xs
xsm
sm
md
lg

โยนกมธ.สรุปข้อเสนอองคมนตรี กรณีโละคนนอกนั่งก.ต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (9 ก.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี บันทึกฉบับที่ 2 ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ขอให้แก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในส่วนของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) ไม่ให้มีสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกแม้แต่คนเดียว ว่า นายกรัฐมนตรี ได้รับแล้ว และบันทึกฉบับนี้ ตนรวมทั้งนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ได้รับแล้วเช่นกัน ซึ่งไม่มีอะไร เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยทั่วไป โดยขึ้นอยู่กับกมธ.ยกร่างฯ จะไปพิจารณา และนายกฯ ก็ไม่ได้มีการสั่งการใดๆ
ทั้งนี้ ทางกมธ.ยกร่างฯได้เคยปรับแก้แล้วครั้งหนึ่ง ตามที่นายธานินทร์ ได้มีบันทึกฉบับแรกมา คัดค้านสัดส่วนคนนอกมา จากแรกที่กำหนดไว้ไม่น้อย 1 ใน 3 และได้ปรับแก้ให้มีสัดส่วนคนนอก 2 คน จาก 15 คน ส่วนข้อเสนอครั้งนี้ จะมีการปรับแก้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกมธ.ยกร่างฯ
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกระบวนการการทำงานของกมธ.ยกร่างฯ ว่า ในกรณีที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หากประกาศใช้ไม่ทัน ที่มีการต่อเวลาการทำงานให้ กมธ.ยกร่างฯ อีก 30 วัน เพื่อพิจารณารับฟังข้อเสนอจากฝ่ายต่างๆ รวมถึงการเชิญผู้เสนอขอแก้ไขมารับฟังการชี้แจงในการปรับแก้ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะไปลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ในวันที่ 4 ก.ย.นั้น หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ประกาศใช้ไม่ทันจริงๆ ก็ต้องยึดกรอบการทำงานเดิมตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดไว้ คือ ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 20 ก.ค. และกมธ .ยกร่างฯ จะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช. ในวันที่ 23 ก.ค. เพื่อนำไปลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ในวันที่ 6 ส.ค. 58

** ปรับแก้ร่างรธน.แล้ว 170 มาตรา

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้พิจารณาจบที่ มาตรา 170 ซึ่งสามารถพิจารณาได้ถึง 26 มาตรา โดยมีการปรับแก้ถ้อยคำบ้าง แต่ไม่กระทบกับหลักการ ทั้งนี้ ในมาตรา 170 ว่าด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีอิสระจากมติพรรคการเมืองในการตั้งกระทู้ถาม การอภิปราย และการลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งที่ประชุมได้มีการตัดออก แล้วนำไปเขียนไว้ในวรรคสุดท้ายของ มาตรา 131
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการแขวน มาตรา 159 ว่าด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีพระราชบัญญัติบางฉบับยังไม่ได้ข้อยุติ
อย่างไรก็ตามในวันที่ 9ก.ค. คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ยังคงมีการพิจารณาปรับแก้รายมาตราต่อเนื่อง โดยจะเริ่มเวลา 09.00 น. ในหมวดที่ 4 ว่าด้วยเรื่องคณะรัฐมนตรี มาตรา 171
ด้าน รศ.วุฒิสาร ตันไชย กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะโฆษกรรมาธิการ กล่าวว่า ภาพรวมในการพิจารณาปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ผ่านมา มีความคืบหน้า เดินหน้าได้ตามเป้าหมาย และจะเข้าสู่หมวดของคณะรัฐมนตรี มั่นใจว่า การปรับแก้ไขรอบแรกทุกมาตรา น่าจะเสร็จก่อนวันที่ 20 ก.ค.นี้อย่างแน่นอน
ส่วนเรื่องจำนวน ส.ส. และ ส.ว. เบื้องต้นตรงตามที่เป็นข่าว คือส.ส. มี 450 คน แต่ไม่เกิน 470 คน จากระบบบัญชีรายชื่อ 150 คน และแบบแบ่งเขต 300 คน ส่วนการคิดคะแนน ก็คงตามร่างเดิม แบบสัดส่วนผสม ขณะที่ ส.ว. มี 200 คน จากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และสรรหา 4 กลุ่ม 123 คน
ทั้งนี้ รศ.วุฒิสาร ยอมรับว่า การชี้แจงหรือสื่อสารรายละเอียดการปรับแก้ไขต่อประชาชน และสื่อมวลชนค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็นการปรับแก้รอบแรก ยังไม่ใช่รอบสุดท้ายที่จะเสร็จสมบูรณ์ จึงยังไม่มีการแถลง เนื่องจากหลังจากครบทุกมาตราแล้ว จะต้องมีการทบทวน และอาจมีการปรับอีกครั้ง ตามความเชื่อมโยงในแต่ละมาตรา

** ปฏิรูปศก.เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

วานนี้ นายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวปาฐกถาเรื่อง ปฏิรูปเศรษฐกิจทำไม และอย่างไร ในงานการสัมมนาปฏิรูปเศรษฐกิจไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ว่า การปฏิรูป เป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ โดย
ปราศจากความรุนแรง ซึ่งการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ด้านเศรษฐกิจการเงิน การคลัง และด้านเศรษฐกิจจริง ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สร้างวินัยทางการคลัง ปรับระบบการบริการราชการให้มีประสิทธิภาพ ขจัดคอร์รัปชัน และป้องกันการใช้นโยบายประชานิยม
นายสมชัย ยังได้กล่าวถึงนโยบายประชานิยมว่า เป็นการดำเนินนโยบายที่มุ่งหาคะแนนเสียงทางการเมือง อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวได้ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ชอบนโยบายนี้ ซึ่งถือเป็นเสมือนยาเสพติด ที่สามารถแก้ได้ยาก จึงจะต้องเลิกการเสพติดนี้ให้ได้ หากไม่สามารถเลิกได้ อนาคตประเทศไทยจะตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก ทั้งนี้ มาตรการการป้องกันการใช้นโยบายประชานิยม สามารถทำได้โดยกำหนดเป็นกฎหมายให้ทุกนโยบายของรัฐ ต้องมีการวิเคราะห์ทั้งผลดีและผลเสียในภาพรวมของประเทศ

** ซัดรัฐบาลที่ผ่านมา ตัวต้นเหตุปัญหาศก.

ขณะที่ นายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยว และการบริการ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึง เหตุผล ความสำคัญที่จะต้องเกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจ ว่า เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ ให้ประเทศสามารถบรรลุยุทธศาสตร์การเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในปี 2575
ทั้งนี้ หัวใจการปฏิรูป ก็เพื่อเป็นประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจแล้ว ซึ่งจะต้องมีการปฏิรูปทั้งด้านนโยบาย ขยายตลาด กำหนดทิศทางร่วมกัน ปรับกฎหมายการแข่งขัน สร้างศักยภาพในการผลิต สร้างการศึกษาวิจัย และเป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียน
นายเกริกไกร ได้สรุปถึงภาพรวมของปัญหาการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาจากการใช้แรงงาน แต่ไม่ใช้นวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ขาดทิศทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ผลิตภาพต่ำ ดังนั้นจึงควรมีการตั้งวิสัยทัศน์ และกำหนดทิศทางยุทธศาสตร์ ให้ชัดเจน เพื่อสามารถสร้างการแข่งขันได้ ขณะเดียวกัน นายเกริกไกร ยังกล่าวถึงสภาพปัญหาเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ว่า ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้เกิดจากรัฐนี้ แต่เกิดจากปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา

**ต้องเร่งปฏิรูประบบภาษีโดยเร็ว

นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ โฆษกคณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการปฏิรูประบบภาษีว่า ควรมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ในตอนนี้ เนื่องจากการปฏิรูประบบภาษีไม่เคยประสบความสำเร็จในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลจะเสียฐานคะแนนเสียง
นายกิติพงศ์ เสนอให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี และป้องกันการหนีภาษี ด้วยการขึ้นทะเบียนผู้เสียภาษี ขยายฐานภาษี และบริหารการจัดเก็บภาษีให้ครอบคลุม เพื่อนำภาษีที่ได้มาพัฒนาประเทศและให้สามารถแข่งขันในประเทศอาเซียนได้ ขณะเดียวกัน ยังเสนอการปฏิรูปประมวลรัษฎากร เพื่อกำหนดอัตราภาษีให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง พร้อมกันนี้ ยังเห็นว่า หน่วยงานที่เก็บภาษีนั้น ควรเป็นองค์กรอิสระ ดังเช่น ประเทศสิงคโปร์
ทั้งนี้ นายกิติพงศ์ กล่าวว่า หากไม่มีการปฏิรูปภาษีในประเทศ ก็ไม่สามารถปฏิรูปด้านอื่นๆ ของประเทศได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังระบุว่า ส่วนหนึ่งจากปัญหาเศรษฐกิจประเทศกรีซ มาจากการหลบเลี่ยงภาษีของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น