ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากที่เปิดโอกาสให้มีการเสนอความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งข้อเสนอแนะในการปรับแก้ ร่าง รัฐธรรมนูญร่างแรก จากฝ่ายต่างๆ ทั้ง คณะรัฐมนตรี สภาปฏิรูปแห่งชาติ พรรคการเมือง นักวิชาการ รวมทั้งภาคประชาชน มาพอสมควรแก่เวลา
ขณะนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กำลังอยู่ระหว่างการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ จากร่างแรก ให้เป็นร่างที่จะใช้จริง โดยมีการพิจารณารายมาตรา เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา และมีกำหนดส่งร่าง รัฐธรรมนูญ ร่างสุดท้ายให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่เกินวันที่ 22 สิงหาคม 2558 เพื่อนำไปพิจารณา ก่อนลงมติว่าจะให้ผ่าน หรือไม่ผ่าน
แม้การจะอยู่ในช่วงของการพิจารณาที่ยังไม่เรียบร้อย แต่ก็มีการส่งสัญญาณออกมาจากคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เป็นระยะๆ ว่าตามที่มีการท้วงติงมานั้น จะมีการปรับแก้เรื่องใดบ้าง และเรื่องใดจะยังคงไว้
อันดับแรก ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน ซึ่งแต่เดิมคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เห็นว่า พระมหากษัตริย์ต้องอยู่คู่กับประชาชน แต่ทางคณะรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วย เสนอให้ตัดคำว่าพระชาชนออก ซึ่งคาดว่า คณะกรรมาธิการยกร่าง คงต้องเห็นคล้อยตาม
สำหรับในหมวดนี้จะมีการปรับแก้น้อยมาก น่าจะมีเพียงประเด็นเดียว คือเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่ต้องปรับให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557
จากเดิมที่กำหนดว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณจะต้องกระทำต่อหน้าพระพักตร์ แก้เป็น กระทำต่อพระมหากษัตริย์ หรือผู้ที่ทรงโปรดเกล้าฯให้เป็นผู้แทนพระองค์ หรือรัชทายาทที่ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว
ประเด็น ที่บรรดานักการเมือง พรรคการเมืองแสดงความเห็นคัดค้านกันมากคือ เรื่องเกี่ยวกับกติกาการเลือกตั้งในภาพรวม ก็จะมีการปรับแก้เช่นกัน โดยจะยังคง ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม เพียงแต่ปรับเปลี่ยนจำนวนส.ส.เขต จากเดิมที่จะมีส.ส.เขตได้ 250 คน ก็เปลี่ยนเป็น 300 ส่วน
ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 200 คนเหลือ 150 คน และให้มีบัญชีเดียว สำหรับระบบโอเพ่นลิสต์ ยังไม่ตัดทิ้ง จะชะลอไว้ยังไม่นำมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ โดยจะนำไปเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล ว่าจะใช้ต่อเมื่อมีการลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว
ให้มีการตัดกลุ่มการเมืองที่สามารถส่งผู้สมัครส.ส.ได้ ทิ้งไป โดยจะไปปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการตั้งพรรคการเมืองให้มีการตั้งพรรคการเมืองง่ายขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา จากเดิมที่จะมาจากการสรรหา และเลือกตั้ง ก็จะให้มาจากการสรรหาอย่างเดียว แต่จะมีการลดอำนาจลง โดย ร่างเดิมนั้น ส.ว.จะมาจากหลายทาง คือ 1 . มาจากการเลือกกันเอง ของอดีตปลัดกระทรวง และอดีตข้าราชการ ฝ่ายทหารที่เคยดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือ ผู้บัญชาการ เหล่าทัพ ประเภทละไม่เกินสิบคน 2. มาจากผู้แทนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรืออาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้ง ซึ่งเลือกกันเอง จำนวนไม่เกินสิบห้าคน 3. มาจากผู้แทนองค์กรด้านเกษตรกรรม ด้านแรงงาน ด้านวิชาการ ด้านชุมชน และด้านท้องถิ่น
ซึ่งเลือกกันเอง จำนวนไม่เกินสามสิบคน 4. มาจากการสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรม ด้านต่างๆ (เช่น ด้านการเมือง เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และสังคม เป็นต้น) จำนวนห้าสิบแปดคน 5. มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งคน โดยเป็นการเลือกจากรายชื่อที่ได้รับการคัดกรองมาแล้วจากคณะกรรมการกลั่นกรอง
สำหรับในเรื่องอำนาจหน้าที่นั้น เดิมนอกจากเป็นสภากลั่นกรองกฎหมายแล้วยังให้มีอำนาจในการเสนอกฎหมาย และถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย แต่ที่กรรมาธิการยกร่างฯจะลดอำนาจลงนั้น ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า จะลดในส่วนใดลงบ้าง
เรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จากเดิมจะให้มีหน้าที่เพียงกำกับดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนการดำเนินการเลือกตั้ง จะให้มีการตั้ง "คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง" หรือ กจต. ขึ้นมาดำเนินการแทนนั้น ก็จะยังคงอำนาจหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งไว้ที่ กกต.เหมือนเดิม
ส่วนเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี กรรมาธิการยกร่างจะยังคงหลักการ เรื่องนายกฯคนนอกเหมือนเดิม เพียงแต่แก้ไขในรายละเอียดคือ กรณีที่เป็นนายกฯคนนอก จะต้องใช้เสียงสองในสามของสภา โดยจะปรับปรุงจากเดิมที่เขียนว่า ในกรณีนายกฯคนนอก แม้จะได้รับเสียงไม่ถึง สองในสาม ถ้าพ้น 30 วันแล้ว ให้เสียงข้างมากได้ ก็จะเขียนให้รัดกุมขึ้นว่า ถ้าเป็นนายกฯคนนอก ยังต้องใช้เสียงสองในสาม เหมือนเดิม
ยังมีอีก 2 มาตรา ที่มีการพูดถึงกันมาก คือมาตรา 181 และ มาตรา 182 ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการให้อำนาจนายรัฐมนตรีมากเกินไป จนอาจจะนำไปสู่การเป็นเผด็จการรัฐสภาได้
สาระสำคัญของมาตรา 181 คือ ให้นายกรัฐมนตรีสามารถยื่นเรื่องเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่าจะไว้วางใจให้นายกฯทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินต่อไปหรือไม่ โดยหาสภาลงมติไว้วางใจนายกฯไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.ในสภา นายกฯไม่จำเป็นต้องออกจากตำแหน่ง แต่สามารถใช้วิธียุบสภาแทนได้ อีกทั้งถ้านายกฯเสนออภิปรายไว้วางใจตัวเองแล้ว ในสมัยประชุมนั้น ฝ่ายค้านจะไม่สามารถยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้อีก
ส่วนมาตรา 182 มีใจความสำคัญตรงที่ให้อำนาจนายกฯ เสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภาด้วยการอ้างถึงความจำเป็นของการบริหารราชการแผ่นดินได้ และหากส.ส.ไม่ยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ภายใน 48 ชั่วโมง จะเท่ากับว่า สภาได้เห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยในมาตรา 182 นี้มีการเกรงกันว่า นายกฯอาจจะใช้อำนาจในการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม จนทำให้บ้านเมืองวุ่นวายซ้ำรอยเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ในสองมาตรานี้ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ยอมตัดมาตรา 182 ทิ้ง แต่ยังคงมาตรา 181 ไว้ โดยมีการปรับปรุงให้นายกฯยังคงเสนออภิปรายไว้วงางใจตัวเองได้ แต่ไม่ตัดสิทธิฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมนั้น
เรื่องการยุบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามร่างเดิมที่มีเสียงคัดค้านจะทั้งสองหน่วยงาน ก็จะไม่ยุบรวมเข้าด้วยกันแล้ว เพียงแต่จะพิจารณา ปรับปรุงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ เกี่ยวกับเนื้องานที่มีความซ้ำซ้อนกันอยู่
ในภาค 4 การปฏิรูปและการปรองดอง ที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ นำมาบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อต้องการให้มีหลักประกันว่า แนวทางการปฏิรูป ปรองดอง ตามที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้ดำเนินการไว้จะได้รับการสานต่อจากรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากว่าถ้านำไปไว้ในกฎหมายลูก หรือ พ.ร.บ.เหมือนกฎหมายทั่วไป ก็จะมีการแก้ไขง่ายกว่า การบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากเช่นกัน ถึง ความซ้ำซ้อน และเกรงว่าเป็นการหมกเม็ดไว้เพื่อสืบทอดอำนาจ
ปัญหานี้มีข้อเสนอจากทางคณะรัฐมนตรี ให้ยุบคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดอง มารวมกับ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและเสริมสร้างความปรองดอง แล้วให้นำรายละเอียดทั้งหมดไปอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็ได้รับไว้พิจารณาทบทวน ว่า จะคงอำนาจหน้าที่เหมือนที่เคยบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไปใส่ไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแทนหรือไม่ เพื่อให้มีการอ่อนตัว และปรับแก้ได้ง่ายกว่าการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสถานะของสภาขับเคลื่อนฯ ที่มีการตั้งขึ้นใหม่ ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ว่าจะซ้ำซ้อนกับสภาขับเคลื่อนฯ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือไม่ และ ควรกำหนดบทบาท หน้าที่อย่างไร เพื่อให้เกิดความชัดเจน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา สมาชิกสภาปฏิรูป ได้มีการประชุมสัมมนากันเป็นการภายใน ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ได้มีข้อสรุปอย่างกว้างๆว่า จะมีการปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูป 7 ประเด็น คือ 1. ปฏิรูปกลไกภาครัฐ การบริหารราชการแผ่นดิน 2. ปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่เหมาะสมกับสังคมไทย 3. ปฏิรูปการมีกฎหมาย และใช้กฎหมายอย่างเป็น ธรรม 4. ปฏิรูประบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม 5. ปฏิรูปกลไกป้องกันและขจัดการทุจริต คอร์รัปชัน 6. ปฏิรูประบบรองรับอนาคตประเทศไทย
และ 7. ปฏิรูปเพื่อสร้างคนไทยใหม่
โอกาสนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คนที่ 1 และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้เปิดเผยความในใจ ถึงการทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ว่าถูกกดดันจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะจากคณะรัฐมนตรี ที่กรรมาธิการยกร่างต้องรับฟัง และให้ความสำคัญมากที่สุด ความพร้อมเรียกร้องให้สมาชิกสภาปฏิรูปฯรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย
หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็จะทำให้แนวทางการปฏิรูปที่สมาชิกสภาปฏิรูปทำมาทั้งหมด ต้องเสียของไปด้วย และอาจจะถูกนำผลงานของสปช.ไปเป็นของ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ 200 คน ซึ่งจะทำให้สภาปฏิรูปที่ตั้งใจทำงานมาหมดความภาคภูมิใจไป
"วันนี้พวกผม 36 คน เป็นเหมือนแซนวิช โดนกระกบทั้ง ครม. และ สปช. เราอยู่ตรงกลาง ก็ต้องทำงานตามหน้าที่ให้ดีที่สุด ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน พวกเราก็จบด้วยกัน ผมก็ยอมรับ แต่ถ้าไม่ผ่านเพราะมีบางคนไปหวังกับขนม 200 ชิ้น เราจะมีศักดิ์ศรีกันหรือไม่ เพราะพวกเรา สปช. ได้รับการโปรดเกล้าฯ เข้ามาทำงาน ไม่ใช่สภาขับเคลื่อนฯ ที่มาจากการแต่งตั้งของคนเพียงคนเดียว ผมขอย้ำว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้ทำให้ คสช. หรือครม. แต่ทำให้ประชาชน สปช.เราทำหน้าที่เป็นเพียงแค่บุรุษไปรษณีย์ และส่งไปให้ประชาชน เพื่อลงประชามติ ว่าจะเอา หรือไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ "
นั่นเป็นคำขอร้อง ขอความเห็นใจ จากนายบวรศักดิ์ ถึงสมาชิกสภาปฏิรูปฯ