xs
xsm
sm
md
lg

ศปป.ดึง"มาร์ค-ปู"ออกทีวีปรองดอง องคมนตรีไม่เอากต.คนนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (8ก.ค.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกรณี ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) มีแนวทางเชิญแกนนำพรรคการเมืองมาออกรายการ "เดินหน้าปฎิรูป" ว่า เป็นแนวคิดในการเปิดช่องทางให้แต่ละกลุ่มได้แสดงความคิดเห็น และนายกฯ เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ เพราะพล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผู้อำนวยการ ศปป. ที่มีแนวความคิดอยากให้แต่ละกลุ่มมาแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปสู่การทำแผนแนวทางปฏิรูปที่เป็นประโยชน์ และนำไปสู่ช่องทางที่เป็นไปได้ คิดว่าหลายฝ่ายมีความรู้ และประสบการณ์ใตอดีต ในการนำมาประยุกต์ใช้ได้ในปัจจุบัน ซึ่งรายการดังกล่าวเดิมมีกำหนดออกอากาศทุกวันพุธ แต่ขณะนี้ได้เสนอหัวหน้า คสช. และรอการอนุมัติให้มาออกอากาศในวันจันทร์แทน เพื่อความต่อเนื่อง โดย ศปป.จะเชิญทุกกลุ่มทุกฝ่าย รวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ต้องดูความพร้อมของบุคคลที่เชิญด้วย
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า คสช. ได้เพิ่มช่องทางเพื่อสื่อสาร และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน กับผู้แทนของ สปช. เพื่อประโยชน์ต่อการเดินหน้าประเทศในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องของการปฏิรูป และอาจจะมีการเชิญนักการเมือง หรืออดีตผู้บริหารหน่วยงาน ซึ่งยังไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นใคร คงจะพิจารณาเลือกจากประเด็นที่น่าสนใจไว้เป็นหลักก่อน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอยากแลกเปลี่ยนในเรื่องพลังงาน จึงได้เชิญ นายพิชัย นริพทะพันธ์ อดีต รมว.พลังงาน มาร่วมพูดคุยในรายการ สำหรับในวันที่ 8 ก.ค.นี้ ก็จะเป็นเรื่องของการศึกษา จึงได้เชิญ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน สำหรับสัปดาห์ต่อไป จะต้องมีการประชุมหารือกำหนดประเด็นอีกครั้ง

** "ธานินทร์"ไม่เอาคนนอกนั่ง ก.ต.
วานนี้ (8 ก.ค.) เว็บไซต์ศูนย์ข่าวอิศรา รายงานว่า นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทำบันทึกส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกร้องให้กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ไม่ให้มีสัดส่วนบุคคลภายนอก ที่ไม่ได้เป็นผู้พิพากษาเข้าดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือก.ต. แม้แต่คนเดียว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายธานินทร์ เคยทำบันทึกถึงนายกรัฐมนตรี ฉบับหนึ่งแล้ว เพื่อคัดค้านเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูป ที่มีการเพิ่มสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ไม่เคยเป็นผู้พิพากษา ตุลาการ และไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เข้าไปดำรงตำแหน่งคณะกรรมการ ก.ต. ซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลสูงสุดของศาลยุติธรรม เพราะเท่ากับเปิดทางให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงศาลยุติธรรม
บันทึกของนายธานินทร์ ระบุว่า หลังจากที่ส่งบันทึกฉบับแรกถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว ปรากฏว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับฟังข้อท้วงติงดังกล่าว โดยจะกลับไปใช้หลักการเดิม ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 คือให้มีสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเข้าไปเป็นคณะกรรมการ ก.ต. 2 คน จาก 15 คน โดยผ่านการคัดเลือกจากวุฒิสภา แต่นายธานินทร์ เห็นว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นความบกพร่องผิดพลาด เพราะจริงๆ แล้วไม่ควรให้มีบุคคลภายนอกเข้าไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการ ก.ต. เลยแม้แต่คนเดียว มิฉะนั้นจะเหมือนการนำบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ มาร่วมตรวจรักษาผู้ป่วย
นายธานินทร์ ยังยกตัวอย่าง ระบบการตรวจสอบศาลของประเทศอังกฤษ ซึ่งมี คณะผู้ตรวจสอบจริยธรรมและการแต่งตั้งผู้พิพากษา เรียกว่า JACO หรือ JUDICIAL APPOINTMENT AND CONDUCT OMBUDSMAN โดยเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้งผู้พิพากษา และตรวจสอบวินัยและจริยธรรมของผู้พิพากษา แต่ระบบนี้ก็มีหลักประกันความเป็นอิสระของศาล เพราะ JACO มีเพียงอำนาจในการตรวจสอบและทำความเห็น แต่อำนาจในการตัดสินใจและดำเนินการเป็นของศาลยุติธรรมเท่านั้น และ JACO ก็ไม่มีอำนาจตรวจสอบในเรื่องการแต่งตั้งผู้พิพากษาหรือการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลด้วย
นอกจากนั้น ตลอดระยะเวลา 315 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผู้พิพากษาศาลสูงของอังกฤษซึ่งมีประมาณ 100 กว่าตำแหน่ง ไม่เคยมีผู้ใดถูกกล่าวหาหรือถูกลงโทษฐานรับสินบนเลย เพราะผู้พิพากษาเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง 100%
ขณะที่ในวงการศาลยุติธรรมไทยพบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่เป็นระยะ ปรากฏจากสถิติคดีที่คณะกรรมการ ก.ต.ลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษาที่มีความผิดในปี 2557 จำนวน 25 คน แม้จะเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทั้งหมดทั่วประเทศจำนวน 4,418 คน แต่ก็เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ ด้วยการทำให้คณะกรรมการ ก.ต.ปราศจากการถูกแทรกแซงจากภายนอก โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมืองอย่างแท้จริง และสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิแห่งวิชาชีพตุลาการ

**กมธ.มั่นใจส.ว.ชุดใหม่เป็น"พหุนิยม"

วานนี้ (8ก.ค.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง กรณีที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้พิจารณาที่มาของ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ว่า เบื้องต้นที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ ได้กำหนดให้ ส.ว.มีจำนวนไม่เกิน 200 คน โดยมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 77 จังหวัด และมาจากการเลือกกันเอง และการสรรหา จำนวน 123 คน ซึ่งที่มาของการเลือกกันเองและการสรรหา จะมาจาก 4 แนวทาง โดยแนวทางที่ 2 ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรืออาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้ง ทางกมธ.ยกร่างฯ ได้ปรับหลักการจากที่ให้เลือกกันเอง มาเป็นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้จับสลากจำนวนไม่เกิน 15 คน โดยเหตุผลที่กำหนดให้ กกต.เป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าองค์กรตามแนวทางที่ 2 มีเพียง 21 แห่ง และเมื่อทำการเสนอรายชื่อขึ้นมา ก็ให้กกต.จับสลากตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งเชื่อว่า กระบวนการดังกล่าวจะเป็นไปด้วยความโปร่งใส เนื่องจากแต่ละองค์กรก็จะต้องคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และมีความเชี่ยวชาญกับวิชาชีพที่สังกัดอยู่ เข้ามาเป็นส.ว.อยู่แล้ว
ส่วนแนวทางที่ 4 ก็กำหนดให้ ส.ว. มาจากผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านต่างๆ อาทิ การเมือง ความมั่นคง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม สังคม ศาสนา ชาติพันธุ์ จำนวน 68 คน เมื่อรวมกับ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด และผู้ซึ่งเคยเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน และฝ่ายทหาร รวมทั้งผู้แทนองค์กร ซึ่งเป็นนิติบุคคลจากด้านต่างๆ ก็จะทำให้ ส.ว.มีความหลากหลายเป็น“ส.ว.พหุนิยม”อย่างแท้จริง ได้ ส.ว. ที่มีที่มาจากทุกระดับ ทั้งขุนนาง นายทุน รากหญ้า เป็นต้น
สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาส.ว. ตามแนวทางที่ 3 และแนวทางที่ 4 เบื้องต้นทางกมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ได้มีการกำหนดรายละเอียดว่า จะมีจำนวนเท่าใด จะเป็น 9 คน หรือ 11 คน ซึ่งต้องไปพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ได้วางหลักการว่า คณะกรรมการสรรหาส.ว. จะต้องออกแบบให้มีความเหมาะสม และเป็นธรรม โดนจะต้องมีองค์ประกอบ 3 แนวทาง คือ 1. เป็นผู้มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ มีความรู้ ความเข้าใจเพียงพอ 2. องค์ประกอบต้องมีความหลากหลายมาจากทุกภาคส่วน 3. มีจำนวนมากพอสมควร เพื่อป้องกันการล็อกตัวบุคคล ซึ่งคาดว่าในประเด็นนี้จะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ตาม ทางกมธ.ยกร่างฯ ยังยึดปฏิทินการทำงานตามกรอบเดิมไปจนกว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม มีผลบังคับใช้ หากพิจารณาไปตามนี้ คาดว่าจะพิจารณารายมาตราเสร็จภายในวันที่ 20 ก.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น