ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
สังคมไทยมีการนำเข้าแนวคิดและวิธีการปกครองระบอบประชาธิปไตยจากตะวันตกมาร่วม 83 ปี แต่การที่สังคมไทยมีเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากประเทศตะวันตกอย่างสิ้นเชิง ประชาธิปไตยไทยจึงมีความแตกต่างจากตะวันตกในหลายหลายมิติ
แต่ละสังคมมีกระบวนการหล่อหลอมและการสร้างความเป็นเฉพาะเจาะจงของประชาธิปไตยแตกต่างกันออกไป ซึ่งยากที่จะหาข้อสรุปได้ว่ากระบวนการแบบใดที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่พึงปรารถนาแก่สังคมแต่ละแห่งมากกว่ากัน
การที่ใครอ้างว่ากระบวนการและแนวทางการสร้างประชาธิปไตยของประเทศใดประเทศหนึ่งดี มีความเหมาะสมที่ประเทศอื่นๆ นำมาเป็นตัวแบบ ย่อมเป็นการอ้างที่ขาดความรอบคอบ แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือการนำรูปแบบประชาธิปไตยสำเร็จรูปของประเทศหนึ่งมาใช้ในอีกประเทศหนึ่งอย่างมักง่าย
ผลลัพธ์ของการนำรูปแบบประชาธิปไตยของประเทศหนึ่งมาใช้ในประเทศหนึ่งอย่างมักง่าย นอกจากจะเป็นการทำลายคุณค่าของประชาธิปไตยเองแล้ว ยังทำลายคุณค่าทางสังคมของประเทศนั้นๆ และสร้างความขัดแย้งแตกแยกอย่างยืดเยื้อภายในสังคมนั้น
อย่างประเทศไทยได้นำรูปแบบประชาธิปไตยของประเทศอังกฤษมาใช้ โดยที่รากฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของประชาชนไทยแตกต่างจากประเทศอังกฤษเป็นอย่างมาก อีกทั้งกระบวนการสร้างประชาธิปไตยของอังกฤษก็มีประวัติศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจงชุดหนึ่งซึ่งแตกต่างจากสังคมไทยอย่างสิ้นเชิง การคาดหวังว่าประชาธิปไตยแบบอังกฤษจะประสบความสำเร็จในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลมากนัก
กระนั้นก็ตาม แม้จะมีบทเรียนให้เห็นอย่างยาวนานหลายสิบปี แต่ผู้ที่มีบทบาทและอำนาจในสังคมไทยก็มิได้สรุปและถอดบทเรียนอย่างจริงจังมากนัก กลับไปใช้วิธีการจับแพะชนแกะ เอารูปแบบของประเทศต่างๆ มาผสมกันจนดูยุ่งเหยิงสับสนและแปลกประหลาดพิกลพิการ ใช้รูปแบบอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็ไม่ใช่ เยอรมันก็ไม่เชิง แต่เป็นรูปแบบที่มีความสับสนทั้งในเชิงหลักคิดทฤษฎีและไม่ยืนอยู่บนข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ แต่ที่น่าขบขันคือคนเหล่านั้นกลับเข้าใจว่ารูปแบบและวิธีการของตนเองเป็นการบูรณาการอย่างเป็นระบบ
รูปแบบและกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทยในช่วงปี 2558 นี้ยังไม่ใช่การออกแบบที่เกิดจากจิตสำนึกร่วมของส่วนรวม ด้วยสถานการณ์และจุดของเวลาแห่งการพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ยังไม่สามารถบ่มเพาะจิตสำนึกของผู้คนในสังคมให้เห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ได้
สังคมไทยจึงมีความแตกต่างหลากหลายทางความคิดเกี่ยวกับกระบวนการและรูปแบบการสร้างประชาธิปไตย กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากรูปแบบเดิมโดยเฉพาะนักการเมืองก็ยังคงมองเห็นว่ารูปแบบเดิมมีความเหมาะสม ที่สำคัญคือกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีพลังอำนาจในสังคมไทยด้วยมีเครือข่ายมวลชนรองรับอยู่เป็นจำนวนมาก และสามารถชี้นำและควบคุมความคิดมวลชนเหล่านั้นให้สนับสนุนพวกเขาได้
ส่วนกลุ่มผู้ออกแบบระบอบการเมืองซึ่งถูกครอบงำความคิดโดยชนชั้นนำวิชาการด้านกฎหมาย ก็มองปัญหาปมการเมืองไทยอย่างจำกัด แม้จะอ้างว่าใช้สังคมวิทยาการเมืองเป็นรากฐานในการวิเคราะห์สังคมเพื่อออกแบบระบอบการเมือง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าคนเหล่านั้นมีความเข้าใจทฤษฎีและแนวคิดของสังคมวิทยาการเมืองมากน้อยเพียงใด
ที่น่าห่วงคือใช้ความเข้าใจแบบงูๆ ปลาๆ มาวิเคราะห์แบบสุกๆ ดิบๆ แล้วใช้การวิเคราะห์นั้นเป็นรากฐานในการออกแบบระบอบการเมือง ซึ่งผลก็ปรากฏออกมาแล้วอย่างชัดเจนว่า กลุ่มผู้ออกแบบระบอบการเมืองไม่เข้าใจสังคมไทยโดยเฉพาะความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมาจึงถูกรุมต่อต้านจากรอบทิศและถูกเสนอให้แก้ไขนับร้อยประเด็น
ส่วนกลุ่มข้าราชการซึ่งในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาตกเป็นเบี้ยล่างของนักการเมือง แต่ในยามนี้พวกเขาได้ทวงอำนาจและพลิกสถานะขึ้นมาเป็นกลุ่มอำนาจนำในสังคม ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันอิทธิพลทางการเมืองของกลุ่มนี้มีสูงยิ่ง และแน่นอนว่าพวกเขาคงไม่ยอมเสียอำนาจไปอีกโดยง่าย การออกแบบรัฐธรรมนูญที่จะสร้างผลกระทบต่อขอบเขตอำนาจของพวกเขาจึงได้รับการต่อต้านและถูกผลักดันให้เปลี่ยนแปลงในที่สุด
สำหรับประชาชนทั้งชนชั้นกลางและชาวบ้านต่างก็เหน็ดเหนื่อยทั้งคู่ ชนชั้นกลางจำนวนมากเหนื่อยหน่ายกับระบอบทักษิณ ก็หันกลับมาวางเฉยต่อการเถลิงอำนาจของกลุ่มข้าราชการ ติดยึดกับภาพลักษณ์ที่ดีของผู้นำกลุ่มข้าราชการที่เข้ามาบริหารประเทศ โดยมองข้ามโครงสร้างและกระบวนการที่ไร้ประสิทธิภาพและฉ้อฉลของระบบราชการไปชั่วคราว และคาดหวังอย่างเลื่อนลอยว่า ชนชั้นนำราชการที่บริหารประเทศจะกลายเป็นผู้นำในการปฏิรูปประเทศได้
ด้านชาวบ้านซึ่งมีจำนวนมากที่หลงใหลยึดติดกับระบอบทักษิณ ขณะนี้ก็ต้องเผชิญหน้ากับความเลวร้ายทางเศรษฐกิจและสังคมอันเป็นผลพวงที่เกิดจากระบอบทักษิณ แถมยังต้องรับเคราะห์ซ้ำเติมจากการกลับมามีอำนาจนำของกลุ่มราชการ
ผู้นำภาคประชาชนอย่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ถูกระบบและกลไกของอำนาจรัฐเล่นงานอย่างหนักหน่วง ถูกตัดสินให้ต้องชดใช้หนี้หลายร้อยล้านบาทจากการชุมนุมหน้าสนามบินสุวรรณภูมิ อันเป็นผลพวงจากการต่อสู้กับระบอบทักษิณ ขณะที่บรรดาแกนนำเสื้อแดงยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการเผาบ้านเผาเมือง
ภาพที่ผมเห็นดูเหมือนจะเป็นภาพที่เกิดขึ้นซ้ำซากคือ ตราบใดที่ประชาชน ยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอ จนสามารถสถาปนาขึ้นเป็นกลุ่มนำในการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเสียสละชีวิต เลือดเนื้อ และทรัพย์สินของประชาชนมักจะถูกช่วงชิงจากกลุ่มที่เป็นชนชั้นนำของสังคมเสมอ
บางช่วงประชาชนเสียสละชีวิตโค่นล้มชนชั้นนำราชการลง กลุ่มนายทุนนักการเมืองก็เป็นผู้ได้ประโยชน์และครอบครองอำนาจสืบต่อ บางช่วงประชาชนโค่นล้มนักการเมืองทุนสามานย์ กลุ่มชนชั้นนำราชการก็ได้ประโยชน์ ได้ลาภยศ ตำแหน่ง อำนาจอย่างทั่วหน้า ส่วนประชาชนที่เข้าต่อสู้ถากถางทาง กลับต้องเผชิญกับชะตากรรมอย่างเจ็บปวด ถูกยิงบ้าง เข้าคุกบ้าง และถูกฟ้องให้ชดใช้หนี้บ้าง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคม กว่าที่กระบวนการสร้างประชาธิปไตยจะประสบความสำเร็จ โดยมีระบบการบริหารที่มีธรรมาภิบาล มีสถาบันทางการเมืองและสังคมที่เข้มแข็ง และมีกลไกทางการเมืองที่ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการเข้าถึงอำนาจและใช้อำนาจในการจัดสรรทรัพยากรของสังคมเพื่อสร้างประโยชน์ต่อคนทั้งมวล ก็ต้องใช้เวลาและชีวิตของสามัญชนผู้เสียสละจำนวนมากเข้าไปขับเคลื่อน
แน่นอนว่า ครั้งนี้และช่วงเวลานี้ แม้มีประชาชนจำนวนมากตื่นตัวและตระหนักถึงพันธกิจและความผูกพันต่อบ้านเมือง เข้าร่วมการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปประเทศ แต่ดูเหมือนยังไม่ถึงเวลาที่แท้จริงของประชาชน เพราะว่าอำนาจถูกฉวยไปโดยชนชั้นนำราชการ และการใช้อำนาจของพวกเขาก็ยังไม่เป็นไปในทิศทางที่ตอบสนองเป้าประสงค์แห่งการปฏิรูปอย่างแท้จริง
สถานการณ์จะเคลื่อนตัวไปสู่ความเสี่ยงมากขึ้น หากรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นถูกกดดันให้ออกมาในทิศทางที่นักการเมืองและกลุ่มข้าราชการได้รับอำนาจและประโยชน์เป็นหลักแล้ว และละเลยอำนาจของภาคประชาชน
หากรัฐธรรมนูญถูกออกแบบให้ดุลอำนาจยังอยู่ที่กลุ่มชนชั้นนำราชการและนายทุนนักการเมือง ผมคิดว่าเราคงต้องนับถอยหลังเกี่ยวกับวิกฤติการณ์การเมืองครั้งใหม่ในอนาคตได้ ส่วนผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร จะเป็นแบบเดิมดังเช่นครั้งนี้หรือไม่ ก็คงจะต้องดูกันอีกที