ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หายห่างจากหน้าสื่อไปพักใหญ่ “บิ๊กแจ๊ด” พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ตั้งแต่หมดเหตุการณ์คนร้ายลอบปาระเบิดใส่ศาลอาญา รัชดาภิเษก เมื่อช่วงเดือนมีนาคม ที่มีเบอร์โทรศัพท์ไปโผล่อยู่ในสมุดโน้ตของคนร้าย ก่อนจะมีการปฏิเสธในภายหลังว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
กระทั่งกลับมาปรากฏเป็นข่าวอีกครั้ง และก็ยังไม่ใช่ข่าวดีอีกครั้งเช่นกัน เมื่อถูกรวบคาสนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างกำลังจะเดินทางกลับประเทศไทย หลังจากไปดูงานเรื่องการกำจัดขยะกับคณะขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เชียงรากใหญ่ จ.ปทุมธานี ในข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง
เรียกว่า อับอายขายขี้หน้าประเทศไทยไปทั่วทั้งโลก
เพราะนี่นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ เพราะไม่เคยมีคนไทยเคยถูกจับในข้อหานี้มาก่อนที่ญี่ปุ่น แถมคนที่ถูกจับยังเป็นอดีตนายตำรวจใหญ่ของประเทศไทยอีกต่างหาก
เจแปนไทม์ส ซึ่งเป็นสื่อชื่อดังของประเทศญี่ปุ่นถึงกับรายงานว่า การละเมิดมาตรการรักษาความปลอดภัยเช่นนี้ หากพิสูจน์แล้วแล้วว่าเป็นจริง นั่นก็จะสร้างความอับอายครั้งใหญ่แก่ไทยในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมด้านการบินของประเทศกำลังถูกตรวจสอบมากขึ้น
ช่วงแรกมีการมองในมุมการเมืองกันว่า เป็นความพยายาม “ดิสเครดิต” รัฐบาล คสช.ตามน้ำจากประเด็นที่ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพิ่งจะปักธงแดงให้ไทย และจะมีการพิจารณามาตรฐานการบินของไทยในเร็วๆนี้หรือไม่ แต่ประเมินดูแล้ว คงเป็นไปได้ยาก เพราะคนระดับ “แม่ทัพนายกอง” ของ “ระบอบแม้ว” คงไม่ทุ่มทุนสุ่มเสี่ยงขนาดนี้ โดยเฉพาะในประเทศที่มีการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และบทลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรงอย่างญี่ปุ่น
ก็ต้องมองไปที่ความผิดพลาดส่วนบุคคลของ “บิ๊กแจ๊ด” เอง ที่เป็นถึง “นายพลแห่งกรมตำรวจไทย” ที่รับราชการเป็นผู้รักษากฎหมายมาครึ่งค่อนชีวิต จะพาซื่อไม่รู้ว่าเรื่องปืนผาหน้าไม้ “เซนซิทีพ” กับสนามบินขนาดไหน แต่จะเป็นกาการหลงลืมตามที่อ้าง หรือจงใจพกไปนั้น เรื่องนี้ “บิ๊กแจ๊ด” รู้ดีที่สุด
ประเด็นเรื่องการประมาท เลินเล่อเลยถูกให้น้ำหนักมาก เพราะเป็นที่รู้กันว่า ตำรวจไทยหลายคนมักนิยมพกอาวุธปืนติดตัวอยู่ตลอดเวลา ทั้งในหน้าที่ หรือไว้อวดเบ่งโชว์กล้ามไปตามเรื่อง หากเป็นการพกพาอยู่ในประเทศก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด แต่ไม่มีเหตุผลใดเลยที่ “ตำรวจไทย” จะต้องพกปืนไปต่างประเทศ หรือถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ต้องทำเอกสารแจ้งล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร
ปฏิเสธไม่ได้อีกว่า เมื่อเกิดเรื่อง “บิ๊กแจ๊ด” ก็มีคำถามไปถึงมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของเมืองไทยว่า เหตุใด “อาวุธปืน” จึงเล็ดลอดหูตาของเจ้าหน้าที่ และผ่านเครื่องเอ็กซเรย์ราคาแพงระยับออกไปจากเมืองไทยได้ ซ้ำเติมกรณีที่ ICAO ชักใบแดงให้มาตรฐานการบินของไทย ซ้ำร้ายยังเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เพราะสนามบินนาริตะ ถือเป็นสนามบินที่มีชื่อเสียง และมีระบบความปลอดภัยระดับต้นๆ ของโลก
ในทางกลับกันจึงสะท้อนความ “ห่วยแตก” ของมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของสนามบินไทยซึ่งจำเป็นต้องได้รับการ “ปฏิรูป” เป็นการเร่งด่วน
เป็นที่รู้กันดีว่า คนใหญ่คนโตทั้งหลายมักได้สิทธิพิเศษเสมอเวลาที่จะโดยสารเครื่องบิน มีทั้งระดับ “วีไอพี - ซูเปอร์วีไอพี” ไม่ว่าจะเป็นการอัพเกรดที่นั่ง หรือที่เป็นข่าวบ่อยๆก็เรื่องเครื่องดีเลย์ เพราะต้องรอบรรดา “วีไอพี” ที่ว่า ส่วนเรื่องการเข้า-ออกด่านตรวจต่างๆของสนามบินนั้นลืมไปได้เลย เพราะคนเหล่านี้จะได้ “อภิสิทธิ์พิเศษ” แทบไม่ต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และจะมีเจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวกพาออกช่องทางพิเศษให้อีกต่างหาก
นอกจากกระบวนการขั้นตอนจะน้อยกว่าคนปกติแล้ว ความเข้มข้นในการตรวจตราก็น้อยกว่าเช่นกัน
ที่สำคัญผู้ที่รับผิดชอบสำคัญของ ตม.ก็คือ “ตำรวจ” เมื่อเป็นเรื่องของตำรวจใหญ่อย่าง “บิ๊กแจ๊ด” ก็หนีไม่พ้นที่มีการตั้งคำถามถึงการปล่อยปละละเลยหรือให้สิทธิพิเศษในการผ่านด่านของ “บิ๊กแจ๊ด” จนเป็นเรื่องขึ้นมา เรื่องนี้จึงควรใช้บทเรียนและนำเข้าเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการปฏิรูปองค์กรตำรวจด้วย
ยิ่งหากเป็นไปอย่างที่ “บิ๊กแจ๊ด” ให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นว่า ลืมไปว่า มีอาวุธปืนอยู่ในกระเป๋านานมาแล้ว ก็เท่ากับตบหน้า “ตม.ไทย” ฉาดใหญ่ เพราะมีการชี้แจงกระบวนการตรวจสอบที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็เข้มข้น อีกทั้งยังมีการชี้แจงจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า ตรวจสอบกล้องวงจรปิดแล้วมีการตรวจค้นตามขั้นตอนปกติทั่วไป
เกิดความย้อนแย้งกันเอง ถ้าต่างฝ่ายต่างพูดจริง นั่นเท่ากับว่า ระบบตรวจสอบที่ท่าอากาศยานหละหลวมอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อเรื่องของ “ICAO” แน่ หรือไม่เรื่องนี้ก็มีคนโกหกคำโต
แม้แต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังสงสัยและสั่งการให้มีการสอบสวนเรื่องดังกล่าว “ต้องไปสอบสวนว่าผ่านการตรวจไปได้อย่างไร มีการละเว้น หรือผ่านการตรวจเอ็กซเรย์หรือไม่ ถ้าผิดก็คือผิด”
ตามที่มีการสันนิษฐาน ด้วยความเป็นอดีตนายตำรวจใหญ่ที่เพิ่งจะเกษียณอายุราชการได้ไม่นาน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีคนอำนวยความสะดวกให้เป็นพิเศษ ขณะที่ประเด็น “บิ๊กแจ๊ด” ไม่รู้หรือว่า ระบบตรวจสอบของสนามบินญี่ปุ่นเข้มข้น ก็น่าสนใจเหมือนกันว่า อาจเกิดจากความเคยชินจากสมัยยังรับราชการ จึงเผอเรอหรือลืมตัวพกติดตัวไปด้วยความชะล่าใจ
จนกลายเป็น “พลาด” อย่างมหันต์
จากนี้เลยทำได้แค่รอดูว่า ทาง “ญี่ปุ่น” จะว่าอย่างไร ความเป็นอดีตนายตำรวจใหญ่ของเมืองไทยจะเข้มขลังพอให้ตัวเองรอดพ้นจาก “ตะราง” ได้หรือไม่ ตามข่าวระบุเบื้องต้นในชั้นอัยการรอส่งฟ้อง “บิ๊กแจ๊ด” ต้องถูกกักตัวราว 20 วัน และหากมีการตัดสินว่าผิดจริงจะต้องติดคุกมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีตามกฎหมายญี่ปุ่น
ที่น่าสนใจคือท่าทีของบรรดาตำรวจไทยต่างกุลีกุจอออกมาทำ “เกินหน้าที่” พยายามหาทางให้ความช่วยเหลือ หรือแก้ต่างให้กัน โดยเฉพาะ “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ง่วนอยู่กับประเด็นการเปิดบ่อนกาสิโน ยังหันมากางปีกปกป้องนายตำรวจรุ่นพี่ว่า ไม่ได้มีเจตนาพกพาอาวุธปืนขึ้นเครื่องบิน
ตรงนี้ต้องถามอีกว่าใช่หน้าที่หรือไม่ เพราะแม้ว่า “บิ๊กแจ๊ด” จะเป็นอดีตข้าราชการระดับสูง แต่ความช่วยเหลือก็ไม่ควรที่จะเกินไปกว่าการอำนวยความสะดวกต่างๆ ในเรื่องจัดหาล่าม หรือทนายว่าความให้เท่านั้น การที่มีความพยายามช่วยเหลือโดยไม่ได้คำนึงถึงกระบวนการตามกฎหมายของต่างประเทศ
ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเน่าเฟะของระบบราชการไทย โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ถามว่าหากเป็นบุคคลธรรมดาจะได้รับการปกป้องเช่นนี้หรือไม่ ดูจากกรณีสดๆร้อนๆที่นักเรียนไทยถูกจับที่สนามบินปากีสถานในกรณีเดียวกัน ทางกระทรวงการต่างประเทศยังพยายามปรามไม่ให้มีการนำเสนอข่าว หรือการให้ความเห็นในเชิงกดดันไปยังประเทศปลายทาง เพราะถือเป็นมารยาททางการทูต และเป็นเรื่องกระบวนการทางกฎหมายของประเทศนั้นๆ
แต่กรณีนี้บรรดาตำรวจน้อยใหญ่ต่างเรียงหน้าออกมาแก้ต่างให้เป็นแถว วาดภาพให้ “บิ๊กแจ๊ด” เป็นตำรวจใหญ่ที่มีอิทธิพลเหนือกฎหมายไทย และพูดในทำนองว่าสามารถเคลียร์คดีได้ แต่คงลืมกันไปว่าที่นั่นคือประเทศญี่ปุ่น ไม่ใช่ประเทศไทย
ที่สำคัญเป็นมาตรฐานการทำหน้าที่ของตำรวจญี่ปุ่น ไม่ใช่ตำรวจไทย
ถามว่า รัฐบาลสมควรให้การช่วยเหลือคนไทยที่ต้องตกทุกข์ได้ยากในต่างแดนหรือไม่
ตอบว่า สมควรแต่กรณี พล.ต.ท.คำรณวิทย์แตกต่างออกไป เพราะกระทำผิดกฎหมายแบบไม่น่าให้อภัย ยิ่งเป็นข้าราชการซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษากฎหมายด้วยแล้ว ในความเป็นจริงแล้วยิ่งต้องได้รับโทษมากกว่าเดิมเป็นสองเท่า ชะตากรรมของ “บิ๊กแจ๊ด” จะเป็นอย่างไร จะรอดคุกญี่ปุ่นหรือไม่นั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่ภาครัฐและตำรวจไทยจะไปให้น้ำหนัก ควรที่จะมุ่งไปที่การอุดช่องโหว่ความหละหลวมที่เกิดขึ้นภายในประเทศมากกว่า
เรื่องนี้สุดท้ายอาจจบเหมือนกับเรื่องอื่นๆ หรือไม่คือ คนที่รับผิดชอบเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยให้ “บิ๊กแจ๊ด” นำอาวุธปืนขึ้นเครื่องไปได้ ซึ่งมีแนวโน้มสูงมากว่าจะออกอีหรอบนั้น
ต้องยอมรับว่า เป็นเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดแวดวงการบินของไทยอย่าง แท้จริง เพราะกำลังมะรุมระตุ้มอยู่กับเรื่อง “ธงแดง” ของ “ICAO” แบบหัวหกก้นขวิด แล้วยังมาเกิดเรื่องในจังหวะเดียวกันเหมือนเป็นการตอกลิ่ม ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบคงต้องกลับไปคิดหนัก
โดยเฉพาะระบบ “วีไอพี” ของบรรดา “อภิสิทธิ์ชน” ทั้งหลายควรต้องปฏิรูปกันเสียใหม่ ให้ต่อไปทุกคนต้องปฏิบัติตัวตามมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด อย่างน้อยมันก็เป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของไทย
กรณีของ “บิ๊กแจ๊ด” คนทั่วไปอาจตกใจที่เห็นข่าวออกมาอย่างนั้นว่า พกปืนขึ้นเครื่องไปได้อย่างไร แต่ในแวดวงรู้กันดีว่า กรณีบุคคลพิเศษแบบนี้มันมีมานานมากแล้ว ทำกันเสียจนเคยชิน ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ใช่ว่า บุคคลระดับสูงจะทำแบบนั้นกันทุกคน หลายคนแม้จะได้รับสิทธิพิเศษนั้น แต่ก็เลือกที่จะไม่รับ โดยปฏิบัติอย่างกับคนทั่วไป ไม่ได้คิดว่า ตัวเอง “ใหญ่”
จะบอกว่า งวดนี้ “บิ๊กแจ๊ด” ซวยก็คงถูก แต่จะบอกว่า เลินเล่อก็คงจะถูกยิ่งกว่า!!!
กรณีที่เกิดขึ้น หลายคนมองว่า เป็นเรื่องของกรรมตามสนองกับหลายสิ่งที่ “บิ๊กแจ๊ด” คนใหญ่แห่งเมืองปทุมฯ เคยทำไว้ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของ “สัจธรรม” ที่ว่าด้วยเรื่องอำนาจที่วันหนึ่งย่อมเสื่อมได้ตามวิถี ในลักษณะได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ
ลองคิดดูหากวันนี้ “บิ๊กแจ๊ด” ยังเป็น ผบช.น. หรือมีตำแหน่งใหญ่โต เรื่องคงไม่ออกมาในรูปนี้ ตั้งแต่ “ต้นทาง” อย่างสนามบินสุวรรณภูมิ ไปถึงปลายทางที่จะมีคนมารับถึงทางออกในช่องพิเศษ แต่วันนี้เป็นเพียงกลายเป็นสามัญชนธรรมดาทั่วไป ที่นี่อาจได้สิทธิพิเศษที่เมืองไทย แต่ที่อื่นคงไม่ได้เห็นหัว หรือให้ความสำคัญ
จากคนเคยโด่งดังกับวลี “มีวันนี้...เพราะพี่ให้” มาวันนี้ก็คงต้องยืมวลีเด็ดของ “พี่คนนั้น” มาใช้เหมือนกันว่า “บกพร่องโดยสุจริต” เพื่อเอาไปแก้ต่างกับศาลญี่ปุ่น ส่วนจะฟังขึ้นหรือไม่อยู่ที่ดุลพินิจของศาล
ที่รู้แน่ๆ คือ วันนี้ “พี่คนนั้น” หรือเทวดาที่ไหนก็คงช่วยอะไรไม่ได้
##ล้อมกรอบ
เพลง “วันพรุ่งนี้” มอบแด่แจ๊ด กรรมครั้งนั้น...ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า
พระมหาอภิชาติ ปุณฺณจนฺโท หัวหน้าพระวิทยากรประจำพระอารามหลวง วัดเบญจมบพิตร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “พระมหาอภิชาติ ปุณฺณจนฺโท วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” เป็นเพลงแต่งมอบให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เพื่อรำลึกถึงวีรกรรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ช่วงมีการชุมนุมทางการเมืองช่วงปี 2556 ได้สั่งการให้เจ้าที่ตำรวจเอาแท่งแบริเออร์และลวดหนามมาปิดกันทางเข้าออกของวัดเบญจมบพิตร ตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม อย่างไร้มนุษยธรรม ส่งผลให้พระเณรออกไปบิณฑบาตไม่ได้ ญาติโยมก็เข้ามาทำบุญไม่ได้
เพลง “วันพรุ่งนี้” มอบแด่แจ๊ดมีวันนี้...เพราะญี่ปุ่นให้
"จำได้ไหม แจ๊ดยังจำได้ไหม
ตอนเป็น ผบช.น. จำได้ใช่ไหม สั่งทุบตีชาวบ้านอยู่แทบทั้งปี
สอนให้ลูกน้องสุมหัวกัน มีคำสั่งให้เอาแบริเออร์ปิดวัดวา
ปิดอย่างมิดชิด ปล่อยให้พระเณรอยู่อย่างลำบากมากมาย
จำได้ไหม ประชาชนยังจำได้ไหม
พระเณรวัดเบญจฯจำได้ใช่ไหม ต้องเดือดร้อนเมื่อปลายปี
เมื่อตำรวจทะเลาะกัน กับชาวบ้านทุกๆ ค่ำคืน
ให้แก๊สน้ำตา และแจกกระสุนอย่างไร้ความเมตตาปรานี
ขอให้ประชาชนทุกคน ได้มองกรรมเก่าของแจ๊ด
ว่าแจ๊ดทำบ้านเมืองของเรานั้นเป็น เช่นดั่งค่ายกักกัน
เห็นตำรวจทะเลาะกันกับมวลประชา วิ่งไล่ล่ากันนั้นธรรมดา
เปิดห้องขังรอรับ เปิดประตูคุกไว้รอ ปวงประชาเห็นกันชินตา
อยากจะเห็น แจ๊ดเดินเข้าคุกรับกรรมที่เคยได้ทำ
ตร.ญี่ปุ่นจับใส่กุญแจมือกัน ต้องขึ้นศาลดำเนินคดี
ภาพไม่แตกต่างกันเท่าไร เมื่อครั้งให้ลูกน้องมาอุ้มหลวงพี่
วันพรุ่งนี้ หลวงพี่จะกรวดน้ำส่งไปให้ก็แล้วกัน"
พระมหาอภิชาติ โพสต์ด้วยว่าทุกท่านเห็นเอ็นมัดผู้ต้องหาในมือของตำรวจนอกเครื่องแบบเสื้อลายไหม เขาจะเอามามัดหลวงพี่เมื่อครั้งบุกเข้ามาอุ้มทำร้ายถึงในวัดเมื่อปลายปี ๒๕๕๖ ตามคำสั่งนายพลคนหนึ่งในนครบาล แต่ทำไม่สำเร็จ ถูกเด็กวัดและพระเณรล้อมจับไว้เสียก่อน ตอนเผลอก็เลยถูกหลวงพี่ถ่ายคลิปไว้ได้ เลยแถไปตามระเบียบของตำรวจเมืองไทย บัดนี้ เอ็นนั้นได้กลายเป็นกุญแจมือมัดมือทั้ง ๒ ข้างของท่านแจ๊ดไปเสียแล้ว กรรมนี้มันช่างให้ผลได้เร็วทันใจนัก ไม่ต้องรอถึงชาติหน้าเลย
กรรมในครั้งนั้น...ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า รับไปชาตินี้นี่แหละ เมื่อปลายปี ๒๕๕๖ ตอนที่เป็น ผบช.น. เคยขังพระเณรให้อดข้าวอดน้ำเป็นเดือนๆ พระขอร้องเท่าไหร่ก็ไม่ยอมฟัง ฟังแต่นักการเมืองอย่างเดียว ทั้งๆ ที่พระก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางเมืองเลย กลับต้องมารับความเดือดร้อน เพราะคำสั่งบ้าบอของแจ๊ดพี่ให้คนเดียว พอสื่อเข้าข้างพระกลับไม่พอใจ ส่งลูกน้องใจหมามาบุกรุกอุ้มทำร้ายพระถึงในวัดหลวง
“วันนี้ ฟ้ามีตา สวรรค์เป็นใจ แจ๊ดพี่ให้คงรู้รสชาติของการถูกคุมขัง ทำให้ขาดเสรีภาพแล้วว่ามันเป็นเช่นไร นึกถึงกรรมเก่าๆ ไว้นะท่าน เอาให้หนักเลยคุณตำรวจเมืองนาริตะ” พระมหาอภิชาติ โพสต์ทิ้งท้าย
##ล้อมกรอบ 2
เปิดกฎหมายควบคุมปืนของญี่ปุ่น รอชี้ชะตา “บิ๊กแจ๊ด-คำรณวิทย์”
พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ซึ่งถูกตำรวจของญี่ปุ่นควบคุมตัว ในข้อหาพกพาอาวุธปืนที่สนามบินนาริตะ อาจต้องพบกับชะตากรรมที่ยุ่งยากที่สุดในชีวิต เนื่องจากกฎหมายควบคุมอาวุธของญี่ปุ่นมีความเข้มงวดมาก ถึงระดับที่แม้แต่ยากูซ่ายังไม่อยากใช้ปืน
ในประเทศญี่ปุ่น การมีปืนสักหนึ่งกระบอกเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญ กฎหมายควบคุมอาวุธของญี่ปุ่นที่ประกาศใช้ตั้งแต่ ค.ศ.1958 ระบุไว้ชัดเจนว่า “ประชาชนไม่มีสิทธิ์ครอบครองอาวุธปืนและมีดดาบ” ซึ่งเป็นหลักการที่ทำให้การมีอาวุธของชาวญี่ปุ่นนั้นแทบเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แตกต่างจากบางประเทศตะวันตกที่อนุญาตให้ประชาชนพกอาวุธเพื่อป้องกันตัวเองและทรัพย์สินได้
ตามกฎหมายของญี่ปุ่น ผู้ที่ครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจะต้องโทษจำคุก 1 ถึง10 ปี และหากมีกระสุนปืนด้วยก็จะเพิ่มโทษขึ้นอีกอย่างน้อย 3 ปี
เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนกลุ่มเดียวที่ได้รับอนุญาตให้มีปืนในครอบครองได้ หากแต่ตำรวจญี่ปุ่นก็แทบจะไม่พกปืน มีเพียงตำรวจหน่วยพิเศษและสายตรวจเท่านั้นที่สามารถพกปืนได้ นอกจากนี้หากจำเป็นตำรวจต้องใช้ปืน จะต้องเก็บปลอกกระสุนกลับมาทุกครั้งเพื่อรายงานต่อผู้บังคับบัญชา กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดนี้ทำให้ตำรวจบางรายแทบจะไม่มีโอกาสใช้ปืนจริงๆ เลยสักครั้งตลอดชีวิต
แก๊งอาชญากรรมหรือยากูซ่าเคยเป็นกลุ่มที่ใช้ปืนเข่นฆ่ากันเองมากที่สุด แต่หลังจากเกิดเหตุ “กระสุนลูกหลง” ทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต รวมทั้งเหตุสังหารนายกเทศมนตรีเมืองนางาซากิเมื่อหลายปีก่อน กฎหมายของญี่ปุ่นได้เพิ่มโทษพิเศษสำหรับผู้ครอบครองปืนที่มีประวัติอาชญากรรม
นายคาเนโยชิ คูวาตะ เจ้าพ่อรายหนึ่งของญี่ปุ่น ถูกตัดสินจำคุก 7 ปี หลังจากตำรวจตรวจพบปืน 1 กระบอกในรถของเขา ถึงแม้ไม่มีหลักฐานว่าเขาได้ก่อเหตุอาชญากรรมใดๆเลย หลังเหตุครั้งนั้น หัวหน้ายากูซ่ารายหนึ่งยอมรับว่า “มีปืนไว้กับตัวเหมือนกับมีระเบิดเวลา”
ประชาชนชาวญี่ปุ่นแทบจะไม่สามารถครอบครองปืนได้ โดยกฎหมายเปิดช่องให้มีปืนสำหรับการล่าสัตว์ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ขั้นตอนการขออนุญาตยากมาก เป็นต้นว่า
1. ต้องเข้ารับการอบรมภาคทฤษฎีเรื่องปืนและกฎหมาย โดยผ่านการสอบข้อเขียน
2. ทดสอบยิงปืนในสนาม โดยต้องผ่านเกณฑ์ความแม่นยำ 95%
3. เข้ารับการตรวจสุขภาพกายและจิตใจที่โรงพยาบาล เพื่อยืนยันว่าไม่เคยเกี่ยวข้องกับสารเสพติด หรือมีปัญหาสุขภาพจิต
4. ยื่นประวัติส่วนตัวและเครือญาติกับตำรวจ โดยผู้ที่เคยมีประวัติอาชญากรรม, เป็นสมาชิกกลุ่มการเมืองหรือนักกิจกรรมที่ก้าวร้าว รวมทั้งบุคคลล้มละลาย ไม่สามารถครอบครองอาวุธปืนได้
5. ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองปืน ยังต้องขออนุญาตเพื่อซื้อกระสุนปืนอีกด้วย ซึ่งการซื้อทุกครั้งจะมีการลงบันทึกรายละเอียดของผู้ซื้อ และจำนวนกระสุนที่ซื้อไป
6. จะต้องแยกเก็บปืนและกระสุนไว้คนละสถานที่ โดยต้องมีตู้เก็บปืนเฉพาะ รวมทั้งต้องวาดแผนที่สถานที่เก็บปืนและกระสุนให้กับตำรวจในพื้นที่ด้วย
7. ใบอนุญาตมีอายุ 3 ปี และเจ้าของปืนจะต้องเข้ารับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ทุกครั้งที่ต่ออายุ
8. ถ้ามีบุคคลในครอบครัว หรือผู้ใดร้องเรียนว่า เจ้าของปืนมีพฤติกรรมสะกดรอยตาม, ข่มขู่ หรือใช้ความรุนแรง จะถูกยกเลิกใบอนุญาตครอบครองปืนทันที
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบประวัติผู้ที่ต้องการมีปืนอย่างละเอียด โดยสัมภาษณ์ทั้งครอบครัว, หัวหน้างาน, เจ้าของบ้านเช่า ไปจนถึงเพื่อนบ้าน และแทบจะไม่ออกใบอนุญาตใหม่ ยกเว้นแต่ผู้ที่เคยครอบครองปืนอยู่แล้วเท่านั้น
กฎหมายควบคุมปืนที่เข้มงวดทำให้ทั่วประเทศญี่ปุ่น มีปืนที่ได้รับอนุญาตเพียงแค่ 271,100 กระบอกเท่านั้น จากจำนวนประชากรทั้งประเทศมากกว่า 126 ล้านคน
กฎหมายของญี่ปุ่นมุ่งที่จะ “ปลดอาวุธ” ประชาชนทั้งหมด หลังจากยุคของนักรบและซามูไรที่ต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ต่างๆ จนแดนอาทิตย์อุทัยแทบจะหาความสงบสุขไม่ได้ แต่ทุกวันนี้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอาชญากรรมต่ำที่สุดในโลก ซึ่งการควบคุมปืนอย่างเข้มงวดทำให้ความรุนแรงในการก่อเหตุลดลง
สถิติล่าสุดเมื่อปี 2011ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนเพียงแค่ 11 คน และบาดเจ็บ 28 คน โดยผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดจากปืนลั่นขณะล่าสัตว์ ส่วนผู้เสียชีวิต 5 รายเป็นการฆ่าตัวตาย ที่เหลือเป็นการฆ่าล้างแค้นของแก๊งอาชญากรรม
ชาวญี่ปุ่นจึงไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องมีอาวุธใดๆ และไม่อาจเข้าใจที่คนไทยบางคนต้องพกปืนติดตัวตลอดเวลา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นรายหนึ่ง ระบุว่า “ในญี่ปุ่นมีเพียงยากูซ่าและตำรวจเท่านั้นที่มีปืน”