xs
xsm
sm
md
lg

โพลห่วงภัยแล้งฉุดศก. ในหลวงตั้งศูนย์ฝนหลวงพิเศษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งศูนย์ฝนหลวงพิเศษ ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดเชียงใหม่ สวนดุสิตโพลชี้ ประชาชนห่วงภัยแล้งลุกลาม จี้นายกฯ รีบส่งเจ้าหน้าที่ลงไปดูแล ให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้งด่วน พร้อมเร่งทำฝนหลวง เจาะบ่อบาดาล ขณะที่ "นิด้าโพล" ระบุภัยแล้งเกิดขากป่าถูกทำลายจนเป็นภูเขาหัวโล้น แนะเร่งทำฝนหลวง ช่วยเติมน้ำเหนือเขื่อน ขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎรที่ขาดแคลนน้ำในการอุปโภค บริโภค และทำการเพาะปลูก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดตั้งศูนย์ฝนหลวงพิเศษขึ้นในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ ฐานปฏิบัติการสนามบินจังหวัดนครสวรรค์ รับผิดชอบปฏิบัติการฝนหลวงในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา และฐานปฏิบัติการสนามบินจังหวัดเชียงใหม่ รับผิดชอบปฏิบัติการฝนหลวงในเขตภาคเหนือ โดยให้นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฝนหลวงพิเศษ ด้วยการดำเนินงานที่ สอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกัน ประโยชน์ของฝนหลวงนั้นจะเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน ทั้งยังเพิ่มพื้นที่ในการทำการเกษตร และระบบผลิตน้ำประปา โดยพระบาทสมด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เคยพระราชทานแนวทางการแก้ไขวิกฤติภัยแล้งเมื่อปี 2542

***โพลห่วงภัยแล้งกระทบเศรษฐกิจ

จากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ ส่งผลกระทบอย่างหนักโดยเฉพาะพื้นที่การเกษตร เนื่องจากสภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไป ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ทางรัฐบาลจึงต้องเตรียมการรับมือ และเร่งแก้ปัญหา เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่อาจส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,252 คนระหว่าง วันที่ 23-27 มิ.ย.58 สรุปผลได้ ดังนี้

1. ประชาชนคิดอย่างไร กับสถานการณ์ภัยแล้ง ณ วันนี้ อันดับ 1เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบในทุกๆด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจ การเกษตรและอุตสาหกรรม 77.24% อันดับ 2รู้สึกเป็นห่วง กังวล กลัวไม่มีน้ำใช้ น้ำขาดแคลน ไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค 76.12% อันดับ 3เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ธรรมชาติถูกทำลายและเสื่อมโทรมอย่างมาก 72.52% อันดับ 4 สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ภาครัฐควรหาทางป้องกันแก้ไขโดยเร็ว 64.14% อันดับ 5 เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน มีความตระหนักและใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม 53.35%

2. ประชาชนคิดว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาภัยแล้ง ณ วันนี้ คือ อันดับ 1 ฝีมือมนุษย์ การตัดไม้ทำลายป่า บุกรุกที่ดิน เผาป่า86.26% อันดับ 2 การเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล 80.83% อันดับ 3การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เช่น โรงงาน ตึก อาคาร ที่มีมากขึ้น 78.12% อันดับ 4 กฎหมายไม่ชัดเจน บทลงโทษไม่รุนแรง เจ้าหน้าที่ไม่เอาจริงเอาจัง 75.08% อันดับ 5 การบริหารจัดการน้ำยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร 69.89%

3. วิธีการ-แนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เป็นรูปธรรม คือ อันดับ 1การทำฝนหลวง ฝนเทียม 79.95% อันดับ 2 ขุดเจาะน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาลมาใช้ 78.91% อันดับ 3 จัดการวางแผนการใช้น้ำที่ดี บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ 67.01% อันดับ 4 สร้างเขื่อน อ่างเก็บกักน้ำ62.86% อันดับ 5 การบังคับใช้กฎหมาย มีมาตรการควบคุมดูแลและบทลงโทษเด็ดขาด 56.15%

4. ในฐานะที่เป็นคนไทย จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ คือ อันดับ 1ใช้น้ำและทรัพยากรต่างๆอย่างคุ้มค่า ประหยัด 74.12% อันดับ 2 ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ 71.49% อันดับ 3 ปลูกฝังให้ลูกหลานมีจิตสำนึก ตระหนัก รักและใส่ใจธรรมชาติ68.77% อันดับ 4 ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ช่วยเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแลช 66.21% อันดับ 5 ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุที่ทำจากธรรมชาติและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 54.39%

5. สิ่งที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาภัยแล้ง คือ อันดับ 1 ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปดูแลและให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยอย่างเร่งด่วน 84.19% อันดับ 2 จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือ เยียวยาหรือจัดซื้ออุปกรณ์และสิ่งจำเป็นต่างๆอย่างทั่วถึง 82.59% อันดับ 3 มีมาตรการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้น-ระยะยาว ที่เข้มงวด ชัดเจนและตรงจุด 79.71% อันดับ 4 การรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือจากประชาชนในการแก้ปัญหาภัยแล้ง65.73% อันดับ 5 ทั้งภาครัฐ เอกชนและท้องถิ่นจะต้องประชุม หารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจน63.42%

6. สิ่งที่ประชาชนอยากฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณี ปัญหาภัยแล้ง คือ อันดับ 1 สั่งการและมอบหมายให้กระทรวง หน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการอย่างรวดเร็ว82.11% อันดับ 2 ใช้กองกำลังทหารลงพื้นที่ เข้าไปดูแลช่วยเหลือประชาชน76.28%

อันดับ 3 ให้ความสำคัญและดูแลพี่น้องเกษตรกรไทยเป็นพิเศษ 73.72% อันดับ 4 เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง 60.30% อันดับ 5 จัดตั้งหน่วยงานที่ศึกษาดูแลเรื่องนี้โดยตรง การเฝ้าระวัง ติดตามสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการเรื่องน้ำที่ดี 59.74%

**นิด้าโพลชี้แล้งเพราะภูเขาหัวโลัน

นิด้าโพล ร่วมกับคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง“ปัญหาภัยแล้งปี 2558”ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25 -26 มิ.ย. จากประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.96 ระบุ สาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบัน และส่งผลต่อวิกฤติปริมาณน้ำในเขื่อน และวิกฤติการเพาะปลูกในพื้นที่การเกษตร เกิดจากป่าถูกทำลายไปกว่า 26 ล้านไร่ จนเกิดภูเขาหัวโล้น และทำให้ไม่มีฝน รองลงมา ร้อยละ 36.80 ระบุว่า เกิดจากปรากฏการณ์ เอลนิโญ ที่ทำให้เกิดร้อนแล้งไปทั่วภูมิภาค และร้อยละ 11.44 ระบุว่า เกิดจากกรมชลประทานไม่ใส่ใจคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อน ที่ไม่เพียงพอกับภาคการเกษตร
อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์เฉพาะกลุ่มเกษตร ส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.58 ระบุเช่นกันว่า เกิดจากป่าถูกทำลายไปกว่า 26 ล้านไร่ จนเกิดภูเขาหัวโล้น และทำให้ไม่มีฝน รองลงมาร้อยละ 43.58 ระบุ เกิดจากปรากฏการณ์ เอลนิโญ ที่ทำให้เกิดร้อนแล้งไปทั่วภูมิภาค

ทั้งนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเร่งด่วนเฉพาะหน้าขณะนี้ ในภาพรวมประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.20 ระบุว่า ควรระดมทำฝนหลวงเพื่อเติมน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ รองลงมา ร้อยละ 28.72 ระบุว่า ควรขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด และ ร้อยละ 27.44 ระบุว่า ควรเจาะน้ำบาดาลมาใช้เพิ่ม เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และเมื่อวิเคราะห์เฉพาะกลุ่มเกษตรกร พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 56.88 ระบุว่า ควรระดมทำฝนหลวงเพื่อเติมน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ รองลงมา ร้อยละ 28.44 ระบุว่า ควรเจาะน้ำบาดาลมาใช้เพิ่มเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และร้อยละ 22.48 ระบุว่า ควรขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด.
กำลังโหลดความคิดเห็น