xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดร่างแก้ไข รธน.ชั่วคราว 2557

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากที่ประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี(ครม.)และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อให้มีการทำประชามติ ร่าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยให้ดำเนินการหลังจาก สภาปฏิรูปแห่งชาติ มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ได้แถลงถึงประเด็นที่มีการแก้ไขโดยสรุปแล้ว ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา ว่าการแก้ไขครั้งนี้ มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่การทำประชามติ แต่มีนัยยะ แฝงอยู่อีกหลายเรื่อง "ผู้จัดการสุดสัปดาห์" จึงขอถือโอกาสนี้ นำเสนอ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับเต็ม เพื่อให้มีการพิจารณากัน

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....)

หลักการ

แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อกำหนดวิธีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติอื่นให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

เหตุผล

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อกำหนดวิธีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติอื่นให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญนี้

มาตรา 1 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.....”

มาตรา 2 รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความใน (4) ของ มาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(4) ไม่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง”

มาตรา 4 ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็นวรรคหก ของ มาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

“การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายพระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทำต่อพระรัชทายาท ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วหรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้”

มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 37 ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติม ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ครบกำหนดยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 36 วรรคสองในการนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญได้ตามที่เห็นสมควร ในกรณีที่คำขอแก้ไขเพิ่มเติมมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเป็นจำนวนมากหรืออาจมีผลกระทบต่อโครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะมีให้มติขยายเวลาพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมออกไปได้อีกครั้งหนึ่งซึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวและให้แจ้งมติขยายเวลาพร้อมเหตุผลให้สภาปฏิรูปแห่งชาติทราบก่อนครบกำหนดเวลานั้นด้วย

เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ แล้วให้สภาปฏิรูปแห่งชาติรอไว้สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้ว ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติประชุมเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นทั้งฉบับภายในสามวันนับแต่วันที่ครบกำหนดดังกล่าวในการนี้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ มิได้ เว้นแต่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้แก้ไขเฉพาะในกรณีพบเห็นข้อผิดพลาดที่มิใช่สาระสำคัญและจำเป็นต้องแก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วน

เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคสองให้แจ้งคณะรัฐมนตรีทราบ และให้คณะรัฐมนตรีทราบและให้คณะรัฐมนตรีแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบโดยเร็ว โดยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ให้นำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดและบทกำหนดโทษมาใช้บังคับแก่การดำเนินการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญนี้ด้วย

การจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญนี้ให้ออกเสียงประชามติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นทั้งฉบับ โดยต้องกระทำในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ในการนี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีมติเสนอประเด็นอื่นใดที่สมควรให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพิ่มเติมพร้อมไปในคราวเดียวกันด้วย สภาละไม่เกินหนึ่งประเด็นก็ได้ ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอประเด็นดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาหากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยกับประเด็นใด ให้แจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติสำหรับประเด็นนั้นในคราวเดียวกัน กับการจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยกรณีดังกล่าวนี้ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์

การมีมติเสนอประเด็นตามวรรคสี่ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติกระทำในวันเดียวกับการมีมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติภายในสามวันนับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติตามวรรคห้าซึ่งต้องไม่เร็วกว่าสามสิบวันแต่ไม่ช้ากว่าสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติได้ไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของครัวเรือนทั้งหมดที่ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

ในการออกเสียงประชามติ ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และภายใต้บังคับมาตรา37/1 ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมภายในสามสิบวัน นับแต่วันประกาศผลออกเสียงประชามติและเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป”

มาตรา 6 ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็น มาตรา 37/1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

“มาตรา 37/1 ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติมตามมาตรา 37 วรรคสี่ และเสียงข้างมากของผู้ออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับประเด็นดังกล่าว และมีผลให้บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ แล้วส่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าเป็นการชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าได้มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าบทบัญญัติใดยังไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติและได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญคืนให้แก่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการแก้ไขตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต่อไป ตามมาตรา 37วรรคเจ็ด โดยให้นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีได้รับร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมสมบูรณ์แล้ว”

มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 38 และมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 38 ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นอันสิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด

(2) สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จตามมาตรา 37 ไม่ว่าจะมีมติเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม

เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามมาตรา 34 หรือเมื่อมีกรณีตาม (1) หรือเมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นสุดลงด้วย แต่มิให้นำมาตรา 33 วรรคสอง มาบังคับใช้แก่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุดังกล่าว

มาตรา 39 ในกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุดลงโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่สิ้นสุดลง ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเว้นแต่จะมีประชามติไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ในกรณีเช่นนั้น ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงนับแต่วันประกาศผลออกเสียงประชามติ แต่ในกรณีที่มีประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพื่อจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นที่จำเป็นเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้นั้น

ในกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุดลงโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่สิ้นสุดลง หากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งในระหว่างนั้นไม่ว่าด้วยเหตุผลให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทีเหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยให้ถือว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยกรรมาธการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่าที่เหลืออยู่ และให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่างโดยเร็ว โดยมิให้นำมาตรา 32 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาบังคับใช้”

มาตรา 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 39/1 มาตรา 39/2 และมาตรา 39/3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

“มาตรา 39/1 ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง หรือนับแต่วันที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงตามมาตรา 39 หรือนับแต่วันที่ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป ตามมาตรา 37วรรคแปด แล้วแต่กรณี ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกไม่เกินยี่สิบคน เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยให้นำมาตรา 33 และมาตรา 35 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในระหว่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรับฟังความคิดเห็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประชาชน ประกอบด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และภายในกำหนดเวลาที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนด

เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้แจ้งคณะรัฐมนตรีทราบและให้คณะรัฐมนตรีแจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติตามหลักเกณฑ์ วีธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้นำมาตรา 37 วรรคสี่ วรรคห้า วรรคหก วรรคเจ็ด และวรรคแปด มาตรา 37/1 และมาตรา 39 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

มาตรา 39/2 เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุดลงตามมาตรา 38 มิให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญนี้อีก และให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้นแทนสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ ตามมาตรา 27 สืบต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยให้คำนึงถึงความสำคัญเร่งด่วนและความสัมฤทธิผลของการปฏิรูปในระยะเวลาที่เหลืออยู่ และให้นำมาตรา 31 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศประกอบด้วยจำนวนสมาชิกไม่เกินสองร้อยคนซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่ต่ำว่าสามสิบห้าปี โดยให้แต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุดลง

ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเป็นประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนหนึ่งและเป็นรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไม่เกินสองคน ทั้งนี้ ตามมติสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

ให้นำมาตรา 13 มาตรา 18 และมาตรา 29 มาบังคับใช้แก่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศโดยอนุโลม แต่การวินิจฉัยตามมาตรา 9 วรรคสองให้เป็นอำนาจของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

มาตรา 39/3 ให้นำมาตรา 40 และมาตรา 41 มาใช้บังคับแก่ประธาน รองประธาน และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และประธาน และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วยโดยอนุโลม”

มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในวรรคห้าของ มาตรา46 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ให้นายกรัฐมนตรี นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเพื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยและเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและให้นำมาตรา 37 วรรคแปด มาบังคับใช้โดยอนุโลม”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี


กำลังโหลดความคิดเห็น