ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในการประชุม แม่น้ำ 5 สายครั้งล่าสุด เพื่อติดตามความคืบหน้าของแต่ละสายงาน เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ถึงกับออกปากว่า งานที่ต้องทำเพื่อปฏิรูปบ้านเมือง ตามโรดแมปที่วางเอาไว้นั้น ต้องเจอปัญหาสารพัด ต้องคอยแก้ คอยอธิบายอยู่ตลอดเวลา
พร้อมกับยอมรับว่า ระยะเวลาตั้งแต่ที่เข้ามารับผิดชอบต่อบ้านเมืองจนถึงวันนี้ เป็นเวลาเกือบจะครบปีนั้น คสช.และรัฐบาล ทำมาได้ไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ของเป้าหมายที่วางไว้
" ปัญหามันเยอะมาก จึงต้องสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนให้ได้ เพื่อที่จะเดินหน้าประเทศกันต่อไป เราจะแก้ปัญหาประเทศที่มีความขัดแย้งได้อย่างไร ก็เลยเห็นชอบร่วมกันว่า รัฐธรรมนูญเขียนมาอย่างไรก็ตาม ถ้าประชาชนไม่ยอมรับ มันก็ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องศึกษา และดูจากภายนอกประเทศบ้าง จากนั้นก็จะไปสู่การวิจัย ผมมีขั้นตอนอยู่แล้ว และวันนี้ก็ได้ประชุมร่วมกัน ก็ขอให้รอฟังแล้วกัน อย่าเอาเรื่องพวกนี้ไปเป็นประเด็นความขัดแย้งนักเลย อย่างไรเลือกตั้งก็ต้องเลือกตั้งอยู่แล้ว อย่างไรก็หนีเลือกตั้งไม่พ้น เพราะมีโรดแมปของมันอยู่ แต่ถ้ามันมีปัญหามาก มันก็เลือกไม่ได้ ทำไม่ได้ ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน"
จากคำพูดดังกล่าวสะท้อนว่า สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นห่วงมากที่สุดก็คือ การร่างรัฐธรรมนูญ ให้ลุล่วง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง และมีรัฐบาลใหม่ ที่จะเข้ามารับช่วงบริหารประเทศต่อไป
แต่ที่ผ่านมา เพียงแค่การยกร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จสิ้นลง ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ที่เป็นประเด็นโต้แย้งในสังคมเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นเรื่องในหมวดการเมือง อาทิ ที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่มาส.ส. - ส.ว. องค์กรตรวจสอบ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำให้กรรมาธิการยกร่างฯ ต้องทำการปรับปรุงกันอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาเป็นด่านแรก ในวันที่ 17 เม.ย.นี้
เรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นห่วงคือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อเสร็จสมบูรณ์ พร้อมที่จะนำมาใช้เป็นกติกาสูงสุดของประเทศนั้น จะต้องได้รับการยอมรับจากประชาชน จากสังคม จากนักการเมือง และที่สำคัญคือ ต้องได้รับการยอมรับจากต่างประเทศด้วย
ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีแผนว่า จะให้ต่างชาติ ที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในทางการเมือง และการร่างรัฐธรรมนูญ มาอธิบายถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญของเขา ตลอดจนประสบการณ์ และเหตุการณ์ทางการเมืองที่เป็นปัญาที่ประสบอยู่ในขณะนั้น เขามีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร โดยยกตัวอย่างประเทศที่จะเชิญมา คือ เยอรมนี และฝรั่งเศส ซึ่งคาดว่าจะมีการมาแชร์ความคิดเห็นกันในเดือนนี้ ช่วงหลังสงกรานต์
แม้ว่าบริบททางการเมืองของต่างประเทศจะมีรายละเอียดไม่เหมือนกับการเมืองไทย แต่การให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติ ที่เป็นที่ยอมรับในสังคมประชาธิปไตย มาให้คำปรึกษา มาแชร์ประสบการณ์ ย่อมจะช่วยเพิ่มหลักประกันได้ในระดับหนึ่ง
เพราะพล.อ.ประยุทธ์ ได้รู้ซึ้งถึงแรงกดดันจากต่างประเทศ จากสหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่มีต่อรัฐบาลทหาร ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลต่อความร่วมมือทางด้านการเมือง และด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว มาแล้ว
โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มนักโทษชายหนีคดี ได้จ้างล็อบบี้ยิสต์ในต่างประเทศ ทำการจับจ้อง โจมตี รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ตามยุทธการโลกล้อมประเทศอยูในขณะนี้ เพื่อหวังจะกลับมาครองอำนาจอีกครั้ง
สำหรับการยอมรับต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของคนในประเทศ นั้นหากจะว่ากันตามขั้นตอนแล้ว จะต้องได้รับการยอมรับจาก สภาปฏิรูปแห่งชาติ จากคณะรัฐมนตรี จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สุดท้ายจะต้องได้รับการยอมรับจากประชาชน ด้วยการผ่านการทำประชามติ
การทำประชามติ จะมีหรือไม่ เป็นอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งผู้สื่อข่าวได้เพียรถาม เพื่อขอความชัดเจนจาก พล.อ.ประยุทธ์ หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีคำตอบ โดยบอกเพียงว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะตอบ