้มีบุคคลภายนอกเข้าไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการตุลาการ เลยแม้แต่คนเดียว มิฉะนั้นจะเหมือนการนำบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ มาร่วมตรวจรักษาผู้ป่วย

นายธานินทร์ ยังยกตัวอย่าง ระบบการตรวจสอบศาลของประเทศอังกฤษ ซึ่งมี คณะผู้ตรวจสอบจริยธรรมและการแต่งตั้งผู้พิพากษา เรียกว่า JACO หรือ JUDICIAL APPOINTMENT AND CONDUCT OMBUDSMAN โดยเป็นองค์กรอิสระ ที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้งผู้พิพากษา และตรวจสอบวินัยและจริยธรรมของผู้พิพากษา แต่ระบบนี้ก็มีหลักประกันความเป็นอิสระของศาล เพราะ JACO มีเพียงอำนาจในการตรวจสอบและทำความเห็น แต่อำนาจในการตัดสินใจและดำเนินการเป็นของศาลยุติธรรมเท่านั้น และ JACO ก็ไม่มีอำนาจตรวจสอบในเรื่องการแต่งตั้งผู้พิพากษาหรือการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลด้วย

นอกจากนั้น ตลอดระยะเวลา 315 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ผู้พิพากษาศาลสูงของอังกฤษ ซึ่งมีประมาณ 100 กว่าตำแหน่ง ไม่เคยมีผู้ใดถูกกล่าวหา หรือถูกลงโทษฐานรับสินบนเลย เพราะผู้พิพากษาเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง 100%

ขณะที่ในวงการศาลยุติธรรมไทยพบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่เป็นระยะ ปรากฏจากสถิติคดีที่คณะกรรมการ ก.ต.ลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษาที่มีความผิดในปี 2557 จำนวน 25 คน แม้จะเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทั้งหมดทั่วประเทศจำนวน 4,418 คน แต่ก็เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ ด้วยการทำให้คณะกรรมการ ก.ต.ปราศจากการถูกแทรกแซงจากภายนอก โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมืองอย่างแท้จริง และสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิแห่งวิชาชีพตุลาการ

ล่าสุด (9ก.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ได้รับบันทึก ฉบับที่ 2 ที่ขอให้แก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร แล้ว และตนเอง รวมทั้งนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้รับเช่นกัน ซึ่งก็ไม่มีอะไร เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยทั่วไป ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการยกร่างฯ จะไปพิจารณา และนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้มีการสั่งการใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น