xs
xsm
sm
md
lg

ซัดร่างรธน.ครึ่งผีครึ่งคน ฝ่ายแต่งตั้งคุมฝ่ายเลือกตั้ง-แนะรื้อ4ข้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวงสัมมนา "วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ ในมุมมองด้านวิชาการ และการเมือง" ซึ่งจัดขึ้น โดยคณะกรรมาธิการการเมือง และคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณา เสนอแนะและรวบรวมความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยนายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา ในฐานะตัวแทนคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา มักให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระมากกว่าแนวทางว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร รวมทั้งในแต่ละประเด็นยังมีความเห็นที่ไม่ตกผลึก ที่ผ่านมามี 4 ประเด็น ที่สังคมตกผลึก คือ 1. นายกฯ ต้องมาจากส.ส. 2. ประธานรัฐสภา ต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร 3. ส.ส.ต้องสังกัดพรรค และ 4. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องอายุ 18 ขึ้นไป
ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญปี 2517 มีการระบุไว้อย่างน่าสนใจว่า การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะกระทำมิได้ ซึ่งตนคิดว่าน่าจะนำมาทำเป็นประเพณีการปกครอง เพื่อให้รัฐธรรมนูญอยู่ยงคงกระพัน
นายโภคิน กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญปี 40 นั้น เราไปกังวลว่า เป็นเผด็จการรัฐสภา เนื่องจากออกแบบให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็งจนบางครั้งไม่สามารถขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องไปพิจารณาหาวิธีต่อไป ส่วนตัวมองว่า รัฐธรรมนูญปี 40 ไม่ได้มีปัญหาอะไร ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 50 นั้น มีปัญหาเรื่อง การตัดสิทธิ์ ยุบพรรค และ ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคทั้งหมด ซึ่งไม่เข้าหลักนิติธรรม
ส่วนร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างตอนนี้ ก็ตัดสิทธิ์สมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ บ้านเลขที่ 109 ซ้ำอีก เป็นการลงโทษซ้ำ ไม่รู้ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็คงเดินต่อไปไม่ได้ จะเกิดปัญหาซ้ำอีก และไม่เห็นด้วยที่ให้ ส.ว.มาจากการสรรหา เพราะเราบอกว่า ให้อำนาจประชาชน แต่กลับให้ ส.ว.มาจากการสรรหา แต่ถ้าจะมาจากการสรรหา ต้องมีอำนาจจำกัดเพียงแค่ยับยั้งเท่านั้น การให้อำนาจ ส.ว. ที่มาจากการสรรหา มีอำนาจในการถอดถอน ท้ายที่สุดปัญหาก็จะกลับมาอีก
"รัฐธรรมนูญที่ร่างอยู่นี้ จะต้องประกอบด้วย 4 ประเด็น คือ 1. ต้องเกิดความปรองดอง 2. ต้องมีการกำหนดกรอบการปฏิรูปที่ชัดเจน และครอบคลุม 3. สานต่อสิ่งที่ตกผลึกไปแล้ว และ 4. ต้องมีความต่อเนื่อง พอเกิดปัญหาก็ต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตย" นายโภคิน กล่าว และว่า ส่วนประเด็นที่ระบุว่า ให้รัฐธรรมนูญแก้ไขยาก เป็นเรื่องประหลาด เพราะโดยปกติ การแก้ไขก็ยากอยู่แล้ว เพราะมีกระบวนการ และขั้นตอนซึ่งถ้าใช้ไปแล้ว แล้วมีปัญหาเกิดขึ้น ก็เท่ากับเป็นใบเทียบเชิญให้เกิดการรัฐประหารอีก
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องนำสิ่งที่ดีมาต่อยอดพัฒนาโดยไม่จำเป็นต้องไปรื้ออะไรใหม่ทั้งหมด เราต้องตอบโจทย์ว่า ทำอย่างไรให้การเลือกตั้งสุจริต มีการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีคุณภาพ ทำให้ประเทศมีการปฏิรูปและเดินหน้าต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ จากที่ได้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ มีประเด็นสำคัญอย่างน้อย 4 ประเด็น ที่ต้องมีการรื้อใหญ่ คือ
1. รื้อประเด็นการตัดสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน มาตรา 62 ที่ตัดสิทธิของประชาชนในการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ กรณีก่อสร้างโครงการที่กระทบต่อคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม ทำให้สิทธิประชานลดลง ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามคำโฆษณาชวนเชื่อที่ระบุว่า จะให้สิทธิและเสรีภาพ ต่อประชาชน รวมถึงกรณีที่จะควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งจะเป็นการจำกัดสิทธิในการได้รับการคุ้มครอง ที่สำคัญประเด็นเรื่องโอเพ่นลิสต์ ถ้ามองให้ลึก จะเป็นการจำกัดอำนาจประชาชน เพราะร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกผู้สมัคร ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อได้เพียง 1 คน ซึ่งแต่เดิมกำหนดให้เลือกทั้งบัญชี ซึ่งมีจำนวนผู้สมัคร ส.ส. ทั้งสิ้น 35 คน
2. รื้อโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน โดยตั้งสมมุติฐานแบบเผด็จการ มองว่า ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งเลวหมด และให้มีองค์กรที่มาจากการแต่งตั้ง มาควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร จะกลายเป็นอำนาจที่ 4 ทำให้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เผด็จการ ไม่ใช่ประชาธิปไตย กลายพันธุ์เป็นรัฐธรรมนูญครึ่งผี ครึ่งคน เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูป สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และคณะกรรมการปรงดองแห่งชาติ คณะกรรมการแต่งตั้งระดับปลัดกระทรวง
3. รื้อประเด็นที่อดีตเราเคยมีบทเรียน หรือเคยทดลองใช้แล้วล้มเหลว ตัวอย่างเช่น การจัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ ให้มีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) พบว่า มีการใช้อำนาจโดยรัฐบาลรักษาการ ให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ขณะที่คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ ที่ให้ส่วนหนึ่งมาจากฝ่ายการเมือง จะทำให้การเมืองสามารถไปชี้เป็นชี้ตายได้ อีกประเด็นคือ การให้รัฐบาลเข้มแข็งจนเกินไป ไม่สามารถตรวจสอบได้ เช่น มาตรา 181 ให้อำนาจนายกฯ เสนอญัตติไว้วางใจตนเองได้ ขณะที่ มาตรา 182 ให้นายกฯ สามารถเสนอ พ.ร.บ.ได้ นั้น จะเป็นยิ่งกว่าพระราชกำหนดซึ่งออกในยามเร่งด่วน แต่อันนี้เสนออะไรก็ได้ที่นายกฯ เห็นควร ตรงนี้จึงควรทบทวน
4. รื้อประเด็นอาจจะนำประเทศสู่ความวิกฤติ เช่น ตามมาตรา182 หากมีการเสนอกฎหมายนิรโทษเข้ามาอีก ประเทศนี้จะเป็นอย่างไร
ขณะที่ นายสุริยะใส กตศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราเอาปัญหาที่ผ่านมาไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะหวังว่าจะเป็นยาวิเศษ เป็นแก้วสาพัดนึก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูกทั้งหมด ส่วนตัวเห็นว่าเราไม่ควรนำทุกเรื่องไปใส่ในรัฐธรรมนูญ เพราะยังมีปัญหาที่อยู่ภายนอกซึ่งรัฐธรรมนูญไม่สามารถไปแก้ปัญหาได้หมด ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หมวดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองภาคประชาชน ไปไกลกว่ารัฐธรรมนูญ 40 และ 50 เช่น การตั้งสมัชชาพลเมือง หรือสภาตรวจสอบภาคพลเมือง ซึ่งตรงนี้มีมุมกลับที่เราต้องคิด แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะให้ตัดออก แต่เห็นว่า ควรมีการทบทวนอำนาจไม่ให้เหลือล้น เช่นเดียวกับอำนาจ ส.ว. ที่มีอำนาจในการเสนอกฎหมายที่ต้องมีการทบทวนเช่นเดียวกัน พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค พูดเรื่องความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ตนจึงไม่แน่ใจว่า ความเข้มแข็งของพรรคการเมืองจะต้องมาก่อนความเข้มแข็งของพลเมือง หรือไม่อย่างไร
" ผมอยากเห็นพรรคการเมืองส่งสัญญาณปฏิรูปทุกพรรค ไม่เช่นนั้นก็จะอยู่ในสภาวะแบบนี้ ผมไม่อยากเห็นการร่างรัฐธรรมนูญเป็นอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอุสาหกรรม โดยยังไม่เป็นนวัตกรรม เมื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ปัญหาจะกลับมาเหมือนเดิม" นายสุริยะใส ระบุ

**แนะ 3 องค์ประกอบสร้างรธน.ใหม่ที่ดี

ทั้งนี้ในช่วงก่อนการสัมมนา "วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ ในมุมมองด้านวิชาการและการเมือง" นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวปาฐกถา เรื่องประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ว่า ช่วงเวลานี้เป็นโค้งสุดท้ายในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ จึงจัดเวทีนี้ขึ้นเพื่อให้ทุกท่านได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีนี้ส่งไปยังกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นอีกหนึ่งข้อมูล ซึ่งประชาชนมีเป้าหมายอย่างเดียวกันคือต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับดีที่สุด และเป็นฉบับถาวรในการใช้ปกครองประเทศเพื่อความผาสุข
นายสุรชัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นทั้งกฎหมายที่จัดระเบียบการปกครองประเทศ การก่อกำเนิดองค์กรต่างๆ ในการใช้อำนาจรัฐ และเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่อะไรคือสาเหตุที่เราใช้รัฐธรรมนูญค่อนข้างเยอะ เป็นภารกิจที่เราต้องช่วยกันค้นหาสาเหตุว่าอะไรเป็นสาเหตุที่เราไม่สามารถใช้รัฐธรรมนูญถาวรได้อย่างแท้จริง โดยรัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องมีหลักการคือ
1. มีบทคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง กำหนดกฎ กติกา ในการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจได้อย่างเหมาะสม มีหลักการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งพรรคการเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติได้เสียงข้างมากย่อมได้สิทธิในการเข้าไปบริหารประเทศเป็นรัฐบาล ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการแบ่งแยก และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จึงนำไปสู่การสร้างองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งเริ่มมีขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นฉบับที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ เพราะผู้ร่างมาจากการเลือกตั้งของประชาชน บางฝ่ายบอกว่า องค์กรอิสระที่ตรวจสอบอำนาจรัฐเหล่านี้เป็นอำนาจที่ 4 ซึ่งตนเห็นว่าไม่ใช่ แต่มันแต่ถูก
สร้างขึ้นมาเพื่อทำให้หลักการแบ่งแยกอำนาจ ถ่วงดุล การตรวจสอบใช้ได้จริงเท่านั้น หาก 3 องค์กรหลักต่างเคารพ กฎ กติกา ใช้อำนาจในขอบเขตของตนเอง องค์กรอิสระไม่มีบทบาทอะไรเลยในการก่อให้เกิดผลร้ายหรือบทลงโทษกับ 3 องค์กรหลัก
2. จะต้องมีหลักประกันในความเป็นอิสระของตุลาการ ในการตัดสินข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะได้รับการพิจารณาวินิจฉัยด้วยความเป็นธรรม ไม่อยู่ใต้อิทธิพลใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อตุลาการเป็นอิสระ หากขาดความเป็นอิสระ ไม่อาจยืนหยัดให้ความเป็นธรรมกับประชาชนได้
3. มีบทบัญญัติว่าด้วยหลักนิติธรรม ตุลาการต้องตัดสินคดีด้วยความเป็นธรรม ทุกฝ่ายมีความเข้าใจสอดคล้องตรงกันว่า จะต้องทำหน้าที่ของตัวเองภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ยามใดที่จะก่อให้เกิดการถกเถียงและความขัดแย้งในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องตัดสินโดยหลักนิติธรรม เราต้องรับฟังคำตัดสินขององค์กรที่มีหน้าที่ยุติความขัดแย้ง และองค์กรนั้น ควรตัดสินด้วยหลักนิติธรรม เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ตนเชื่อมั่นว่า หลักนิติธรรม จะเป็นหลักการสำคัญของประเทศไทย ที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเมืองที่มีความเข้มแข็ง สมบูรณ์ การที่กมธ.ยกร่างฯ ชูการสร้างพลเมือให้เป็นใหญ่ คือ แนวคิดในการทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านกฎ กติกา ของรัฐธรรมนูญ

** ปัญหาคือมีรธน.ดีแต่คนไม่ปฏิบัติตาม

นายสุรชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมา รธน. ปี 40 และ ปี 50 เป็นสองฉบับที่มีกระบวนการในการยกร่าง และส่งผ่านความคิดค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่ประเด็นที่ทำให้การบังคับใช้รธน.ไม่เกิดผลอย่างเต็มรูปแบบ คือ การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรธน. กล่าวคือ รธน.ปี 40 ประกาศใช้วันที่ 1 ต.ค. 40 สิ้นสุด 19 ก.ย. 49 เราออกกฎหมายประกอบรธน. และกฎหมายลูกได้เพียงร้อยละ 50 เท่านั้น สิ่งที่เขียนในรธน.ไม่อาจใช้ได้ เพราะมีการเขียนปิดท้ายในแต่ละมาตราที่ต้องออกกฎหมายลูกว่า "ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ" เมื่อไม่มีกฎหมายลูกบัญญัติออกมา สิ่งที่ปรากฏในรธน.มาตรานั้นๆ ก็ไม่ได้ใช้ หลายคนก็บอกว่า รัฐธรรมนูญไม่ดี พอมาแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 50 เราถอดบทเรียนนี้ โดยตัดทิ้ง แล้วไปเขียนในบทเฉพาะกาลเชิงบังคับว่า รัฐจะต้องจัดทำกฎหมายประกอบรธน. และกฎหมายลูกให้แล้วเสร็จภายในกำหนด ซึ่ง รธน.ปี 50 เริ่มใช้วันที่ ส.ค. 50 สิ้นสุด 22 พ.ค. 57 เกือบ7 ปีที่บังคับใช้ เชื่อหรือไม่ว่า ประวัติศาสตร์เดินซ้ำรอย เราไม่สามารถออกกฎหมายประกอบรธน. และกฎหมายลูกได้ครบเช่นกัน ซึ่งจากรายงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการใช้รัฐธรรมนูญ เราจะต้องมีกฎหมายประกอบ และกฎหมายลูก 346 ฉบับ แต่ออกมาได้แค่ 188 ฉบับ ค้างอีก158 ฉบับ หลายกลไกลที่จะต้องเกิดขึ้นยังไม่ได้ทำงาน ถือเป็นความรับผิดชอบของใคร
" เรื่องนี้ เป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันคิด ผู้ยกร่างต้องตระหนัก และถอดบทเรียนนี้ โดยนำไปเขียนในรธน.ฉบับใหม่อีกว่า ต่อไปถ้าไม่ออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีความผิดอย่างน้อยที่สุด มีความผิดทางวินัย นับเป็นเรื่องประหลาดของประเทศนี้ ที่เขียนรธน.แล้วต้องบังคับให้ออกกฎหมายลูก และลงโทษผู้ไม่ออกกฎหมายลูก แต่ทั้งหมดเพื่อเป็นการถอดบทเรียนร่วมกัน เอาประสบการณ์ในอดีตมากองบนโต๊ะ แล้วต่อยอดความคิด เราก็จะได้รธน. ที่มีพัฒนาการเป็นลำดับขั้นตอน แต่ยามใดที่ ร่างรธน.แล้วไม่อาจใช้ได้ ไม่ว่าสาเหตุใดก็ตาม เราละทิ้งแนวความคิดนั้น และก้าวไปสู่แนวความคิดใหม่ เราก็ต้องเรียนรู้ ทดลองใช้ไปเรื่อย ที่สุดจะมีคำถามจากประชาชนว่า เมื่อใดเราจะได้ รธน.ฉบับที่ดีที่สุดของประเทศไทย จึงเป็นโจทย์ที่ทุกคนต้องช่วยกันคิด" นายสุรชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น