xs
xsm
sm
md
lg

กฎเกณฑ์และความปรารถนาของมนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเป็นเรื่องปกติวิสัยของสังคมมนุษย์ เพราะในช่วงเวลาหนึ่งมนุษย์กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ตามความต้องการในขณะนั้น โดยใช้สติปัญญาพิเคราะห์ว่ากฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นมาจะสามารถตอบสนองความปรารถนาของพวกเขาได้มากน้อยเพียงใด

ครั้นเมื่อมนุษย์ได้นำกฎเกณฑ์ไปปฏิบัติ พวกเขาก็เผชิญกับประสบการณ์ที่หลากหลาย กฎเกณฑ์บางอย่างมีสมรรถนะสูง สามารถทำให้ความปรารถนาของพวกเขาได้บรรลุเป้าหมาย แต่กฎเกณฑ์บางอย่างกลับไร้ประสิทธิภาพและไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ยิ่งกว่านั้นกฎเกณฑ์บางอย่างกลับกลายเป็นอุปสรรคและไปทำลายความปรารถนาในตอนเริ่มต้นของพวกเขาเสียเอง

ความปรารถนาของมนุษย์มิได้มีความหยุดนิ่ง หากแต่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความเปลี่ยนแปลงความปรารถนาอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงความคิดและวิธีการมองความเป็นจริงของมนุษย์ หรืออาจเกิดจากแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกที่เป็นภววิสัย อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม และปัจจัยภายนอกที่เป็น “อัตวิสัยร่วม” อันได้แก่ ความปรารถนาของผู้อื่นทั้งที่อยู่ใกล้ตัวและไกลตัว

เมื่อพบว่ากฎเกณฑ์ที่พวกเขาสร้างขึ้นในตอนแรกไม่มีพลังความสามารถในการทำให้บรรลุทั้งความปรารถนาดั้งเดิมและความปรารถนาใหม่ที่ผุดขึ้นมา มนุษย์บางพวกที่มีความคิดแบบสมเหตุสมผลก็มีแนวโน้มที่จะปรับปรุงแก้ไข และเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เดิมเสีย หรือบางทีก็ยกเลิกกฎเกณฑ์เดิมและสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นมาใช้แทน

แต่ก็มีมนุษย์บางจำพวกยึดติดกับกฎเกณฑ์เดิมอย่างเหนียวแน่น สร้างความเชื่อที่ทำให้กฎเกณฑ์เดิมกลายเป็นสิ่งศักดิ์ที่ใครแตะต้องไม่ได้ ทั้งที่กฎเกณฑ์เหล่านั้นไร้สมรรถนะอย่างสิ้นเชิงแล้วในการตอบสนองความปรารถนาของพวกเขาและกลุ่มทางสังคมที่พวกเขาสังกัด ความยึดติดเยี่ยงนี้ย่อมนำไปสู่การถดถอย และยิ่งทำให้ให้ความปรารถนาของพวกเขายากแก่การบรรลุยิ่งขึ้น

ที่กล่าวมาก็เพื่อจะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เป็นเรื่องปกติของสังคมมนุษย์ มีอยู่ตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ และจะมีต่อไปในอนาคตตราบเท่าที่มนุษย์ยังดำรงอยู่

ย้อนกลับมาดูการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้นเร็วๆนี้โดยคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจที่บริหารสังคมในปัจจุบัน ลงมติเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 รวม 7 ประเด็น พวกเขามีความปรารถนาอะไรกันบ้าง ลองมาพิจารณาทีละประเด็น

ประเด็นแรก แก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิก สนช. จากที่ห้ามผู้เคยถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งให้เป็นผู้ที่ไม่อยู่ระหว่างการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง

การแก้กฎเกณฑ์ในข้อนี้แสดงให้เห็นว่าความปรารถนาของผู้บริหารประเทศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ประสงค์จำกัดกลุ่มบุคคลบางกลุ่มในการเข้าร่วมแวดวงการบริหารประเทศ เป็นการขยายออกให้กว้างขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทำให้บุคคลบางคนที่เคยติดขัดปัญหาว่าเคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสามารถเข้าบริหารประเทศได้ นัยที่แฝงอยู่คือความต้องการนำบุคคลที่เคยถูกเพิกสิทธิเข้าร่วมวงในการบริหารประเทศนั่นเอง

ประเด็นที่สอง แก้ไขเพิ่มเติมให้บุคคลผู้เข้ารับตำแหน่งถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อองค์รัชทายาทตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประเด็นนี้เป็นการแก้ไขตามเงื่อนไขความเป็นจริงตามสภาวะสุขภาพขององค์พระประมุขประเทศ

ประเด็นที่สาม ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาและลงมติเห็นชอบขยายเวลาการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ไม่เกิน 30 วัน ประเด็นนี้แก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะว่ามีการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนับร้อยประเด็น ซึ่งอาจทำให้คณะกรรมาธิการต้องใช้เวลาในการทำงานมากขึ้น

ประเด็นที่สี่ สำหรับร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบจาก สปช.แล้ว ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนำส่งให้ กกต.จัดออกเสียงประชามติ โดยออกประกาศกำหนดทั้งเงื่อนไขและกรอบเวลาผ่านการพิจารณาของ สนช.

ประเด็นนี้เป็นการตอบสนองความปรารถนาของกลุ่มทางสังคมที่ต้องการให้มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขประเด็นนี้อาจไม่ค่อยสมเหตุสมผลมากนัก เพราะการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาซับซ้อน สับสนยากแก่ความเข้าใจ และขัดแย้งกันเอง ย่อมไม่นำไปสู่การการสร้างผลลัพธ์ที่ดีแก่สังคมได้

ประเด็นที่ห้า คำถามของประชามติ นอกจากคำถามเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้มีคำถามจากมติของ สปช.และ สนช. สภาละ 1 คำถาม และกำหนดให้จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแจกจ่ายอย่างน้อย ร้อยละ 80 ของครัวเรือน

การแก้ประเด็นนี้เป็นการตอบสนองความปรารถนาของสังคม เพื่อให้มีการกำหนดคำถามที่เชื่อมโยงกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หากประชาชนส่วนใหญ่ลงมติเห็นชอบให้พลเอกประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศก่อนให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็จะทำให้พลเอกประยุทธ์มีความชอบธรรม และสามารถอ้างกับต่างชาติได้ว่าเป็นประชาธิปไตยและประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุน

ประเด็นที่หก เมื่อ สปช.ลงมติร่างรัฐธรรมนูญแล้วให้ถือว่าสิ้นสุดหน้าที่ลง โดยกำหนดให้ตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศรวม 200 คน จากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีหน้าที่เสนอแนวทางการปฏิรูป แต่ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ในตอนแรกปรารถนาให้ สปช.ทำหน้าที่ต่อไปในระยะหนึ่ง แต่เปลี่ยนความคิดเป็นให้ยุบสปช.ทันทีที่ลงมติร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น

การเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้ครองอำนาจในเรื่องนี้อาจมาจาก 2 สาเหตุที่อาจจะขัดแย้งกันเอง สาเหตุแรกคือ ผู้ครองอำนาจประเมินว่า สปช.ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่มีสมรรถนะในการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศได้ มีไว้ก็ไร้ประโยชน์และสิ้นเปลืองงบประมาณของชาติ จึงยุบไปเสีย ส่วนสาเหตุที่สองคือ ผู้ครองอำนาจประเมินว่า พวกเขามิอาจควบคุม สปช. บางคนและบางกลุ่มให้อยู่ในกรอบหรือเส้นทางที่พวกเขาขีดเอาไว้ ครั้นจะปลด สปช.เหล่านั้นก็ดูน่าเกลียดเกินไป จึงต้องหันมาใช้วิธีการแบบปลดทั้งหมด แล้วค่อยตั้งใหม่ขึ้นมา

องค์การที่จัดตั้งขึ้นใหม่แทน สปช. เรียกว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ดังนั้นก็เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่กับผลลัพธ์การทำงานของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในอนาคต

ประเด็นที่เจ็ด
หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบและเป็นเหตุให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ สิ้นสุดลงแล้ว ให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรวม 21 คน โดยมีประธาน 1 คน และกรรมการ 20 คน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายใน 6 เดือน ก่อนจัดให้มีการออกเสียงประชามติ

ประเด็นนี้เป็นการแก้ไขเพื่อเตรียมไว้สำหรับกรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ แต่ก็ยังไม่เตรียมเผื่อเอาไว้ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่สองไม่ผ่านประชามติอีก เป็นไปได้ว่าคณะผู้ครองอำนาจประเมินว่าโอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านครั้งที่สองคงมีน้อย แต่หากถึงเวลานั้นเมื่อมีเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงหรือมีความปรารถนาใหม่เกิดขึ้น ก็อาจมีการแก้ไขกฎเกณฑ์อีกครั้งหนึ่งก็ได้

มนุษย์สร้างกฎเกณฑ์และเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ตามความปรารถนาและเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่กฎเกณฑ์ใหม่ก็เหมือนกับกฎเกณฑ์เก่า คือต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในการนำไปปฏิบัติจริง และอาจจะถูกเปลี่ยนแปลงและแทนที่ด้วยกฎเกณฑ์ที่ใหม่กว่าอยู่เสมอ ซึ่งเป็นธรรมดาของสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์นั่นเอง


เผย 7 ประเด็นร้อน ร่างแก้ รธน.ชั่วคราว ถ้าประชามติ รธน.ไม่ผ่านทำยังไง?
เผย 7 ประเด็นร้อน ร่างแก้ รธน.ชั่วคราว ถ้าประชามติ รธน.ไม่ผ่านทำยังไง?
เปิดร่างแก้ไข รธน. ชั่วคราว 2557 รวม 7 ประเด็น ไฟเขียว สนช. หน้าใหม่เคยโดนแบนเลือกตั้งก็เป็นได้, ให้ถวายสัตย์ต่อรัชทายาท หรือ ผู้แทนพระองค์ได้, ขยายเวลา กมธ.ยกร่างฯ ทำรัฐธรรมนูญ รวมไม่เกิน 90 วัน ให้ สปช. เห็นชอบหรือไม่ใน 3 วัน ถ้าเห็นชอบก็ทำประชามติ สนช.- สปช. มีสิทธิ์เสนอประเด็นเพิ่มได้สภาละ 1 ประเด็น หากประเด็นที่ประชามติเห็นชอบขัดกับ รธน. ให้ กมธ.ยกร่างฯ แก้ไขและชงศาล รธน.วินิจฉัย, สปช. หมดอำนาจทันทีหลังโหวต หัวหน้า คสช. ตั้ง สภาขับเคลื่อนแทน มีสมาชิก 200 ถ้าโหวตผ่านทั้งสปช.และประชามติให้ กมธ.ยกร่างฯ ทำ กม. ลูกต่อ แต่ถ้าร่างถูกคว่ำ ให้ คสช. ตั้ง กก.ร่าง รธน.แทน กมธ .แล้วร่างให้เสร็จใน 180 วัน จึงทำประชามติใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น