ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สงขลา ผนึก 3 ชาติสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ IMT-GT จัดประชุมวิชาการนานาชาติ ถอดบทเรียนถ่ายทอดประสบการณ์การอนุรักษ์เมืองเก่าให้แก่กัน ขณะที่สามเมืองเก่าสงขลา ภูเก็ต โกตาซาวาลุนโต และ 5 เอ็นจีโออนุรักษ์มรดกเมืองเก่าไทย มาเลย์ อินโด ร่วมลงนามประกาศปฏิญญาสงขลา จัดตั้งประชาคมเมืองเก่าขอรัฐบาลทุกประเทศช่วยอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าอย่างยั่งยืน ภาคีคนรักเมืองสงขลาเผยนำร่องเชื่อมท่องเที่ยวเมืองเก่าปีนัง กับสงขลา พบมีศักยภาพสูง อนาคตเชื่อแบ่ง 6 ล้านนักเที่ยวมรดกโลกปีนังสร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่ให้เมืองเก่าสงขลาได้
วันนี้ (28 พ.ค.) เมื่อเวลา 9.00 น. นายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้เป็นประธานเปิดจัดการประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยเรื่องการอนุรักษ์เมืองเก่า “เมืองเก่า วิถีเดิม เสริมการท่องเที่ยว” (IMT-GT 2015 International Symposium on Livable Old-Town Tourism) ตามกรอบความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย หรือ IMT-GT ระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคม พ.ศ.2558 ณ อาคารศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.)สงขลา
ทั้งนี้ การพัฒนาเมืองเก่า เป็นหนึ่งในแผนงานด้านการท่องเที่ยวตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมภาคเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรและการท่องเที่ยว ของ IMT-GT โดยแต่ละประเทศจะคัดเลือกเมืองเก่าของตนเองเข้าร่วมคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ของไทยได้เลือกเมืองเก่าสงขลา และภูเก็ต เป็นเมืองนําร่อง ขณะที่มาเลเซีย เสนอเมืองจอร์จทาวน์ (ปีนัง) และมะละกา ส่วนอินโดนีเซีย เสนอเมืองปาเลมบัง และโกตาซาวาลุนโตโดยมีเมืองเมดาน เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุมครั้งนี้
นายธำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สงขลา มหาวิทยาลัยทักษิณ (มทษ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย จัดการประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยเรื่องการอนุรักษ์เมืองเก่าครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่ทั้ง 7 เมืองเก่าใน 3 ประเทศ IMT-GT ได้พบกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การถอดบทเรียนและประสบการณ์ในการอนุรักษ์เมืองเก่า การจัดการท่องเที่ยวและการดูแลวิถีชีวิตของประชาชนผู้อยู่อาศัย โดยมีตัวแทนจาก 4 ภาคส่วน คือ ผู้บริหารเมือง (นายกเทศมนตรี) นักวิชาการ ตัวแทนภาคการท่องเที่ยว และภาคประชาคมสังคม โดยเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์มรดกเมืองเก่า หรือเฮริเทจ เอ็นจีโอ (Heritage NGOs)
“จังหวัดสงขลาจะนำมาข้อมูลเหล่านี้กลับมาบูรณาการปรับใช้ในการวางแผนพัฒนาและรักษาเมืองเก่าสงขลาให้เป็นเมืองเก่าที่มีชีวิตชีวา เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ในฐานะที่สงขลาเป็นหนึ่งในสิบเมืองมรดกที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยเพื่อจังหวัดใช้คุณค่าเหล่านี้สร้างสรรค์เศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชื่อมโยงสู่เมืองเก่าอื่นในภูมิภาคอาเซียน ตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดที่ต้องการให้สงขลาเป็นประตูสู่อาเชียน” ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าว
อนึ่ง ความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ IMT-GT (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) เป็นความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคด้านเศรษฐกิจของสามประเทศอาเซียน ได้แก่ 8 รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย 10 จังหวัด บนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย และ 14 จังหวัดภาคใต้ของไทย
รศ.ดร.สุนทร โสถิพันธุ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กล่าวถึงรายละเอียดการประชุมครั้งนี้ว่า ได้มีการนำเสนอบทความต่อที่ประชุม 7 เรื่อง มีผู้เข้าร่วมการประชุมประมาณ 150 คน จากหลากหลายองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น นักวิชาการด้านการอนุรักษ์เมืองเก่า และเฮริเทจ เอ็นจีโอ จากประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ชาติละ 10 คน เป็นต้น โดยมีคณะกรรมการโบราณสถานแห่งชาติว่าด้วยสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศของไทย (ICOMOS Thailand) หรืออีโคโมส ประเทศไทย และอีโคโมสสิงคโปร์ ร่วมเป็นองค์ปาฐก (Keynote Speaker) และพิจารณาบทความที่นำเสนอ องค์ปาฐกที่น่าสนใจ คือ ดร.โจฮันเนส วิโดโด จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ร่วมผลักดันเมืองมะละกาสู่มรดกโลก
“การนำเสนอบทความที่น่าสนใจ เช่น มร.เบิร์ต ตัน (Bert TAN) นักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของมาเลเซียจะขึ้นพูดในหัวข้อ “มะละกาจากเมืองอลังการสู่เมืองเฮลโลคิตตี” อาจารย์ธนาวิทย์ บุญสิทธิ์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จะพูดในหัวข้อ “การจัดการท่องเที่ยวในเมืองประวัติศาสตร์ยุโรปและอเมริกาใต้ : บทเรียนสำหรับสงขลาเมืองเก่า” อาจารย์ณธทัย จันเสน คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (มจร.) นำเสนอในหัวข้อ “ชิโน-โปรตุกีส” คำนิยามเรือนแถวค้าขายในคาบสมุทรประเทศไทย อาจารย์ ดร.นัยนา โง้วศิริ และอาจารย์อรณิช สาครินทร์ จากคณะวิทยาการจัดการ มรภ.สงขลา นำเสนอหัวข้อ “การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การค้นหาความสามารถทางการแข่งขันของแหล่งท่องเที่ยวจากความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว” อาจารย์ภัทฐิตา พงศ์ธนา จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย นำเสนอหัวข้อ “การศึกษาความสามารถการรับน้ำหนักของโครงสร้างไม้ไผ่โดยวิธีการรวบลำ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงอาคารสาธารณะ ย่านเมืองเก่าสงขลา”
น.ส.ตวิษา วัฒนาเจริญพงศ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอในหัวข้อ “เวทีเมืองย่านเมืองเก่าจังหวัดสงขลา” ผศ.ดร.อุมาพร มุณีแนม และนายพงศ์ สุวรรณณัฐโชติ จากคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.).นำเสนอในหัวข้อ “บาบ๋า ย่าหยา : การสังคหมาย เชิงวัฒนธรรมใน 4 ประเทศ” อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายวันที่ 28 พฤษภาคม ภาคประชาคมสังคม ได้แก่ นายกเทศมนตรีและตัวแทน 3 เมืองเก่าที่มาร่วมประชุม คือ นายกเทศมนตรีนครสงขลา, นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต และตัวแทนรัฐบาลท้องถิ่น (Pemerintah) เมืองโกตาซาวาลุนโต และตัวแทน 5 องค์กรพัฒนาภาคเอกชนด้านการอนุรักษ์มรดกเมืองเก่า หรือเฮริเทจ เอ็นจีโอ และได้ร่วมกันลงนาม “ปฏิญญาสงขลา(The Declaration of Songkhla)” โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จัดตั้งประชาคมเมืองเก่าใน IMT - GT เพื่อให้เมืองเก่าทุกๆ เมืองได้รับการอนุรักษ์ และพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ลูกหลานได้อยู่อาศัยอย่างมีความสุขตลอดไป
5 เฮริเทจ เอ็นจีโอที่มาร่วมมือกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก ได้แก่ ปีนัง เฮอริเทจ ทรัสต์ (Penang Heritage Trust) หรือ PHT, มาเลเซีย เฮอริเทจ แอนด์ ฮีสทรี คลับ (Malaysia Heritage and History Club) หรือ MHHC, ปาเล็มบัง เฮอริเทจ (Palembang Heritage) และบาดาน วาริซัน สุมาตรา (Badan Warisan Sumatra)หรือ BWS ส่วนของไทย คือ ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม (Songkhla Heritage Trust)
นายรังสี รัตนปราการ นายกภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม กล่าวว่า ปฏิญญาสงขลา ถือเป็นมิติใหม่ของความร่วมมือใน IMT-GT และการพัฒนาด้านการอนุรักษ์มรดกเมืองเก่า ปฏิญญานี้จะประกาศว่า แม้ว่าการท่องเที่ยวจะสำคัญต่อการสร้างเศรษฐกิจ และฟื้นฟูชีวิตชีวาให้แก่เมืองเก่า แต่ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองเก่าจะต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการให้สอดคล้องต่อวิถีชีวิตท้องถิ่น และการฟื้นฟูเมืองเก่าจะต้องทำอย่างเร่งด่วนให้ทันต่อความเสื่อมโทรม และสูญสลาย การฟื้นฟูจะต้องการรับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะงบประมาณที่พอเพียงจากรัฐบาล
นายชนินทร์ สาครินทร์ รองนายกภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม กล่าวเสริมว่า ก่อนหน้านี้ภาคีฯ ได้นำร่องสานความร่วมมือกับ PHT ปีนัง หลังจากที่ภาคีฯ ได้เคยเดินทางไปศึกษาดูงาน PHT เป็นระยะตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน และนำแนวทาง ประสบการณ์ และคำแนะนำของ PHT มาปรับใช้โดยยกระดับจดทะเบียนเป็นสมาคมในปัจจุบัน ทำให้เราทราบว่า จริงๆ แล้วทางปีนังมีความสนใจที่จะเชื่อมการท่องเที่ยวมาเมืองเก่าสงขลามาก ล่าสุด เมื่อวันที่ 10-11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทาง PHT และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวปีนัง นำคณะ จำนวน 88 คน หรือ 3 คันรถบัสมาเยี่ยมชมเมืองเก่าสงขลา และเห็นศักยภาพที่สามารถจะเชื่อมโยงกลุ่มนักท่องเที่ยวปีนัง และสงขลาร่วมกันได้
“ตัวอย่างชัดเจนที่สุด คือ ก่อน ปี พ.ศ.2551 เมืองปีนัง และเมืองหาดใหญ่ ที่ปริมาณนักท่องเที่ยวใกล้เคียงกัน คือ ปีนัง ประมาณปีละ 2 ล้านคน หาดใหญ่ ประมาณ 1.5-1.6 ล้านคน แต่หลังจากปีนัง (และมะละกา) ได้รับการประกาศเป็นเมืองมรดกโลก ปัจจุบันมียอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคน ขณะที่หาดใหญ่ ยังมียอดนักท่องเที่ยวไม่เพิ่มขึ้นเลย แต่เราเชื่อว่า ในไม่กี่ปีจากนี้ไปหากมีการพัฒนาเมืองเก่าสงขลาอย่างถูกแนวทาง สงขลาสามารถดึงนักท่องเที่ยวที่รักในประวัติศาสตร์ และเมืองเก่าจากปีนังมาสู่สงขลาได้อย่างแน่นอน” รองนายกภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม กล่าว
ปฏิญญาสงขลา - นายกเทศมนตรี และตัวแทน 3 เมืองเก่าที่มาร่วมประชุม คือ นายสมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา, น.ส.สมใจ สุรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต และตัวแทนรัฐบาลท้องถิ่น (Pemerintah) เมืองโกตาซาวาลุนโต และตัวแทน 5 องค์กรพัฒนาภาคเอกชนด้านการอนุรักษ์มรดกเมืองเก่า หรือเฮริเทจ เอ็นจีโอ และได้ร่วมกันลงนาม “ปฏิญญาสงขลา (The Declaration of Songkhla)” โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จัดตั้งประชาคมเมืองเก่าใน IMT - GT เพื่อให้เมืองเก่าทุกๆ เมืองได้รับการอนุรักษ์ และพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ลูกหลานได้อยู่อาศัยอย่างมีความสุขตลอดไป
ตัวแทนที่ร่วมลงนาม คือ น.ส.สมใจ สุรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต, นายสมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา, มร.รามัล จิโน เกมส์ ตัวแทนตัวแทนรัฐบาลท้องถิ่น (Pemerintah) เมืองโกตาซาวาลุนโต, นายรังสี รัตนปราการ นายกภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม(Songkhla Heritage Trust), มร.คลิมเมนท์ เหลียง (Clement ling) ตัวแทนปีนัง เฮอริเทจ ทรัสต์ (Penang Heritage Trust) หรือ PHT, มร.ตัน เลียม คิม (Tan liam kim) ตัวแทน มาเลเซีย เฮอริเทจ แอนด์ ฮีสทรี คลับ (Malaysia Heritage and History Club) หรือ MHHC,มร.โจฮันเนส อาดิยาเอนโต (Johanes Adiyaanto) ตัวแทนปาเล็มบัง เฮอริเทจ (Palembang Heritage) และ มร.ไฮรุล (Hairul) ตัวแทนบาดาน วาริซัน สุมาตรา (Badan Warisan Sumatra)หรือ BWS โดยมี ดร.โจฮันเนส วิโดโด (Johanes widodo) เป็นสักขีพยาน
“ปฏิญญาสงขลา (The Declaration of Songkhla)” ซึ่ง 3 เมืองเก่าที่มาร่วมประชุม คือ นครสงขลา, นครภูเก็ต และรัฐบาลท้องถิ่น (Pemerintah) เมืองโกตาซาวาลุนโต กับตัวแทน 5 องค์กรพัฒนาภาคเอกชนด้านการอนุรักษ์มรดกเมืองเก่า หรือเฮริเทจ เอ็นจีโอ และได้ร่วมกันลงนาม โดยมีเป้าหมายร่วมกันจัดตั้งประชาคมเมืองเก่าในโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ (IMT - GT) เพื่อให้เมืองเก่าทุกๆ เมืองได้รับการอนุรักษ์ และพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ลูกหลานได้อยู่อาศัยอย่างมีความสุขตลอดไป