xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปรองดอง “ทักษิณ” เพี้ยง! ขอให้ “ปาก” กับ “ใจ” ตรงกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลายเป็นเรื่อง “ร้อนฉ่า” ขึ้นมาในฉับพลันเมื่อ “ทนายวันชัย สอนศิริ” สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เสนอความคิดต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้เจรจากับ นักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร เพื่อให้เกิดความปรองดองขึ้นในประเทศไทย

ทั้งนี้ ทนายวันชัยระบุชัดว่าสิ่งที่ พล.อ. ประยุทธ์ จะต้องทำเพื่อให้ประเทศชาติสามัคคีโดยเร็ว คือ 1. พล.อ. ประยุทธ์ ต้องเจรจากับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจะต้องเจรจาโดยมีคนร่วมพูดคุยด้วย ห้ามไปเจรจากันลับ ๆ สองคน เพราะอาจถูกมองว่าแอบไปทำข้อตกลงกันเอง จากนั้นต้องนำผลการเจรจามาเปิดเผยกับสาธารณชนว่า คุยแล้วได้บรรลุข้อตกลงไหนได้หรือไม่ได้บ้าง 2. พล.อ. ประยุทธ์ ต้องเจรจรากับคู่ขัดแย้งทางการเมือง ทั้งแกนนำพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ตลอดจนแกนนำกลุ่มนปช. และ กปปส. โดยจะเข้าไปพบเองหรือเรียกพบทีละคู่ก็ได้ จากนั้นก็นำผลการพูดคุยมาเปิดเผยต่อสาธารณชน

นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำว่า ถ้าพล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่เป็นฝ่ายเริ่มต้นพูดคุย ก็มั่นใจว่าความปรองดองไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญออกมาดีอย่างไรก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อยากให้เริ่มพูดคุยอย่างจริงจังเสียที ไม่อย่างนั้นสิ่งที่ พล.อ. ประยุทธ์ ทำมาตลอดก็จะสูญเปล่า

เหตุที่ร้อนฉ่าก็เพราะนายวันชัยคือ สปช.ที่ คสช.ตั้งขึ้นมาเองกับมือ

เหตุที่ร้อนฉ่าก็เพราะสังคมเข้าใจว่า นี่คือการโยนหินถามทางของ คสช.ซึ่งถูกส่งผ่านออกมาทาง สปช. และทนายวันชัย

เพราะต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลและ คสช.ประกาศธงในเรื่องของความปรองดองและสมานฉันท์มาโดยตลอด

ดังนั้น สังคมจึงย่อมเข้าใจว่า รัฐบาลและ คสช.มีจิตเจตนาเช่นนั้นจริงๆ เพราะถ้าทนายวันชัยไม่ได้รับสัญญาณอะไรบางประการมา อยู่ๆ จะหยิบยกประเด็นที่ล่อแหลมและกระทบต่อความรู้สึกของสังคมขึ้นมาทำพระแสงขอ
ง้าวอะไร

ทว่า ทันทีที่ข้อเสนอหลุดจากปากของทนายวันชัยสู่สาธารณชน เสียงตอบรับก็เป็นไปในทางลบชนิดที่ว่า ทนายวันชัยแทบจะไม่รู้เอาหน้าไปซุกไว้ที่ไหนในแผ่นดินนี้กันเลยทีเดียว

ด้วยเหตุดังกล่าว จงอย่าแปลกใจว่า ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ถึงปฏิเสธเรื่องนี้แบบไม่ไว้หน้าทนายวันชัย เพราะเป็นที่ชัดแจ้งแล้วว่า ข้อเสนอดังกล่าวส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาลและคสช.โดยตรง

“เขามีอำนาจอะไรที่จะมาบังคับผม แล้วมีการกระทำอะไรที่ขัดต่อหลักของกฎหมายหรือไม่ อย่าลืมว่า วันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณมีคดีติดตัวอยู่ แล้วผมจะไปพูดด้วยได้หรือไม่ ก็ต้องคิดดูตรงนี้ ส่วนการจะมอบหมายให้ผู้อื่นไปหารือแทนนั้น ไม่ว่าใครไปก็ผิดทั้งหมด ปัญหาอยู่ที่ว่าถ้าใครอยากจะปรองดองก็กลับประเทศเข้ามาสู่กระบวนการ

“ต้องถามคนไทยทั้งประเทศว่า ถ้ายกเลิกสิ่งที่ทำผิดกฎหมายทั้งหมดแล้ว ประเทศไทยจะทำอย่างไรต่อไป ในข้อเท็จจริง ผิดหรือไม่ผิดก็ว่ากันมาตามหลักฐานและต้องดูว่าการตัดสินคดีความทั้งหมดว่าอย่างไร มีผลย้อนหลังทั้งหมดหรือไม่ หรือทุกคดีจะให้นิรโทษกรรมทั้งหมดเลยหรือ เรายังไม่ไปถึงตรงนั้น”

พล.อ.ประยุทธ์ประกาศเสียงดังฟังชัดว่าไม่รับข้อเสนอของทนายวันชัยพร้อมย้ำด้วยว่า “ตัวผมเองจะให้ไปพูดอะไรกับใครที่มีคดีความอยู่ มันไม่ได้ เพราะผมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ”

อย่างไรก็ตาม แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะปฏิเสธเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว แต่คำถามก็ยังคงดังกึกก้องแบบไม่จางหายว่า มันจริงอย่างคำปฏิเสธดังกล่าวจริงหรือ เพราะบางซุ่มเสียงสำเนียงของคนในคสช.ก็ยังคงมีความแปร่งปร่า แม้จะเป็นการพูดก่อนหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์จะมีความชัดเจนออกมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นซุ่มเสียงที่ออกมาจากพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ให้ความเคารพอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

“สปช.ก็ว่าไป ว่าจะคุยอย่างไร เราพร้อมทุกอย่าง คิดว่าอดีตนายกฯ ทักษิณก็พร้อม ซึ่งทาง พล.อ.ประยุทธ์ย้ำตลอดเวลาว่า ให้กลับมาคุยกัน คิดว่าเ
ป็นเรื่องของ สปช.ทำอย่างไรให้เกิดความปรองดองก็ทำไป แต่การเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณเพื่อพูดคุยนั้นไม่ใช่หน้าที่ของนายกฯ เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย”พล.อ.ประวิตรกล่าว

นั่นแสดงว่า รัฐบาลและ คสช.ไม่ได้ปิดประตูตายในกรณีนี้เสียทีเดียว ใช่หรือไม่

อย่างไรก็ดี ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์มีความชัดเจน น้ำเสียงของ พล.อ.ประวิตรก็เปลี่ยนไปว่า “พ.ต.ท.ทักษิณต้องกลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะเรามีกฎหมาย ดังนั้น ต้องทำตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม”

ยิ่งเมื่อนำไปเทียบเคียงกับความเคลื่อนไหวในด้านอื่นๆ ด้วยแล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่สังคมไม่เชื่อสนิทใจ โดยเฉพาะท่าทีและความเห็นของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญในหมวดปรองดอง

นายบวรศักดิ์กล่าวในขณะลงพื้นที่รับฟังข้อเสนอของภาคประชาชนคนอีสานต่อการปฏิรูปประเทศ เรื่อง ประชา - ท้องถิ่นร่วมสานสร้าง ยกระดับพื้นที่รูปธรรมจัดการตนเอง เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ที่โรงแรมประจักษ์ตรา จังหวัดอุดรธานี พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ“สภาพลเมือง เพื่อการปฏิรูปประเทศ” ว่า “การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องแก้ปัญหาหลัก 3 ประการ คือ แก้ปัญหาความขัดแย้งเฉพาะหน้าของกลุ่มต่างๆ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความ เป็นธรรม และจัดสรรดุลอำนาจใหม่ในสังคม ซึ่งเป็นที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญภาค 4 การปฏิรูปและสร้างความปรองดอง ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีการตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ เข้ามาเป็นกลไกในการทำหน้าที่สร้างบรรยากาศความปรองดองของประชาชนทั้งประเทศ เป็นตัวกลางในการเจรจาหาข้อยุติกับคู่ขัดแย้งต่างๆ สร้างการเรียนรู้ และสุดท้ายเมื่อทุกฝ่ายยอมรับผิดคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจเสนอรัฐบาลให้ออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษได้”

ขณะที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง (คศป.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า จะมีการลงรายมาตราในหมวดปรองดอง เนื้อหาสำคัญคือ การเสนอตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ โดยให้มีกรรมการ 9 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย มาจากการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ และให้ทั้ง 9 คนนี้แต่งตั้งกรรมการอีก 5 คน จากตัวแทนของฝ่ายที่ขัดแย้ง รวมทั้งหมด 14 คน มีวาระ 5 ปี มีหน้าที่เบื้องต้นคือ เสนอแนะเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการปรองดองให้รัฐบาลต้องไปดำเนินการ รวมทั้งเยียวยาให้คำปรึกษากับผู้ได้รับผลกระทบ แต่บทบัญญัติการทำงานจะออกเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

เป็นความชัดเจนเสียยิ่งกว่าชัดเจนว่า องค์กรที่ตั้งโดย คสช.มีธงในเรื่องของความปรองดอง เพราะสิ่งที่ทนายวันชัยพูดล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ไปสนับสนุนแนวความคิดในเรื่องของการตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติที่ถูกส่งผ่านออกมาจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสปช.ทั้งสิ้น

17 กุมภาพันธ์ 2558 แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองมาโดยตลอด และพร้อมที่จะเจรจา แต่ขอให้คนที่มาเจรจานั้นมีอำนาจในการพูดคุย และมีอำนาจในการตัดสินใจทุกเรื่อง สามารถเห็นผลได้ในเชิงปฏิบัติ เพราะที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณถูกหลอกมาแล้วหลายครั้ง หรือคุยแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่จบจริง จึงอยากให้คนที่มีอำนาจจริงๆ มาพูดคุย นอกจากนี้ต้องดูเงื่อนไขในการพูดคุยด้วยว่าเป็นอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งต้องดูระยะเวลาในการดำเนินการด้วยว่าจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ เหตุผลที่ พ.ต.ท.ทักษิณพร้อมที่จะเจรจาด้วยนั้น เนื่องจากอยากเห็นประเทศสงบและเดินหน้าได้ ทุกวันนี้โอกาสของประเทศที่จะก้าวหน้านั้นหายไปเรื่อยๆ พ.ต.ท.ทักษิณจึงมองว่า หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปประชาชนจะยิ่งลำบาก แต่ประเทศไทยจะต้องมีระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่มีสองมาตรฐาน และคนที่มีรายได้น้อยจะต้องมีโอกาสและได้รับการดูแลด้วย

...เมื่อนักโทษแบะท่าพร้อมสนองตอบมาอย่างนี้ สุดท้ายคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า คนที่ปากประกาศเสียงแข็งว่าไม่คุย ไม่เจรจากับคนที่ผิดกฎหมาย แต่ในทางลับ ในทางที่ไม่เป็นทางการจะมีการส่งตัวแทนไปเจรจานอกรอบกันแบบม่วนซื่นโฮแซว....หรือไม่

ทั้งนี้ คนไทยปรารถนาจะเห็นตามคำพูดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศเอาไว้เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อยืนยันท่าทีกับข้อเสนอให้มีการพูดคุยเจรจากับนักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีคนอ้างว่าจะทำให้บ้านเมืองเกิดความปรองดองขึ้นมาได้ว่า...

“ผมขอประกาศไว้เลยว่า ใครที่ทำให้บ้านเมืองเสียหายเดือดร้อนจากนี้ไป ต้องรับผิดชอบ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยรับผิดชอบกันอยู่แล้ว ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย ตามระเบียบวินัย ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ทุกคน ทุกพวก ทุกพรรค เจตนาดีหรือไม่ก็ไปพิสูจน์กันในศาล ผมตัดสินให้ไม่ได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น