xs
xsm
sm
md
lg

กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะประเคนอำนาจให้ใคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

คนจำนวนไม่น้อยมีวิธีคิดแบบสุดโต่งแบบย้อนกลับ เมื่อแก้ปัญหาด้วยวิธีการหนึ่งแล้วไม่ได้ผล และที่ร้ายกว่านั้นคือวิธีการที่ใช้แก้ปัญหากลับเป็นตัวปัญหาเสียเอง คนก็มีแนวโน้มจะยกเลิกวิธีการที่พวกเขาใช้ในการแก้ปัญหา และหันกลับไปนำวิธีการเดิมๆในอดีตซึ่งเคยสร้างปัญหามาใช้อีกครั้งในท้ายที่สุดก็ตกอยู่ในวังวนของปัญหาอย่างไม่รู้จบ

หากวิธีคิดแบบนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคล ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จำกัดอยู่ในขอบเขตส่วนตัวและผู้คนรอบข้างเขา แต่หากวิธีคิดนี้เกิดขึ้นในกลุ่มคนที่กำหนดชะตากรรมของประเทศและชีวิตผู้คนจำนวนมาก ผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นย่อมมิอาจประมาณได้

ผมกำลังหมายถึงกลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทหลักในการออกแบบระบบการเมืองไทย แนวคิดและแนวทางที่พวกเขานำเสนอมาสู่สาธารณะในเวลานี้ดูเหมือนจะมีแนวโน้มตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความคิดย้อนกลับแบบสุดโต่งอยู่ไม่น้อย

ในช่วงแรกของการนำเสนอกรอบคิดพวกเขานำเสนอแนวคิดการสร้างความสมดุลทางการเมือง นัยคือความสมดุลของอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆในสังคม แต่ภายหลังเมื่อพวกเขาดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญ ความสมดุลที่ระบุไว้ในตอนแรกดูเหมือนจะถูกละเลยไป ยิ่งนานวัน “ความเอียง” ก็ยิ่งปรากฏชัดเจนมากขึ้น

สังคมไทยมีกลุ่มทางสังคมหลายกลุ่มแข่งขันกันในเชิงอำนาจ กลุ่มแรกคือกลุ่มชนชั้นนำตามประเพณีและข้าราชการระดับสูง กลุ่มที่สองคือกลุ่มทุนนักการเมือง และกลุ่มที่สามคือประชาชน สามกลุ่มที่กล่าวมานี้เป็นภาพรวม ส่วนในรายละเอียดแต่กลุ่มประกอบด้วยกลุ่มย่อยอีกมากมายโดยเฉพาะกลุ่มประชาชน

สรุปสั้นๆแบบตัดตอนประวัติศาสตร์ให้เห็นภาพชัดๆคือช่วงปี 2520-2530 กลุ่มชนชั้นนำตามประเพณีและข้าราชระดับสูงมีบทบาทหลักและมีอำนาจนำทางการเมือง ส่วนกลุ่มทุนได้รับส่วนแบ่งอำนาจบางส่วน ขณะที่กลุ่มประชาชนมีพื้นที่ทางอำนาจการเมืองเพียงเล็กน้อย

ต่อมาช่วง 2531-2540 กลุ่มทุนการเมืองเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นและแสดงบทบาทหลักใช้อำนาจทางการเมือง เหตุผลที่ผลักดันให้กลุ่มทุนการเมืองปีนป่ายขึ้นมาในตำแหน่งนำได้คือ การวางมือในบางระดับของกลุ่มชนชั้นนำตามประเพณี แต่ปรากฏว่ากลุ่มชนชั้นนำของราชการบางส่วนเกิดความรู้สึกว่าพวกเขาถูกคุกคามและริดรอดรอนขอบเขตของอำนาจ จึงพยายามช่วงชิงอำนาจกลับในปี 2534 แต่ความพยายามสืบทอดอำนาจของชนชั้นนำราชการกลุ่มนั้นไม่บรรลุผล เพราะว่าประชาชนได้ร่วมกันต่อต้านและขับไล่ออกไปจากวงจรการเมือง อำนาจนำจึงกลับมาอยู่ที่กลุ่มทุนการเมือง ขณะเดียวกันอิทธิพลทางการเมืองของประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นกลางได้เพิ่มสูงขึ้น และอิทธิพลของชนชั้นนำตามประเพณีก็ยังคงดำรงอยู่ กลุ่มที่มีอิทธิพลลดลงอย่างมีนัยคือกลุ่มชนชั้นนำราชการโดยเฉพาะกลุ่มนายทหารและข้าราชการระดับสูง

ระหว่างปี 2541-2550 ในช่วง3-4 ปีแรกกลุ่มประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นกลางมีบทบาทสูง พวกเขาได้ผลักดันให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 จนประสบความสำเร็จ มีการเพิ่มบทบาทของประชาชน จากเดิมที่เคยเป็นได้เพียงแต่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ให้เข้าไปอยู่ในโครงสร้างที่เป็นทางการของรัฐธรรมนูญ แต่ต่อมาพบว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนภายใต้โครงสร้างดังกล่าวมิอาจเป็นจริงได้ เพราะว่าถูกกลุ่มทุนการเมืองสกัดกั้นเอาไว้หมด

กลุ่มทุนการเมืองเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญปี 2540 มากที่สุด พวกเขาสนุกสนานกับการใช้อำนาจ ยุทธศาสตร์ทางอำนาจที่พวกเขาใช้คือการบั่นทอนอิทธิพลของกลุ่มข้าราชการทั้งระบบและขยายขอบเขตไปคุกคามกลุ่มชนชั้นนำตามประเพณี ขณะเดียวกันก็ใช้ยุทธศาสตร์ครอบงำความคิดของประชาชนทั้งชนชั้นกลางและชาวบ้านทั่วไป จนทำให้กลุ่มประชาชนจำนวนมากตกอยู่ในมายาคติและหลงให้การสนับสนุนกลุ่มทุนการเมืองอย่างไม่มีเคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ทว่าการครอบงำของกลุ่มทุนทางการเมืองดำรงอยู่ได้ไม่นานนัก กลุ่มชนชั้นกลางเริ่มมีความตระหนักและเห็นภัยร้ายที่เกิดจากการลุแก่อำนาจและการทุจริตของกลุ่มทุนการเมือง จึงร่วมกันต่อต้านขับไล่กลุ่มทุนการเมืองออกจากระบบการเมืองไทย แต่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่กลุ่มชาวบ้านจำนวนมากยังคงตกอยู่ภายใต้มนตราและวาทกรรมของกลุ่มทุนการเมือง

กลุ่มประชาชนชนชั้นกลางผสานกับบางส่วนของกลุ่มชนชั้นนำตามประเพณีดำเนินการเคลื่อนไหวต่อต้านและขับไล่กลุ่มทุนการเมืองอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดกลุ่มข้าราชการระดับสูงบางกลุ่มก็เข้าร่วมด้วยและสามารถขับไล่กลุ่มทุนการเมืองได้สำเร็จลงชั่วคราวในปี 2549

ระหว่างปี 2551-2560 เป็นยุคแห่งการขยายขอบเขตและความเข้มข้นของการต่อสู้และแข่งขันช่วงชิงอำนาจนำทางการเมือง กลุ่มอำนาจต่างๆผลัดกันรุกและรับในเกมการเมือง ช่วงต้นกลุ่มข้าราชการระดับสูง กลุ่มชนชั้นตามประเพณีและชนชั้นกลางสามารถช่วงชิงพื้นที่ทางการเมืองได้ชั่วคราว แต่แล้วก็ถูกกลุ่มทุนการเมืองรุกกลับโดยอาศัยยุทธศาสตร์ประชานิยม อันเป็นมนตราและวาทกรรมเดิม และพวกเขานำมาปรับปรุงให้พิสดารยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มระดับความเข้มข้นในการครอบงำชาวบ้าน รวมทั้งยังใช้ยุทธศาสตร์จัดตั้งมวลชลและกลุ่มก่อการร้ายนอกระบบเพื่อเป็นเครื่องมือในการถากถางเส้นทางอำนาจให้แก่ตนเอง จนทำให้พวกเขากลับเข้ามามีอำนาจนำสังคมอีกครั้ง

แต่แล้วในปลายปี 2556 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2557 กลุ่มประชาชนชนชั้นกลางผนึกกำลังกันอีกครั้งเพื่อขับไล่นายทุนนักการเมืองออกไปจากระบบการเมือง ช่วงแรกดูเหมือนการต่อสู้ของประชาชนครั้งนั้นจะประสบความสำเร็จโดยสามารถรุกไล่กลุ่มทุนการเมืองจนเกือบจนมุม แต่ด้วยกลไกของระบบการเมืองบางอย่างและวัฒนธรรมทางการเมืองไทยจึงทำให้ ประชาชนไม่สามารถเอาชัยชนะกลุ่มทุนทางการเมืองได้อย่างเด็ดขาด และทำกลุ่มข้าราชการระดับสูงนำโดยนายทหารกลุ่มหนึ่งได้โอกาสเข้าควบคุมอำนาจ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา

ประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยที่กล่าวมาอย่างสังเขปข้างต้น กลุ่มประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นกลางพยายามต่อสู้และเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังปัญญาเพื่อขับเคลื่อนการเมืองไทยให้พัฒนาไปในเส้นทางของประชาธิปไตยแบบมีธรรมาภิบาลและมีการใช้อำนาจไปในทางที่ถูกต้องตามหลักนิติธรรม มีประชาชนเสียสละชีวิตท่ามกลางการต่อสู้นับร้อยคน มีผู้บาดเจ็บหลายพันคน แต่ทว่าผลลัพธ์หรือชัยชนะของการต่อสู้มักจะถูกช่วงชิงไปด้วยกลุ่มทุนการเมืองบ้างหรือกลุ่มข้าราชการระดับสูงบ้าง ซึ่งทั้งสองกลุ่มล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มหลักที่มีส่วนสำคัญในการสร้างปัญหาแก่สังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ในยามนี้อำนาจนำตกอยู่ในมือของกลุ่มข้าราชการระดับสูง แต่โปรดอย่าลืมว่าอำนาจเหล่านั้นมิได้มาจากปืนและกำลังคนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของใครคนใดคนหนึ่ง ลำพังอาศัยปัจจัยสองประการข้างต้นไม่มีทางที่กลุ่มข้าราชระดับสูงจะมีความชอบธรรมในการควบคุมอำนาจได้ โปรดระลึกถึงความจริงว่าความชอบธรรมที่เกิดขึ้นและปูทางให้ท่านเข้าสู่อำนาจนั้นมาจากการต่อสู้และการเสียสละชีวิตของประชาชน

ผู้ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับการคัดเลือกจากกลุ่มข้าราชการระดับสูงที่คุมอำนาจอยู่ ก็โปรดระลึกว่าการที่พวกท่านได้มีโอกาสร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ประชาชนกลุ่มชนชั้นกลางมีส่วนและบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้ท่านมีวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่พวกท่านกำลังยึดกุมอนาคตของประเทศและประชาชนเอาไว้

ดังนั้นการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะประเคนอำนาจให้แก่ข้าราชระดับสูงและข้าราชเกษียณจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะการกระทำเช่นนั้นเท่ากับเป็นการทรยศต่อประชาชน


จึงขอให้คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญทบทวนความคิดในการร่างรัฐธรรมนูญเสียใหม่เพราะสิ่งที่พวกท่านเสนอในวันนี้ แม้ดูเผินๆ จะเหมือนเป็นการลดอำนาจนายทุนนักการเมือง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าท่านจะนำอำนาจนั้นไปจัดสรรแก่ประชาชนในเรื่องใดบ้างและอย่างไร ดูเหมือนพวกท่านจะถูกครอบงำด้วยกรอบคิดแบบคับแคบว่าเมื่อลดอำนาจของนักการเมือง ก็นำอำนาจนั้นไปให้แก่ข้าราชการระดับสูงแทน หากคิดได้แค่นี้ก็ได้แต่สงสารอนาคตของประเทศ

ตัวอย่างง่ายๆ ที่แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดแบบนี้คือ การที่พยายามนำการเลือกตั้งไปให้ข้าราชการระดับสูงเป็นผู้จัด ขอถามว่าทำไมไม่ให้ประชาชนจัดหรือพวกท่านคิดหากลไกที่ให้ประชาชนเข้าไปจัดเลือกตั้งไม่ได้ ก็เลยคิดแบบสิ้นคิดดังที่เสนอออกมา หรือการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงที่กำหนดให้มี คณะกรรมการที่ประกอบด้วยข้าราชการทั้งนั้นเป็นผู้แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงแทนนายทุนนักการเมือง หากคิดได้เพียงแค่นี้ ผมก็ไม่เห็นอนาคตเท่าไรนัก

ผู้ร่างรัฐธรรมนูญควรคิดให้หนัก คิดให้มาก และฟังให้มากก่อนที่จะตัดสินใจกำหนดอะไรลงไป และที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า การแสวงหาหนทางและกลไกที่เป็นจริงในการทำให้ประชาชนเข้าไปมีหุ้นส่วนในอำนาจการเมืองอย่างมีประสิทธิผลเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น