รองประธาน สนช.ชี้องค์ประกอบรัฐธรรมนูญใหม่ที่ดีต้องมี 3 อย่าง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน-ตุลาการมีอิสระ-ยึดหลักนิติธรรม ระบุรัฐธรรมนูญในอดีตดีแต่ปัญหาคือคนไม่ปฏิบัติตาม ชี้ใช้มาสองฉบับแต่รัฐบาลออกกฎหมายลูกไม่ถึงครึ่ง แนะผู้ร่างฯ เขียนเอาผิดด้านวินัย พร้อมถอดบทเรียนในอดีตเพื่อต่อยอดจนได้ฉบับดีที่สุด
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ปาฐกถาเรื่อง “ประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ในงานสัมมนา “วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ ในมุมมองด้านวิชาการและการเมือง” จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการเมือง และคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณา เสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่าช่วงเวลานี้เป็นโค้งสุดท้ายในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ จึงจัดเวทีนี้ขึ้นเพื่อให้ทุกท่านได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีนี้ส่งไปยังกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นอีกหนึ่งข้อมูลซึ่งประชาชนมีเป้าหมายอย่างเดียวกัน คือ ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับดีที่สุด และเป็นฉบับถาวรในการใช้ปกครองประเทศเพื่อความผาสุก
นายสุรชัยกล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นทั้งกฎหมายที่จัดระเบียบการปกครองประเทศ การก่อกำเนิดองค์กรต่างๆ ในการใช้อำนาจรัฐ และเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่อะไรคือสาเหตุที่เราใช้รัฐธรรมนูญค่อนข้างเยอะ เป็นภารกิจที่เราต้องช่วยกันค้นหาสาเหตุว่าอะไรเป็นสาเหตุที่เราไม่สามารถใช้รัฐธรรมนูญถาวรได้อย่างแท้จริง โดยรัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องมีหลักการ คือ 1. มีบทคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง กำหนดกฎกติกาในการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจได้อย่างเหมาะสม มีหลักการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งพรรคการเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติได้เสียงข้างมากย่อมได้สิทธิในการเข้าไปบริหารประเทศเป็นรัฐบาล ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการแบ่งแยกและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จึงนำไปสู่การสร้างองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งเริ่มมีขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นฉบับที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ที่เพราะผู้ร่างมาจากการเลือกตั้งของประชาชน บางฝ่ายบอกว่าองค์กรอิสระที่ตรวจสอบอำนาจรัฐเหล่านี้เป็นอำนาจที่ 4 ซึ่งตนเห็นว่าไม่ใช่ แต่มันแต่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำให้หลักการแบ่งแยกอำนาจ ถ่วงดุล การตรวจสอบใช้ได้จริงเท่านั้น หาก 3 องค์กรหลักต่างเคารพกฎกติกา ใช้อำนาจในขอบเขตของตนเอง องค์กรอิสระไม่มีบทบาทอะไรเลยในการก่อให้เกิดผลร้ายหรือบทลงโทษกับ3 องค์กรหลัก
นายสุรชัยกล่าวต่อไปว่า หลักการที่ 2 จะต้องมีหลักประกันในความเป็นอิสระของตุลาการ ในการตัดสินข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะได้รับการพิจารณาวินิจฉัยด้วยความเป็นธรรม ไม่อยู่ใต้อิทธิพลใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อตุลาการเป็นอิสระ หากขาดความเป็นอิสระไม่อาจยืนหยัดให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนได้
และหลักการที่ 3 มีบทบัญญัติว่าด้วยหลักนิติธรรม ตุลาการต้องตัดสินคดีด้วยความเป็นธรรม ทุกฝ่ายมีความเข้าใจสอดคล้องตรงกันว่าจะต้องทำหน้าที่ของตัวเองภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ยามใดที่จะก่อให้เกิดการถกเถียงและความขัดแย้งในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องตัดสินโดยหลักนิติธรรม เราต้องรับฟังคำตัดสินขององค์กรที่มีหน้าที่ยุติความขัดแย้ง และองค์กรนั้นควรตัดสินด้วยหลักนิติธรรม เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ตนเชื่อมั่นว่าหลักนิติธรรมจะเป็นหลักการสำคัญของประเทศไทย ที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเมืองที่มีความเข้มแข็ง สมบูรณ์การที่กมธ.ยกร่างชูการสร้างพลเมือให้เป็นใหญ่ คือแนวคิดในการทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านกฎกติกาของรัฐธรรมนูญ
นายสุรชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญ ปี 2540 และปี 2550 เป็นสองฉบับที่มีกระบวนการในการยกร่างและส่งผ่านความคิดค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่ประเด็นที่ทำให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญไม่เกิดผลอย่างเต็มรูปแบบ คือ การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ประกาศใช้วันที่ 1 ต.ค. 2540 สิ้นสุด 19 ก.ย. 2549 เราออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกได้เพียงร้อยละ 50 เท่านั้น สิ่งที่เขียนในรัฐธรรมนูญไม่อาจใช้ได้ เพราะมีการเขียนปิดท้ายในแต่ละมาตราที่ต้องออกกฎหมายลูกว่า “ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ” เมื่อไม่มีกฎหมายลูกบัญญัติออกมาสิ่งที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญมาตรานั้นๆ ก็ไม่ได้ใช้ หลายคนก็บอกว่ารัฐธรรมนูญไม่ดี พอมาแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2550 เราถอดบทเรียนนี้โดยตัดทิ้ง แล้วไปเขียนในบทเฉพาะกาลเชิงบังคับว่ารัฐจะต้องจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกให้แล้วเสร็จภายในกำหนด ซึ่งรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เริ่มใช้วันที่ ส.ค. 2550 สิ้นสุด 22 พ.ค. 2557 เกือบ 7 ปีที่บังคับใช้ เชื่อหรือไม่ว่าประวัติศาสตร์เดินซ้ำรอย เราไม่สามารถออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกได้ครบเช่นกัน ซึ่งจากรายงานของผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบและประเมินผลการใช้รัฐธรรมนูญ เราจะต้องมีกฎหมายประกอบและกฎหมายลูก346 ฉบับ แต่ออกมาได้แค่ 188 ฉบับ ค้างอีก 158 ฉบับ หลายกลไกลที่จะต้องเกิดขึ้นยังไม่ได้ทำงาน ถือเป็นความรับผิดชอบของใคร
“เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันคิด ผู้ยกร่างฯ ต้องตระหนักและถอดบทเรียนนี้ โดยนำไปเขียนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกว่าต่อไปถ้าไม่ออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความผิดอย่างน้อยที่สุดมีความผิดทางวินัย นับเป็นเรื่องประหลาดของประเทศนี้ที่เขียนรัฐธรรมนูญแล้วต้องบังคับให้ออกกฎหมายลูกและลงโทษผู้ไม่ออกกฎหมายลูก แต่ทั้งหมดเพื่อเป็นการถอดบทเรียนร่วมกันเอาประสบการณ์ในอดีตมากองบนโต๊ะ แล้วต่อยอดความคิด เราก็จะได้รัฐธรรมนูญที่มีพัฒนาการเป็นลำดับขั้นตอน แต่ยามใดที่ร่างรัฐธรรมนูญแล้วไม่อาจใช้ได้ ไม่ว่าสาเหตุใดก็ตาม เราละทิ้งแนวความคิดนั้นและก้าวไปสู่แนวความคิดใหม่เราก็ต้องเรียนรู้ ทดลองใช้ไปเรื่อย ที่สุดจะมีคำถามจากประชาชนว่าเมื่อใดเราจะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดของประเทศไทย จึงเป็นโจทย์ที่ทุกคนต้องช่วยกันคิด”