โปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๕๘ จำนวน ๙ มาตรา
วันนี้ (15 ก.ค.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๕๘ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๕๘”
มาตรา ๒ รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความใน (๔) ของมาตรา ๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(๔) ไม่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง”
มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคหกของมาตรา ๑๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗
“การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย พระมหากษัตริย์
จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทําต่อพระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้”
มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๗ ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาคําขอแก้ไขเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ครบกําหนดยื่นคําขอแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา ๓๖ วรรคสอง ในการนี้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญได้ตามที่เห็นสมควร ในกรณีที่คําขอแก้ไขเพิ่มเติมมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเป็นจํานวนมากหรืออาจมีผลกระทบต่อโครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ภายในกําหนดเวลาดังกล่าว คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะมีมติให้ขยายระยะเวลาพิจารณาคําขอแก้ไขเพิ่มเติมออกไปได้อีกครั้งหนึ่งซึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นกําหนดเวลาพิจารณาคําขอแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว และให้แจ้งมติขยายระยะเวลาพร้อมเหตุผลให้สภาปฏิรูปแห่งชาติทราบก่อนครบกําหนดเวลานั้นด้วย
เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่งแล้วให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ แล้วให้สภาปฏิรูปแห่งชาติรอไว้สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อพ้นกําหนดนี้แล้ว ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติประชุมเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นทั้งฉบับภายในสามวันนับแต่วันที่ครบกําหนดดังกล่าว ในการนี้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ มิได้ เว้นแต่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้แก้ไขเฉพาะในกรณีพบเห็นข้อผิดพลาดที่มิใช่สาระสําคัญและจําเป็นต้องแก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วน
เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคสอง ให้แจ้งคณะรัฐมนตรีทราบและให้คณะรัฐมนตรีแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบโดยเร็ว โดยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการดําเนินการให้มีการออกเสียงประชามติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ให้นําพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ๒๕๕๒ ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดและบทกําหนดโทษมาใช้บังคับแก่การดําเนินการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญนี้ด้วยการจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ออกเสียงประชามติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นทั้งฉบับ โดยต้องกระทําในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ในการนี้สภาปฏิรูปแห่งชาติหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีมติเสนอประเด็นอื่นใดที่สมควรให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติมพร้อมไปในคราวเดียวกันด้วย สภาละไม่เกินหนึ่งประเด็น ก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอประเด็นดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยกับประเด็นใด ให้แจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดําเนินการให้มีการออกเสียงประชามติสําหรับประเด็นนั้นในคราวเดียวกันกับการจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยในกรณีดังกล่าวนี้ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์การมีมติเสนอประเด็นตามวรรคสี่ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติกระทําในวันเดียวกับการมีมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติภายในสามวันนับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ
ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกําหนดวันออกเสียงประชามติตามวรรคสี่ซึ่งต้องไม่เร็วกว่าสามสิบวันแต่ไม่ช้ากว่าสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติได้ไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของครัวเรือนทั้งหมดที่ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในการออกเสียงประชามติ ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และภายใต้บังคับมาตรา ๓๗/๑ ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีนําร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ และเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและพระราชทานคืนมาหรือเมื่อพ้นกําหนดเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป”
มาตรา ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๗/๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ “มาตรา ๓๗/๑ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติมตามมาตรา ๓๗ วรรคสี่ และเสียงข้างมากของผู้ออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับประเด็นดังกล่าวและมีผลให้บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดําเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ แล้วส่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเป็นการชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ
หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าได้มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าบทบัญญัติใดยังไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติและได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญคืนให้แก่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ดําเนินการแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วซึ่งต้องทําให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัย ให้นายกรัฐมนตรีนําร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต่อไปตามมาตรา ๓๗ วรรคเจ็ด โดยให้นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีได้รับร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมสมบูรณ์แล้ว”
มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๘ และมาตรา ๓๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“มาตรา ๓๘ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นอนสั ิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กําหนด
(๒) สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จตามมาตรา ๓๗ ไม่ว่าจะมีมติเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลา ตามมาตรา ๓๔ หรือเมื่อมีกรณีตาม (๑) หรือเมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นสุดลงด้วย แต่มิให้นํามาตรา ๓๓ วรรคสอง มาใช้บังคับแก่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่พ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุดังกล่าว มาตรา ๓๙ ในกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุดลงโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่สิ้นสุดลง ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเว้นแต่จะมีประชามติไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ในกรณีเช่นนั้น ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงนับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ แต่ในกรณีที่มีประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพื่อจัดทําร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นที่จําเป็นเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้นั้นในกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุดลงโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่สิ้นสุดลงหากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพ้นจากตําแหน่งในระหว่างนั้นไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยให้ถือว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่าที่เหลืออยู่ และให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแทนตําแหน่งที่ว่างโดยเร็ว โดยมิให้นํามาตรา ๓๒ วรรคหนึ่งวรรคสอง และวรรคสามมาใช้บังคับ”
มาตรา ๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๙/๑ มาตรา ๓๙/๒ และมาตรา ๓๙/๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ “มาตรา ๓๙/๑ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง หรือนับแต่วันที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงตามมาตรา ๓๙ หรือนับแต่วันที่ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไปตามมาตรา ๓๗ วรรคแปด แล้วแต่กรณี ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกินยี่สิบคน เพื่อทําหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยให้นํามาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๕ มาใช้บังคับโดยอนุโลมในระหว่างการจัดทําร่างรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรับฟังความคิดเห็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประชาชน ประกอบด้วย ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และภายในกําหนดเวลาที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกําหนดเมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้แจ้งคณะรัฐมนตรีทราบ และให้คณะรัฐมนตรีแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบโดยเร็ว โดยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการดําเนินการให้มีการออกเสียงประชามติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้นํามาตรา ๓๗ วรรคสี่ วรรคห้า วรรคหก วรรคเจ็ด และวรรคแปด มาตรา ๓๗/๑ และมาตรา ๓๙ วรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้อํานาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๙/๒ เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุดลงตามมาตรา ๓๘ มิให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญนี้อีก และให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้นแทนสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อดําเนินการให้เกิดการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ตามมาตรา ๒๗ สืบต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยให้คํานึงถึงความสําคัญเร่งด่วนและความสัมฤทธิผลของการปฏิรูปในระยะเวลาที่เหลืออยู่ และให้นํามาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง (๑) และวรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศประกอบด้วยสมาชิกจํานวนไม่เกินสองร้อยคนซึ่งนายกรัฐมนตรี
แต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี โดยให้แต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายใน
สามสิบวันนับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุดลง
ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเป็นประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนหนึ่งและเป็นรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไม่เกินสองคน ทั้งนี้ตามมติของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้นํามาตรา ๑๓ มาตรา ๑๘ และมาตรา ๒๙ มาใช้บังคับแก่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศโดยอนุโลม แต่การวินิจฉัยตามมาตรา ๙ วรรคสอง ให้เป็นอํานาจของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
มาตรา ๓๙/๓ ให้นํามาตรา ๔๐ และมาตรา ๔๑ มาใช้บังคับแก่ประธาน รองประธานและสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และประธานและกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วยโดยอนุโลม”
มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในวรรคห้าของมาตรา ๔๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ให้นายกรัฐมนตรี
นําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และให้นํามาตรา ๓๗ วรรคแปด มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๕๗ เพื่อกําหนดวิธีการจัดทําประชามติร่างรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติอื่นให้เหมาะสมยิ่งขึ้นจึงจําเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญนี้