xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาร่างแก้แล้ว 48 มาตรา ปัดเลือกเอาแต่ของ ครม. ยันคง กต.เหมือนปี 50

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ เผยพิจารณาแก้แล้ว 48 มาตรา จะเร่งเสร็จให้ทันสิ้น ก.ค.นี้ ปัดเอาคำขอแก้ของ ครม.มาปรับอย่างเดียว ยันดูทุกภาคส่วนประกอบ ชี้ กมธ.มีมติให้คณะกรรมการตุลาการยึดตามเดิมปี 50 ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ไม่เกี่ยวข้อเสนอองคมนตรี ส่วนของอัยการคงปรับให้สอดคล้องกัน แนะสื่อถ้าไม่เอาข่าวลือไปตีก็ไม่มีใครสนใจ


วันนี้ (29 มิ.ย.) ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการพิจารณาปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ว่า ขณะนี้พิจารณาผ่านไปแล้ว 48 มาตรา โดยจะเร่งพิจารณาให้เสร็จทันภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนวันนี้จะเป็นการพิจารณาในส่วนของสิทธิของประชาชน สิทธิพลเมือง สิทธิสื่อมวลชน สิทธิการมีส่วนร่วมในการชุมนุม ซึ่งประเด็นที่ต้องมีการนำกลับมาพิจารณาอย่างรอบคอบในมาตรา 62 ถึงมาตรา 64 เกี่ยวกับการดำเนินโครงการของรัฐ ทั้งในเรื่องของการทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อประชาชน จึงต้องบัญญัติให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด ส่วนเรื่องของการบริหารท้องถิ่นนั้นมีหลายมาตราเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงต้องมาดูว่ามีคำขอแก้ไขเป็นอย่างไร และมาจากส่วนใดบ้าง ซึ่งคำขอแก้ไขส่วนใหญ่ความเห็นยังไม่ตรงกัน

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวออกมาว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหยิบยกเพียงคำขอแก้ไขของคณะรัฐมนตรีขึ้นมาพิจารณาประกอบในการจัดทำรัฐธรรมนูญ โดยไม่ได้นำคำขอของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้ามาพิจารณาร่วมนั้น พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้นำทุกคำขอของทุกภาคส่วนมาประกอบการพิจารณาในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และทางคณะรัฐมนตรีเองก็ไม่ได้มีการส่งคำขอแก้ไขเพิ่มเติมมากมายอะไรอย่างที่เป็นข่าว

พล.อ.เลิศรัตน์ยังกล่าวถึงข้อเสนอให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ในหมวดศาลและกระบวนการยุติธรรม ว่าข้อเสนอดังกล่าวเสนอมาในฐานะที่นายธานินทร์เป็นประชาชนคนหนึ่งซึ่งสำเนาคำขอมาถึงประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะนำมาพิจารณาประกอบเมื่อถึงมาตราที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การขอแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการ ทางคณะกรรมาธิการฯ ก็ได้พิจารณาเรื่องนี้ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว โดยมีมติให้ยึดตามเดิมเหมือนที่รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนด ขณะที่องค์ประกอบของคณะกรรมการอัยการนั้นก็จะมีการพิจารณาถึงครั้งเมื่อถึงมาตราที่เกี่ยวข้อง และจะต้องพิจารณาในส่วนของพระราชบัญญัติร่วมด้วย โดยคาดว่าจะปรับแก้ให้สอดคล้องกันกับที่มาคณะกรรมการตุลาการที่ปรับแก้ตามเดิม

ส่วนกระแสข่าวว่ามีการเดินสายล็อบบี้ให้ สปช.รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นแค่กระแสข่าว หากสื่อไม่นำไปตีข่าวต่อก็ไม่มีใครสนใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น