ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สถานการณ์ภัยแล้งที่หนักหนาสาหัสยังลุกลามบานปลายออกไปไม่หยุด กลายเป็นมรสุมรุมเร้าซึ่งอาจทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ม้วนเสื่อจบไม่สวยเอาได้ง่ายๆ และภัยร้ายที่กำลังคุกคามรัฐบาลที่ชื่อภัยแล้ง-เอล นีโญ่ นี้ไม่กลัวมาตรา 44 เสียด้วย เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของ คสช.อย่างสิ้นเชิง
จึงไม่น่าแปลกใจที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะออกอาการหงุดหงิดเหลือกำลัง เมื่อเจอการรายงานแผนการบริหารจัดการน้ำรับมือภัยแล้งแบบไม่ประทับใจจอร์จจาก นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ตอนเดินดูนิทรรศการซึ่งหน่วยราชการต่างๆ มาออกบูทที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฯ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันอังคาร 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา
การแก้ไขปัญหาภัยแล้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เน้นย้ำเรื่องการรักษาป่ารักษาต้นน้ำและการ เก็บกักน้ำ ซึ่งเป็นแผนระยะยาวที่ไม่ได้ทำให้เห็นผลได้ง่ายๆ ตอนนี้จึงเห็นแต่ปฏิบัติการ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นส่วนใหญ่ เช่น มีการทำฝนเทียม แต่ทำไปมากกว่า 2,000 ครั้ง ก็ยังได้น้ำ น้อยเพราะอากาศแห้งแล้ง
หรือการเร่งขุดบ่อบาดาลและบ่อตอกในพื้นที่เสี่ยงพื้นที่ดอน ซึ่งจะเพิ่มจาก 500 บ่อ เป็น 1,000 บ่อ ให้ทั่วถึงในจุดที่มีการปลูกพืชไปแล้ว การจัดระเบียบการส่งน้ำในคลองชลประทาน ให้กับการเกษตรกร และขอให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อย ปลูกถั่วปลูกงาแทนปลูกข้าว
นายกรัฐมนตรี ยังแนะนำให้เกษตรกรหาแหล่งสร้างรายได้อื่น เช่น เลี้ยงจิ้งหรีด อีกด้วย
ท่านผู้นำคิดหาทางช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรทุกทางอย่างน่าประทับใจแม้กระทั่งการเลี้ยงจิ้งหรีด เพราะรัฐบาลเข้าใจดีถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรทุกพื้นที่ แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลควบคุมไม่ได้ ที่สำคัญคือขอความร่วมมืออย่าทะเลาะเบาะแว้งแย่งน้ำ กัน “ไม่ใช่ต้องให้ทหารไปดูทุกเรื่องนะ”
วิกฤตครั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ ยังหวังจะใช้เป็นโอกาสในการจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับพืช และสั่งการให้กรมชลประทานเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 10% ในปี 2559
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม พิจารณาดูแผนการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบและแผนปฏิบัติการ รับมือกับภัยแล้งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกส่งขึ้นมาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ก็ต้องบอกว่าไม่มีอะไรใหม่ เป็นเรื่องที่พูดกันมานมนานกาเล พูดซ้ำพูดซาก แต่ไม่เห็นการ เปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนไม่ว่ายุคสมัยใด ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาบริหารประเทศ จะมาจากเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ล้วนไม่แตกต่าง
ทั้งเรื่องการรักษาป่าต้นน้ำ ที่กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายสวนทางกัน กระทรวงหนึ่งปฏิญาณทำหน้าที่รักษาป่าอย่างแข็งขัน แต่ก็น่าแปลกที่ป่าไม้กลับลดน้อยลงทุกปี จนมีการตั้งชื่อใหม่เป็นกรมตอไม้ กับอีกกระทรวงที่หนักกว่าเพราะว่าหลับตาข้างเดียวปล่อยให้เกษตรกรถากถางป่าต้นน้ำหรือพื้นที่สูงชัน ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตอบสนองธุรกิจของบริษัทยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมการเกษตร และบางแปลงก็มีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อให้อีกด้วย
หรือเรื่องการเก็บกักน้ำที่กรมชลประทาน คิดอะไรไม่ค่อยออกนอกจากผลักดันสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะเอาน้ำจากไหนมาเก็บกักและรักษาเขื่อน
รวมทั้งเรื่องการโซนนิ่งปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่ย่ำอยู่ที่เดิม ทั้งที่กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งตั้งมา 123 ปี แล้วมีโครงการส่งเสริมการเกษตรมากมายนับไม่ถ้วน แต่น่าแปลกใจยิ่งนักที่โครงการส่งเสริมฯ ตลอดเวลากว่าร้อยปีนั้นไม่สามารถจูงใจให้เกษตรกรเห็นดีเห็นงามเปลี่ยนวิถีการผลิตแบบเดิมๆ ตามความชินมาแต่บรรพบุรุษให้หันมาปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่และความต้องการของตลาดแทน
และคงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่ามาตรการต่างๆ ที่นายกรัฐมนตรีไล่บี้ให้ข้าราชการลงไปช่วยเหลือประชาชนในเวลานี้ เป็นเรื่องที่ทำไปเพื่อรอฟ้ารอฝนเท่านั้น และเมื่อถึงปีหน้าก็เหมือนเดิม ถ้าฝนฟ้ามาตามฤดูกาลก็ดีไป แต่ถ้าแล้งซ้ำก็วนๆ กลับมาพูดกันอย่างเดิมๆ อีก
ผลกระทบจากภัยแล้งเฉพาะหน้าไม่เพียงแต่มีปัญหาการเกษตร ทำนา ทำไร่ ไม่ได้ ต้องชะลอออกไปอย่างน้อยเดือนหนึ่งหรืออาจจะไม่มีกำหนดหากถึงปลายเดือนกรกฎาคมแล้วฝนยังไม่มาหรือมีฝนน้อยเพียงแค่เติมน้ำในเขื่อนเท่านั้น ในส่วนนาข้าวที่ปลูกกันไปแล้วกว่า 3 ล้านไร่ ใน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็ต้องวัดดวงรอฝนฟ้าประทานจะมาหรือไม่ และจะเกิดความ เสียหายมากน้อยแค่ไหนตามมา ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการประเมินตัวเลขออกมา
ขณะเดียวกัน ในส่วนน้ำกินน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภคบางพื้นที่ก็เริ่มแย่งซื้อน้ำขวด เตรียมถังพลาสติกใหญ่ กักตุนกันไว้แล้ว บางพื้นที่ต้องส่งรถขนน้ำไปแจกจ่ายตามหมู่บ้านซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นจำเจทุกปีที่เกิดวิกฤตภัยแล้ง ไหนจะต้องหาน้ำจืดไล่น้ำเค็มที่จะทะลักเข้ามาอีกด้วย
ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรม สนามกอล์ฟ ก็เริ่มเตรียมสำรองน้ำรับมือวิกฤตกันถ้วนหน้า แค่นี้ก็หนักหนาสาหัสแล้ว
เมื่อข้าวยากหมากแพง ภาคเกษตรมีปัญหา เกิดภาระหนี้สิน แน่นอนเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือชดเชยความเสียหายก็ตามมา ตอนนี้มีเริ่มดังขึ้นแล้วว่าขอชดเชยไร่ละ 3,500 บาท ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ มักจะหงุดหงิดเป็นประจำเมื่อเจอเหตุการณ์เช่นนี้ และมักตอกกลับไปว่าจะให้รัฐบาลไปเอาเงินมาจากไหน ให้กลุ่มนี้ก็ยังเหลือกลุ่มนั้น ข้าวได้ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ฯลฯ ก็อยากได้บ้าง ตามกันมาเป็นพรวน
ต้องยอมรับว่าวิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นลูกโซ่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ออกมาบอกแล้วว่า เศรษฐกิจติดลบ ซึ่งมีผลพวงมาจากปัญหาภัยแล้ง การส่งออกที่ทรุดลง และกำลังลามไปไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สศค. เปิดเผยว่า ในเดือนกรกฎาคมนี้ กระทรวงการคลัง เตรียมประกาศปรับลดประมาณการตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลงจากเดิมที่คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ 3.7% เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันทั้งปัญหาการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและปัญหาภัยแล้ง หลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยอมรับว่า จีดีพีด้านการเกษตรขยายตัวลดลงจากร้อยละ 2.5-3.0 เหลือร้อยละ 1.4 จึงกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมประมาณร้อยละ 0.15
นายกฤษฎา ยังกล่าวถึงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในภาพรวมว่า ติดลบ 2.5% ต่อปี และติดลบ 2.8% ต่อเดือน ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนยังหดตัวต่อเนื่องจากปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ติดลบ 5.4% และรถยนต์นั่งที่ติดลบ 21.1% ต่อปี รายได้ภาคเกษตรที่แท้จริงที่ติดลบ 10.8% ต่อปี
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 65.0 นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว และยางพาราที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อโดยรวมทั่วประเทศยังคงชะลอตัว
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนใน เดือน พ.ค. 2558 ส่งสัญญาณชะลอตัวอยู่บ้าง โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนพฤษภาคม 2558 หดตัวร้อยละ -11.3 ต่อปี นับเป็นการหดตัวครั้งในรอบ 5 เดือน
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค.2558 อยู่ที่ระดับ 85.4 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาภัยแล้งที่กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศโดยเฉพาะภาคเกษตร
สอดคล้องกับเสียงของภาคเอกชน นายธนิต โสรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจและการลงทุน รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 ยังอยู่ในสภาวะทรงตัวค่อนข้างต่ำ และมีโอกาสผันผวนสูง ซึ่งเป็นสาเหตุจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ทั้งนี้คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยทั้งปีจะติดลบ 2-2.5% นอกจากนี้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นคาดว่าจะกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี 0.5% ซึ่งจะทำให้จีดีพีปีนี้โตต่ำกว่า 3% แน่นอน
ทั้งนี้ ผลการส่งออกและการบริโภคที่อ่อนแอ ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต เห็นได้จากสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเกือบทุกกลุ่มอยู่ในช่วงขาลง ทำให้กำลังการผลิตในภาพรวมของภาคอุตสาหกรรม ลดลงจาก 59% เหลือ 53.99%
นอกจากนี้ จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าฯ ยังพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่แน่ใจกับภาวะเศรษฐกิจ และยังคงไม่มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลังอาจยังคงไม่มีการลงทุนเพิ่มมากนัก ซึ่งจะทำให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ค่อนข้างต่ำ โดยปีนี้อาจขยายตัวเพียง 2.7% เทียบกับปีที่ผ่านมาติดลบ 2%
ณ เวลานี้มีแต่ข่าวร้ายสำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อย่างนี้ต้องขอแรงใจจาก “ติ่งคสช.” แห่นางแมวขอฟ้าฝนช่วยลูกช้างด้วยเถิด