xs
xsm
sm
md
lg

สัมมนา รธน. พท.ชี้ร่างนี้ไม่แก้ปัญหาจ่อซ้ำรอยเดิม ปชป.แนะ รื้อ 4 ประเด็นใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สัมมนาวิเคราะห์ร่าง รธน. “โภคิน” จี้ รธน. ต้องมี 4 ประเด็น รวมปมสังคมตกผลึก มอง รธน. 40 ไร้ปัญหา ติงร่าง รธน. ที่ทำอยู่ตัดสิทธิซ้ำรอยปี 50 เพิ่มอำนาจ ส.ว. คงเดินต่อไม่ได้ ใช้แล้วแก้ยากปูทางรัฐประหารซ้ำ “จุรินทร์” บี้ รื้อ 4 ประเด็นใหญ่ ตัดสิทธิ ปชช. โครงสร้างบริหาราชการ ปมที่เคยลองแล้วล้มเหลว - ส่อวิกฤต “ยะใส” แนะ ไม่ควรอัดทุกเรื่องลง รธน. ทบทวนอำนาจต่างๆ หวังทุกพรรคหนุนปฏิรูป

วันนี้ (3 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวงสัมมนา “วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ ในมุมมองด้านวิชาการและการเมือง” ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการเมือง และคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา ในฐานะตัวแทนคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา มักให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระมากกว่าแนวทางว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร รวมทั้งในแต่ละประเด็นยังมีความเห็นที่ไม่ตกผลึก ที่ผ่านมา มี 4 ประเด็นที่สังคมตกผลึก คือ 1. นายกฯต้องมาจาก ส.ส. 2. ประธานรัฐสภาต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร 3. ส.ส. ต้องสังกัดพรรค และ 4. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องอายุ 18 ขึ้นไป ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญปี 2517 มีการระบุไว้อย่างน่าสนใจว่าการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะกระทำมิได้ ซึ่งตนคิดว่าน่าจะนำมาทำเป็นประเพณีการปกครอง เพื่อให้รัฐธรรมนูญอยู่ยงคงกระพัน

นายโภคิน กล่าวอีกว่า ในรัฐธรรมนูญปี 40 นั้น เราไปกังวลว่า เป็นเผด็จการรัฐสภา เนื่องจากออกแบบให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็งจนบางครั้งไม่สามารถขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องไปพิจารณาหาวิธีต่อไป ส่วนตัวมองว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ไม่ได้มีปัญหาอะไร ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 50 นั้น มีปัญหาเรื่องการตัดสิทธิ์ยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคทั้งหมด ซึ่งไม่เข้าหลักนิติธรรม ส่วนร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างตอนนี้ก็ตัดสิทธิ์สมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ บ้านเลขที่ 109 ซ้ำอีก เป็นการลงโทษซ้ำ ไม่รู้ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็คงเดินต่อไปไม่ได้จะเกิดปัญหาซ้ำอีกและไม่เห็นด้วยที่ให้ส.ว.มาจากการสรรหา เพราะเราบอกว่าให้อำนาจประชาชน แต่กลับให้ ส.ว. มาจากการสรรหา แต่ถ้าจะมาจากการสรรหาต้องมีอำนาจจำกัดเพียงแค่ยับยั้งเท่านั้น การให้อำนาจ ส.ว. ที่มาจากการสรรหามีอำนาจในการถอดถอนท้ายที่สุดปัญหาก็จะกลับมาอีก

“รัฐธรรมนูญที่ร่างอยู่นี้จะต้องประกอบด้วย 4 ประเด็น คือ 1. ต้องเกิดความปรองดอง 2. ต้องมีการกำหนดกรอบการปฏิรูปที่ชัดเจน และครอบคลุม 3. สานต่อสิ่งที่ตกผลึกไปแล้ว และ 4. ต้องมีความต่อเนื่องพอเกิดปัญหาก็ต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย” นายโภคิน กล่าว และว่า ส่วนประเด็นที่ระบุว่า ให้รัฐธรรมนูญแก้ไขยาก เป็นเรื่องประหลาด เพราะโดยปกติกระการแก้ไขก็ยากอยู่แล้ว เพราะมีกระบวนการ และขั้นตอนซึ่งถ้าใช่ไปแล้วแล้วมีปัญหาเกิดขึ้นก็เท่ากับเป็นใบเทียบเชิญให้เกิดการรัฐประหารอีก

ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องนำสิ่งที่ดีมาต่อยอดพัฒนาโดยไม่จำเป็นต้องไปรื้ออะไรใหม่ทั้งหมด เราต้องตอบโจทย์ว่าทำอย่างไรให้การเลือกตั้งสุจริต มีการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีคุณภาพ ทำให้ประเทศมีการปฏิรูปและเดินหน้าต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ จากที่ได้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญมีประเด็นสำคัญอย่างน้อย 4 ประเด็นที่ต้องมีการรื้อใหญ่ คือ 1. รื้อประเด็นการตัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน มาตรา 62 ที่ตัดสิทธิของประชาชนในการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ กรณีก่อสร้างโครงการที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ทำให้สิทธิประชาชนลดลง ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามคำโฆษณาชวนเชื่อที่ระบุว่าจะให้สิทธิและเสรีภาพต่อประชาชน รวมถึงกรณีที่จะควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งจะเป็นการจำกัดสิทธิในการได้รับการคุ้มครอง ที่สำคัญ ประเด็นเรื่องโอเพนลิสต์ ถ้ามองให้ลึกจะเป็นการจำกัดอำนาจประชาชน เพราะร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกผู้สมัคร ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อได้เพียง 1 คน ซึ่งแต่เดิมกำหนดให้เลือกทั้งบัญชี ซึ่งมีจำนวนผู้สมัคร ส.ส. ทั้งสิ้น 35 คน

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า 2. รื้อโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน โดยตั้งสมมุติฐานแบบเผด็จการมองว่า ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งเลวหมด และให้มีองค์กรที่มาจากการแต่งตั้งมาควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร จะกลายเป็นอำนาจที่ 4 ทำให้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เผด็จการ ไม่ใช่ประชาธิปไตย กลายพันธุ์เป็นรัฐธรรมนูญครึ่งผีครึ่งคน เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูป สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และคณะกรรมการปรงดองแห่งชาติ คณะกรรมการแต่งตั้งระดับปลัดกระทรวง

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า 3. รื้อประเด็นที่อดีตเราเคยมีบทเรียนหรือเคยทดลองใช้แล้วล้มเหลว ตัวอย่างเช่นการจัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) พบว่า มีการใช้อำนาจโดยรัฐบาลรักษาการ ให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ขณะที่คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ ที่ให้ส่วนหนึ่งมาจากฝ่ายการเมืองจะทำให้การเมืองสามารถไปชี้เป็นชี้ตายได้ อีกประเด็นคือการให้รัฐบาลเข้มแข็งจนเกินไปไม่สามารถตรวจสอบได้ เช่น ในมาตรา 181 ให้อำนาจนายกฯเสนอญัตติไว้วางใจตนเองได้ ขณะที่มาตรา 182 ให้นายกฯสามารถเสนอ พ.ร.บ. ได้นั้น จะเป็นยิ่งกว่าพระราชกำหนดซึ่งออกในยามเร่งด่วน แต่อันนี้เสนออะไรก็ได้ที่นายกฯเห็นควรตรงนี้จึงควรทบทวน และ 4. รื้อประเด็นอาจจะนำประเทศสู่ความวิกฤต เช่น ตามมาตรา 182 หากมีการเสนอกฎหมายนิรโทษเข้ามาอีกประเทศนี้จะเป็นอย่างไร

ขณะที่ นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เราเอาปัญหาที่ผ่านมาไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะหวังว่าจะเป็นยาวิเศษ เป็นแก้วสารพัดนึก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูกทั้งหมด ส่วนตัวเห็นว่า เราไม่ควรนำทุกเรื่องไปใส่ในรัฐธรรมนูญ เพราะยังมีปัญหาที่อยู่ภายนอกซึ่งรัฐธรรมนูญไม่สามารถไปแก้ปัญหาได้หมด ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หมวดที่เกี่ยวข้องกับการเมืองภาคประชาชน ไปไกลกว่ารัฐธรรมนูญ 40 และ 50 เช่น การตั้งสมัชชาพลเมือง หรือสภาตรวจสอบภาคพลเมือง ซึ่งตรงนี้มีมุมกลับที่เราต้องคิด แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะให้ตัดออก แต่เห็นว่าควรมีการทบทวนอำนาจไม่ให้เหลือล้น เช่นเดียวกับอำนาจ ส.ว. ที่มีอำนาจในการเสนอกฎหมายที่ต้องมีการทบทวนเช่นเดียวกัน พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค พูดเรื่องความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ตนจึงไม่แน่ใจว่าความเข้มแข็งของพรรคการเมืองจะต้องมาก่อนความเข้มแข็งของพลเมืองหรือไม่อย่างไร

“ผมอยากเห็นพรรคการเมืองส่งสัญญาณปฏิรูปทุกพรรค ไม่เช่นนั้นก็จะอยู่ในสภาวะแบบนี้ผมไม่อยากเห็นการร่างรัฐธรรมนูญเป็นอุตสาหกรรม ที่ผ่านมาการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอุสาหกรรม โดยยังไม่เป็นนวัตกรรม เมื่อนำไปสู่การเลือกตั้งปัญหาจะกลับมาเหมือนเดิม” นายสุริยะใส ระบุ



























กำลังโหลดความคิดเห็น