xs
xsm
sm
md
lg

อดีตผู้พิพากษาเชื่อวิกฤตหากมี ก.ต.คนนอก เสี่ยงการเมืองครอบงำจนคดีบิดเบี้ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา
“ชูชาติ ศรีแสง” ชี้ช่องโหว่เพิ่มสัดส่วน ก.ต.คนนอกไม่น้อยกว่า 1ใน 3 เสี่ยงต่อการแทรกแซงศาล ระบุหากคนนอกพรรคการเมืองสั่งได้ จะมีผลต่อการให้คุณให้โทษผู้พิพากษา ย่อมกระทบต่อรูปคดี ประชาชนที่ไม่ได้เป็นพวกของพรรคการเมืองนั้นต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี

วันนี้ (27 มิ.ย.) นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Chuchart Srisaeng ถึงข้อเสียหากให้บุคคลภายนอกเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการตุลาการ จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ก.ต.ที่มาจากผู้พิพากษา ดังนี้

“กรณีผู้พิพากษาศาลยุติธรรม จำนวน 1,380 คน ทำหนังสือถึงคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ โต้แย้งที่คณะกรรมาธิการได้ยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้บุคคลภายนอกที่ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา และไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นคณะกรรมการตุลาการหรือ ก.ต.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวน ก.ต.ที่มาจากผู้พิพากษา

สำหรับผู้ที่ยังไม่ทราบก็ขอบอกว่า คณะกรรมการตุลาการ หรือ ก.ต.ของศาลยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่โดยสรุปสั้นๆ คือ พิจารณาแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนตำแหน่ง ให้บำเหน็จความชอบและลงโทษทางวินัย ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการตุลาการ หรือ ก.ต.ของศาลยุติธรรมมาจากผู้พิพากษาที่ผู้พิพากษาเป็นผู้เลือกจำนวน 12 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่วุฒิสภาเลือกจำนวน 2 คน และมีประธานศาลฎีกาเป็นประธานโดยตำแหน่ง

การกำหนดให้มี ก.ต.ที่ไม่ได้มาจากผู้พิพากษามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของ ก.ต.ที่มาจากผู้พิพากษา ก็หมายความว่า ต้องมีบุคคลภายนอกเข้ามาเป็น ก.ต.ไม่น้อยกว่า 5 คน ซึ่งอาจมี 5 คน 6 คน 7 คน 8 คน 9 คน 10 คน 11 คน 12 คน 13 คน 14 คน 15 คน หรือมากกว่านี้ก็ได้

ถ้ามีการแต่งตั้งบุคคลภายนอกเข้ามาเป็น ก.ต.มากกว่า ก.ต.ที่มาจากผู้พิพากษา การลงมติในการประชุม ก.ต.เสียงข้างมากก็ต้องเป็นของ ก.ต.ที่มาจากบุคคลภายนอกอย่างแน่นอน ยิ่งหาก ก.ต.ที่มาจากบุคคลภายนอกดังกล่าวเป็นคนของพรรคการเมืองหรือพรรคการเมืองสั่งได้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดก็ตาม ลองคิดกันดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น

แม้รัฐธรรมนูญทุกฉบับบัญญัติไว้ว่า ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าคนของพรรคการเมืองที่สามารถสั่ง ก.ต.ที่มาจากบุคคลภายนอกได้ ถูกดำเนินคดีหรือมีข้อพิพาทกับบุคคลอื่นจนมีคดีขึ้นสู่ศาล ก.ต.เสียงข้างมากก็สามารถแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาที่จะพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นคุณแก่ฝ่ายที่เป็นพรรคพวกของตนให้ไปดำรงตำแหน่งเพื่อพิจารณาคดีนั้นหรือไปเป็นผู้บริหารสูงสุดในศาลที่คดีนั้นขึ้นสู่การพิจารณาเพื่อดูแลการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้

ผู้พิพากษาก็คือปุถุชน ย่อมจะต้องมีอยู่บ้างเป็นธรรมดาสำหรับผู้ที่เอาตัวรอดยอมทำตาม ก.ต.เสียงข้างมากเพื่อความมั่นคงในตำแหน่งหน้าที่การงานของตนเอง ผลที่จะเกิดขึ้นก็คือประชาชนที่ไม่ได้เป็นพวกของพรรคการเมืองนั้น ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี การพิจารณาพิพากษาคดีในศาลยุติธรรมอาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ฝ่ายการเมืองหรือนักการเมืองเข้ามาก้าวก่ายไม่ได้

ดังนั้น การให้มี ก.ต.ที่มาจากบุคคลภายนอกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวน ก.ต.ที่มาจากผู้พิพากษา จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม และผู้ที่ได้รับความเสียหายคือประชาชนผู้มีอรรถคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรม ไม่ใช่ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมครับ”


กำลังโหลดความคิดเห็น