ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
สภาปฏิรูปกำหนดเป้าหมายสำคัญ 6 ประการ 1. ต้องได้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีความเหมาะสมต่อสภาพสังคมไทย 2. มีระบบเลือกตั้งสุจริตและเป็นธรรม 3 มีกลไกในการป้องกันและขจัดการทุจริต 4. ขจัดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในสังคมและพัฒนาที่ยั่งยืน 5. กลไกรัฐสามารถบริการประชาชนอย่างทั่วถึง และ 6. ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม
เป้าหมายทั้ง 6 ดูดีพอสมควร แต่บางข้อมีความเป็นนามธรรมสูง เช่นข้อ 1 ที่ว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีความเหมาะสมต่อสภาพสังคมไทย คงมีผู้คนถามไถ่และถกเถียงกันมากว่าประชาธิปไตยแบบใดเหมาะสมต่อสังคมไทย ในบทความนี้ผมเลยลองพยายามทำความเข้าในสังคมไทยในบางแง่มุมเป็นเบื้องต้น
เริ่มแรกคงต้องมาพิจารณากันว่าแต่ละคนเข้าใจสังคมไทยอย่างไร หลายครั้งเรามักได้ยินประโยคว่าฝรั่งไม่เข้าใจสังคมไทย หรือ คนเมืองไม่เข้าใจคนชนบท หรือในทางกลับกันคนชนบทไม่เข้าใจคนเมือง แต่ละคนก็มีมุมมองต่อสังคมไทยแตกต่างกัน ฝรั่งบางคนเพียงแค่วิจัยเรื่องบางเรื่อง ก็ถูกยกย่องจากบรรดาสานุศิษย์ว่าเป็นผู้มีความเข้าใจสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าขันเอามากๆสำหรับการอ้างเช่นนั้น
ผมเองก็เข้าใจสังคมไทยไม่มากนักแม้ว่าจะได้สังเกต ศึกษา ค้นคว้ามาเป็นเวลานานพอสมควร เข้าใจบ้างในบางแง่มุม แต่ยังมีอีกหลายแง่มุมที่ไม่อาจเข้าใจได้หรือตีความได้ใกล้เคียงกับความจริง
ลองพิจารณาผู้คนโดยจำแนกสถานภาพทางชั้นชนเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ คือ 1) กลุ่มชั้นชนที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและอำนาจสูง 2) กลุ่มชั้นชนที่พึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจและพอจะมีอำนาจอยู่บ้างคือชนชั้นกลาง และ 3) กลุ่มชั้นชนที่มีสถานภาพทาเศรษฐกิจแบบชักหน้าไม่ถึงหลังและมีอำนาจน้อยนิดยิ่งอันได้แก่ชาวบ้านเกษตรกร และผู้ใช้แรงงาน
กลุ่มแรกมีจำนวนน้อยแต่มีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ การจัดสรรและการใช้ทรัพยากรของสังคม กลุ่มที่สองมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยส่วนมากอาศัยอยู่ในเขตเมือง ส่วนกลุ่มที่สามส่วนใหญ่อยู่ในชนบทและจำนวนไม่น้อยอยู่ตามเมืองที่เป็น แหล่งอุตสาหกรรม แต่ไม่ว่าอยู่ในเมืองหรือชนบทชาวบ้านกลุ่มนี้ก็มีความเชื่อมโยงกันเพราะส่วนใหญ่แล้วรากเหง้าดั้งเดิมของพวกเขาก็อยู่ในชนบท ดังที่เราเห็นปรากฎการณ์เดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลที่สำคัญๆไม่ว่าจะเป็นปีใหม่หรือสงกรานต์ก็ตาม
มีการกล่าวกันว่าสังคมไทยมีโครงสร้างสังคมแบบอุปถัมภ์ซึ่งมีส่วนถูกอยู่ไม่น้อย โครงสร้างสังคมแบบนี้จะมีคนที่เป็นลูกพี่ซึ่งมีทุน อำนาจและอิทธิพลเหนือลูกน้อง โครงสร้างสังคมแบบอุปถัมภ์เป็นการจัดช่วงชั้นอำนาจของกลุ่มคนที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด กลุ่มทางสังคมและ พรรคการเมืองเดียวกัน ลูกน้องส่วนใหญ่มีแนวโน้มปฏิบัติตามคำสั่งของลูกพี่ แม้ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจ จะชอบหรือไม่ชอบคำสั่งเหล่านั้นก็ตาม เหตุผลเป็นสิ่งที่ใช้น้อยมากสำหรับอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกสั่งให้ทำ เข้าประเทศ “ทำตามไปเถอะ เดี๋ยวจะดีเอง”
แม้ว่าในทางวิชาการจะมีการอภิปรายเกี่ยวกับความแตกต่างเรื่องรูปแบบของโครงสร้างอุปถัมภ์ แต่เนื้อหาความสัมพันธ์เชิงอำนาจอันเป็นแก่นของโครงสร้างสังคมแบบนี้ยังดำรงอยู่ในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากอดีตมากนัก
กลุ่มชั้นชนที่มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบอุปถัมภ์อย่างเข้มข้นคือ กลุ่มชนชั้นสูง กับชนชั้นล่าง ทำไม ก็เพราะว่าชนชั้นสูงมีความประสงค์แสวงหาและรักษาอำนาจของตนเอง หนทางที่จะทำให้สถานภาพและความมั่งคั่งดำรงอยู่ก็จะต้องสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ภายในกลุ่มของตนเอง เข้าทำนอง “นกมีขน คนมีเพื่อนและลูกน้อง” ก็จะทำการใหญ่ได้
ยิ่งกว่านั้นชนชั้นสูงระดับต่างๆทั้งระดับชาติ จังหวัด จนไปถึงอำเภอ หมู่บ้าน ยังสร้างเครือข่ายเชิงอุปถัมภ์กับกลุ่มคนตามลำดับชั้นทางสังคมที่ต่ำลงมา ดังนักการเมืองระดับชาติสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์กับนักการเมืองท้องถิ่น และผู้นำชาวบ้านในชุมชนต่างๆ เพื่อเป็นฐานทางการเมืองสำหรับตนเอง
เครือข่ายอำนาจเชิงอุปถัมภ์เป็นแหล่งที่ทำให้เกิดการลูบหน้าปะจมูก เกิดสองมาตรฐานในการดำเนินการทางกฎหมาย เอื้อต่อการทุจริตคอรัปชั่น และสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม
อย่างไรก็ตามในความเข้าใจของผม เครือข่ายอำนาจเชิงอุปถัมภ์หาได้เป็นเครือข่ายที่ครอบงำความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนในสังคมทุกกลุ่ม ผมคิดว่ามีกลุ่มชนชั้นกลางจำนวนมากไม่ตกอยู่ภายใต้เครือข่ายอำนาจเชิงอุปถัมภ์ และกลุ่มนี้มีแนวโน้มการขยายตัวมากขึ้นทุกวัน
ชนชั้นกลางมีทั้งส่วนที่เป็นปัจเจกบุคคลที่ไม่สังกัดกลุ่มใดทางการเมือง เรียนหนังสือ ทำงานตามบริษัท หรือ หน่วยงานราชการ บ้างก็ประกอบธุรกิจเป็นของตนเอง ทำอาชีพอิสระไม่พึ่งพาความปรานีของใครหากแต่ยืนหยัดบนความสามารถของตนเอง
ชนชั้นกลางบางส่วนอาจรวมเป็นกลุ่มหรือเครือข่าย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในเครือข่ายเป็นความสัมพันธ์ในแนวระนาบ นั่นคือทุกคนมีอำนาจเท่าเทียมกัน เคารพซึ่งกันและกัน รวมทั้งใช้เหตุผลและการตัดสินใจอย่างเป็นอิสระทางการเมือง
ชนชั้นกลางในสังคมไทยมีพัฒนาการต่อสู้ทางการเมืองอย่างยาวนาน แม้ว่ากลุ่มคนไม่ต่อเนื่องกันก็ตาม ตั้งแต่ช่วง 14 ตุลาคม 2516 และ 17 พฤษภาคม 2535 ต่อสู้กับเผด็จการทหาร ต่อมา ช่วงต้นปี 2549 2551 และ 2557 ก็ได้ต่อสู้กับเผด็จการทุนสามานย์ ชนชั้นกลางส่วนใหญ่พยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่มีธรรมาภิบาล แต่ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายเพราะว่า ประชาธิปไตยของไทยยังคงเป็นประชาธิปไตยภายใต้การควบคุมกำกับของกลุ่มทุนสามานย์อันเป็นชนชั้นสูงทางเศรษฐกิจซึ่งได้สร้าง “ประชาธิปไตยแบบอธรรมภิบาล” หรือ “ประชาธิปไตยแบบอุปถัมภ์” ขึ้นมาโดยอาศัยเครือข่ายอำนาจเชิงอุปถัมภ์เป็นฐาน
ส่วนสภาปฏิรูปจะสร้างประชาธิปไตยแบบใดที่เหมาะสมกับสังคมไทย ก็คงต้องครุ่นคิดให้รอบคอบและทำความเข้าใจกับสังคมไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อย่าไปคิดว่าเป็นนักวิชาการ เป็นนักพัฒนาเอกชน เป็นอดีตข้าราชการ และนักธุรกิจแล้วจะเข้าใจสังคมไทยได้ทั้งหมด
ยิ่งตามความเข้าใจของผม คงเป็นเรื่องยากอยู่พอสมควรที่จะสร้างประชาธิปไตยให้เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของกลุ่มคนทั้งสามกลุ่มดังที่กล่าวมาข้างต้น เพราะว่ารูปแบบของประชาธิปไตยบางแบบอาจเหมาะกับบางกลุ่ม แต่อาจสร้างความไม่พอใจแก่กลุ่มอื่นก็ได้ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อสภาปฏิรูปอยู่ไม่น้อยที่เดียวสำหรับเป้าหมายนี้