กกต.แถลงครบรอบ 17 ปี วิสัยทัศน์ “การเลือกตั้งคุณภาพโดยพลเมืองคุณภาพ” ประธาน กกต.เผยนำข้อเสนอ 8 ประเด็นให้ กมธ.ยกร่างฯ พิจารณา ถามกลับที่ร่างออกมาตอบโจทย์แก้ทุจริตเลือกตั้งหรือไม่ ยันที่ผ่านมาไม่บกพร่อง เลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ใช่ความผิดของ กกต. “สมชัย” เตือนแนวทางกลุ่มการเมือง-กจต.-ลดอำนาจ กกต. แก้ไม่ได้เลย ส่วนเรื่องประชามติรัฐบาลอยู่ต่อ 2 ปี ให้ ครม.ไปคิดเอง
วันนี้ (8 มิ.ย.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ร่วมกันแถลงข่าวเนื่องในโอกาสครบรอบ 17 ปี วันสถาปนาสำนักงาน กกต. ภายใต้วิสัยทัศน์ “การเลือกตั้งคุณภาพโดยพลเมืองคุณภาพ”
โดยนายศุภชัยกล่าวว่า กกต.กำลังเข้าสู่ปีที่ 17 ถือเป็นวัยรุ่นที่มีประสบการณ์จัดการเลือกตั้งมาทุกระดับ หลังจากวันที่ 22 พ.ค. 2557 แม้จะไม่มีการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในทุกด้านที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กกต. มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในอำนาจของ กกต.เพื่อให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แม้ยังไม่นิ่งแต่ กกต.ก็ไม่ประมาท รวมทั้งยังได้ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังดำเนินการอย่างใกล้ชิด และได้มีข้อเสนอ 8 ประเด็นไปยังรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่ง กกต.หวังว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะนำข้อเสนอทั้ง 8 ประเด็นไปพิจารณาใคร่คราวญอย่างรอบคอบ
“ต้องบอกให้ได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญที่พวกท่านกำลังร่างจะตอบโจทย์แก้ไขปัญหาการทุจริตเลือกตั้งได้หรือไม่ เพราะเห็นว่าองค์กรที่ต้องถูกปรับปรุงคือองค์กรที่ทำหน้าที่อย่างบกพร่อง แต่ กกต.ไม่มีความบกพร่องแต่อย่างใด การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557 ก็ไม่ใช่ความผิดของ กกต. หากแต่มาจากวิกฤตทางการเมือง โดยผู้ใหญ่ในสังคมก็มีความเห็นลักษณะนี้ แต่ทั้งนี้ไม่ว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะบัญญัติอย่างไร กกต. พร้อมปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายทุกประการ ไม่ต้องกังวลว่าเราจะทำงานไม่ได้” นายศุกชัยกล่าว
ด้านนายสมชัยกล่าวว่า การเลือกตั้งคุณภาพจะประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 1. ปัจจัยนำเข้า ที่ประชาชนมีจิตสำนึกการเมืองและพลเมืองในการตัดสินใจเลือกผู้แทนอย่างมีเหตุผล นักการเมืองต้องมีจิตสาธารณะเข้าใจการบริหารราชการแผ่นดิน และพรรคการเมืองต้องพัฒนาเป็นสถาบันไม่ใช่ของคนใดหรือตระกูลใด 2. กระบวนการในการรจัดการเลือกตั้งที่มีคุณภาพ ปรับปรุงกฎหมายให้การเลือกตั้งโปร่งใส สุจริตและเที่ยงธรรม รวมทั้งพัฒนาระบบสืบสวนสอบสวนไม่ให้ผู้ทุจริตใช่ช่องว่างทางกฎหมายเข้าสู่ระบบการเมือง 3. ผลผลิต ที่การเลือกตั้งต้องเป็นที่ยอมรับได้คนดีมีความรู้ความสามารถถเข้ามาบริหารประเทศ และ 4. ผลลัพธ์ คือได้นักการเมืองที่ไม่เข้ามาสร้างปัญหาบ้านเมือง ทำให้การเมืองไทยพัฒนาเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ไม่เกิดการชุมนุมประท้วงที่จะนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร
ส่วนประเด็นการปฏิรูปการเมืองจะเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาเราถือว่าการออกแบบเป็นเรื่องของคนที่มีส่วนได้เสีย จึงพยายามชี้แต่ปัญหาในเชิงเทคนิคเท่านั้น แต่วันนี้ครบ 17 ปี และโอกาสในการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญยังมีอยู่ จึงมี 3 เรื่องที่คิดว่าฝ่ายกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องไปคิดว่าจะเลือกแนวทางนี้ใช่หรือไม่ 1. กลุ่มการเมือง ไม่เพียงก่อปัญหาในเชิงเทคนิค แต่จะให้การเมืองขาดเสถียรภาพ การลงมติจะทำตามใจชอบ อาจมีการเรียกรับประโยชน์ ซึ่งจะทำให้การเมืองถอยหลังไป 30-40 ปี 2. การมี กจต.ที่มาจากการแต่งตั้งของปลัดกระทรวง ท้ายสุดจะถูกครอบงำจากฝ่ายการเมือง การเลือกตั้งจะอยู่ในมือของนักการเมือง และ 3. การให้ กกต.มีอำนาจแค่สั่งเลือกตั้งใหม่หรือใบเหลืองก่อนประกาศรับรองผล เป็นการออกแบบกลไกที่ไม่สามารถแก้ปัญหาทุจริตได้เลย เพราะจากสถิติคนที่ถูกให้ใบเหลือง 100 เปอร์เซนต์ จะได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามา นักการเมืองที่ทุจริตจะไม่เกิดความเกรงกลัวใดๆ
“เราอยากจะเห็นการเมืองไทยพัฒนาไปในทางที่ดี ไม่ได้ห่วงว่าจะได้ทำไม่ได้ทำ แต่ห่วงว่าที่ยกร่างมานั้น มันจะเป็นผลดีกับการเมืองไทยจริงหรือเปล่า” นายสมชัยกล่าว
ทั้งนี้ นายสมชัยยังได้ตอบคำถามกรณีข้อเสนอให้มีการทำประชามติเพื่อให้รัฐบาลควรอยู่บริหารประเทศต่ออีก 2 ปี จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ขณะนี้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยกาารทำประชามติ ปี 2552 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ซึ่งกำหนดว่า รัฐบาลสามารถขอให้มีการทำประชามติเพื่อหาข้อยุติหรือเพื่อปรึกษาหารือ หากรัฐบาลต้องการทำประชามติในลักษณะใดก็สามารถขอให้ กกต. ดำเนินการได้ แต่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการทำประชามติ ปี 2552 ก็เขียนเชื่อมโยงมาจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ระบุห้ามมีการทำประชามติเกี่ยวกับเรื่องบุคคลหรือคณะบุคคล ซึ่งเกิดคำถามว่าขณะนี้ไม่มีรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ใช้บังคับอยู่ แล้วจะทำประชามติได้หรือไม่
“แนวทางคือคณะรัฐมนตรีต้องเป็นฝ่ายคิดเอาเองว่า คำถามประเภทใดที่สามารถทำประชามติได้ ถ้าถามผม ว่าทำประชามติได้หรือไม่ ตอบเพียงว่าให้ไปคิดเอง” นายสมชัยกล่าว
เมื่อถามต่อว่า สามารถทำประชามติในประเด็นดังกล่าวพร้อมกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า การทำประชามติไม่จำเป็นต้องมีคำถามเดียว ตนเห็นด้วยว่าหากมีคำถามอะไรก็ควรถามไปพร้อมกัน ในเชิงเทคนิคไม่มีปัญหา แต่จะเหมาะสมหรือไม่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดเอง สิ่งที่ กกต.ทำได้คือถ้าเห็นว่าคำถามนั้นไม่เป็นกลางหรือชี้นำ กกต.ก็สามารถให้ข้อสังเกตหรือข้อปรับปรุงได้ แต่ กกต.ไม่สามารถบอกได้ว่าถามได้หรือไม่
ด้านนายประวิชกล่าวเสริมว่า ขณะนี้พูดเรื่องการทำประชามติบนพื้นฐานของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ปี 2552 แต่ถ้าย้อนกลับไปในการทำประชามติรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เวลานั้นก็มี พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ปี 2541 ใช้บังคับอยู่ รัฐบาลขณะนั้นก็ไม่มีการนำมาใช้ แต่กลับมีการออกประกาศคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ออกระเบียบเกี่ยวกับการทำประชามติ ดังนั้น การทำประชามติอาจมีการปรับเปลี่ยนบริบท จึงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันคิด