xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไทย: สัญญาณแห่งความยุ่งยากเริ่มปรากฏ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งของประเทศไทยเผชิญวิกฤติความชอบธรรมอย่างรุนแรงเมื่อต้นปี 2557 การชุมนุมประท้วงรัฐบาลซึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2556 ได้ขยายตัวออกเป็นวงกว้าง แม้รัฐบาลช่วงนั้นประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกตั้งใหม่เพื่อแสวงหาความชอบธรรมก็ไม่อาจหยุดยั้งกระแสวิกฤติการณ์ให้ลดลงได้ การสูญสิ้นความชอบธรรมได้ลุกลามจากรัฐบาลไปสู่ระบบการเมืองแบบเลือกตั้ง ประชาชนไม่เพียงแต่ต่อต้านรัฐบาลเท่านั้น ยังต่อต้านการเลือกตั้งอีกด้วย และนั่นหมายถึงการสูญสิ้นความชอบธรรมอย่างถึงที่สุดของระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง

ปัญหาของระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งของไทยมีมาอย่างยาวนาน สังคมได้พยายามแก้ไขหลายครั้งหลายครา ตั้งแต่การผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่หลังเหตุการณ์พฤษภาคมทมิฬ พ.ศ. 2535 จนนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540 การเขียนรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นมีการออกแบบเชิงสถาบันโดยใช้แนวทางรัฐธรรมนูญนิยม ซึ่งเป็นการร่างรัฐธรรมนูญโดยการวิเคราะห์สภาพสังคมวิทยาการเมืองเพื่อเป็นฐานในการร่างรัฐธรรมนูญ มีการใช้ผู้ร่างที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมที่ไม่ใช่นักการเมือง มีการสร้างสถาบันทางการเมืองใหม่ๆขึ้นมาเพื่อควบคุมและจัดการเลือกตั้ง ตลอดจนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และมีการกำหนดแนวทางให้มีพรรคการเมืองและรัฐบาลที่เข้มแข็ง

เมื่อมีการนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ไปปฏิบัติ ความสำเร็จที่เด่นชัดของรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 คือการทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งและการมีรัฐบาลที่เสถียรภาพสูง แต่ความเข้มแข็งของพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นมีความหมายเพียงแค่ว่าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคมีอำนาจเหนือสมาชิกพรรคได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หาได้มีความหมายว่าสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจทางการเมืองที่สำคัญของพรรค เช่น การตัดสินใจเลือกและกำหนดว่าใครจะเป็นผู้สมัครในเขตเลือกตั้งของตนเอง

ส่วนความสำเร็จอีกอย่างคือ การมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูงส่งผลให้รัฐบาลมีอำนาจมากซึ่งเป็นผลจากการออกแบบเชิงโครงสร้างรัฐธรรมนูญผนวกกับสภาพทางสังคมวิทยาแบบไทยซึ่งห่อหุ้มด้วยระบบอุปถัมภ์และการเล่นพวกเล่นพ้อง ตลอดจนความเชื่อและค่านิยมแบบอำนาจนิยม ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าวรัฐบาลของชนชั้นนำทางการเมืองจึงได้ฉวยโอกาสสถาปนาระบบอุปถัมภ์ขนาดใหญ่ขึ้นมาโดยใช้มาตรการประชานิยมและการเลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องพึ่งพาและขึ้นต่อรัฐบาลอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ชนชั้นนำทางการเมืองยังทำการกระชับอำนาจ โดยกวาดต้อนบรรดานักการเมืองให้เข้าไปอยู่ในสังกัดเพื่อความง่ายในการควบคุม พรรคการเมืองหลายๆพรรคจึงถูกทำให้ล่มสลายไป ยิ่งกว่านั้นพวกเขายังเข้าไปควบคุมบงการระบบราชการได้อย่างเบ็ดเสร็จโดยการสถาปนาระบบอำนาจแบบใหม่ขึ้นมาที่หยิบยืมแนวทางจากการบริหารธุรกิจ มีการออกแบบระบบการทำงานของหน่วยงานราชการใหม่โดยกำหนดมาตรวัด ตัวชี้วัดผลงาน และมุ่งเน้นสู่ผลลัพธ์โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ แต่แทนที่จะใช้ตัวชี้วัดผลงานเพื่อการพัฒนาระบบงานในการตอบสนองประชาชน กลับมีการใช้ตัวชี้วัดเป็นเครื่องมือเพื่อควบคุมการแต่งตั้งโยกย้าย และเล่นงานข้าราชการที่ไม่คล้อยตาม ผลที่ตามมาคือทำให้การบริหารบุคคลเกิดความโกลาหลและการซื้อขายตำแหน่งราชการขยายออกไปอย่างกว้างขวาง

ดุลอำนาจของสังคมไทยเกิดการแตกสลาย คุณธรรมและธรรมาภิบาลถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง เมื่อสังคมเกิดความตระหนกต่อปัญหาดังกล่าว แรงตอบโต้จากฝ่ายประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นกลางจึงก่อตัวขึ้นมา การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของชนชั้นนำทางการเมืองขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง แต่ทว่าชนชั้นนำของพรรคการเมืองได้อาศัยเปลือกของระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งห่อหุ้มตนเองเอาไว้ พลังของประชาชนจึงทำได้เพียงสั่นคลอนสถานภาพและความชอบธรรมของกลุ่มชนชั้นทางการเมืองเท่านั้น มิสามารถโค่นล้มพวกเขาได้ อย่างไรก็ตามด้วยสภาพสังคมวิทยาการเมืองของไทยซึ่งอำนาจของกองทัพยังเป็นที่ยอมรับของผู้คนส่วนใหญ่ ในท้ายที่สุดกองทัพก็ได้เข้ามายุติการใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งลงชั่วคราว

ความพยายามปรับปรุงระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งครั้งแรกกระทำในปี 2550 ซึ่งมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่โดยทำให้การตรวจสอบอำนาจของรัฐบาลทำได้ง่ายขึ้น มีการปรับปรุงระบบการเลือกตั้งเล็กน้อย ตลอดจนปรับปรุงที่มาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่การปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนเชิงโครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นมิเพียงพอจะแก้ปัญหาได้ ปัญหาเดิมยังคงดำรงอยู่และปัญหาใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิมก็ได้ก่อตัวขึ้นมา

ชนชั้นนำทางการเมืองได้ใช้สภาพสังคมวิทยาการเมืองแบบระบบอุปถัมภ์ผสมผสานทั้งการใช้อำนาจ เงินตรา การสื่อสาร และวาทกรรมปลุกระดมแบ่งแยกคนในสังคมออกเป็นสองขั้วการเมือง ใช้ความรุนแรงและกำลังอาวุธเพื่อทำร้ายและทำลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตนเอง และไปถึงขั้นเข่นฆ่าฝ่ายตนเองเพื่อทำลายความชอบธรรมฝ่ายตรงข้าม ตลอดจนสร้างสถานการณ์จลาจลเผาบ้านเผาเมืองขึ้นมาเพื่อสร้างความเสียหายแก่บ้านเมืองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในทำนอง “หากตัวข้าไม่ได้ครอบครองอำนาจ ผู้อื่นอย่าหวังว่าจะได้อยู่อย่างสงบ”

ความวิปลาสทางการเมืองเกิดขึ้นตามมาเมื่อชนชั้นนำทางการเมืองได้ส่งผู้หญิงคนหนึ่งที่ไร้ประสบการณ์ทางการเมืองและไม่มีภูมิหลังในการทำงานเพื่อบ้านเมืองมาก่อน ซ้ำยังมีปัญหาเกี่ยวกับระบบความคิด การวิเคราะห์ และระบบการควบคุมอารมณ์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ความหายนะของสังคมได้เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง เพียงสองปีที่ดำรงตำแหน่งความวุ่นวายโกลาหลเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ระบบเศรษฐกิจข้าวไทยพังพินาศด้วยนโยบายจำนำข้าว ระบบยุติธรรมถูกสั่นคลอนด้วยมีการพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมอาชญากรผู้ทุจริตที่หนีคุกไปอยู่ต่างประเทศและผู้ก่อการร้ายเอาบ้านเผาเมือง และระบบรัฐสภาได้กลายเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ ไม่มีการรับฟังหรือประนีประนอมกับเสียงส่วนน้อยใดๆทั้งสิ้น แต่ที่ตลกร้ายคือ ทั้งหมดทั้งปวงเป็นกระบวนการที่ชนชั้นนำทางการเมืองเองที่ทำลายระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งที่พวกเขาใช้เป็นเครื่องมือและข้ออ้างในการครอบครองอำนาจทางการเมือง

ปลายปี 2556 ต่อเนื่องจนไปถึงเกือบกลางปี 2557 ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางได้ผนึกพลังกันอย่างขนานใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาลและปฏิรูปการเมืองครั้งที่สอง การต่อสู้ของประชาชนได้ทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลลงไปอย่างสิ้นเชิง จนรัฐบาลต้องประกาศยุบสภาเพื่อหวังจะใช้การเลือกตั้งที่ตนเองควบคุมได้เป็นกลไกในการสร้างความชอบธรรมขึ้นมาใหม่ แต่ทว่ารัฐบาลต้องฝันสลายเมื่อความต้องการของประชาชนพัฒนาไปในอีกระดับหนึ่งนั่นคือ การปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง หรือ ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยที่ใช้การเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรมซึ่งมีการซื้อขายเสียงเข้าสู่อำนาจนั่นเอง

ข้อเรียกร้องของประชาชนเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำทางการเมืองไทยมิอาจตอบสนองได้เนื่องจากพวกเขายังมิได้เกิดความสำนึกอย่างกระจ่างแจ้งว่าพวกเขาคือต้นเหตุของปัญหา พวกเขามักจะโทษและโยนความผิดไปให้สิ่งที่พวกประดิษฐ์สร้างขึ้นมาในจินตนาการเอง เช่น อำมาตย์ หรือ ความเหลื่อมล้ำ พวกเขาจึงดื้อรั้นไม่ยอมลงจากอำนาจและปฏิรูปอย่างสันติ ซ้ำร้ายพวกเขาบางกลุ่มยังจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธอย่างผิดกฎหมายเพื่อใช้ในการก่อการร้าย ซุ่มยิงและวางระเบิดในที่ชุมนุมเพื่อสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก โดยคาดหวังให้ประชาชนเกิดความกลัวและไม่กล้าเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านพวกเขา

แต่การใช้ความรุนแรงตอบโต้ผู้ชุมนุมโดยรัฐบาลที่บอกว่าตนเองมาจากการเลือกตั้ง ทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น จนพวกเขาและระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งสูญเสียความชอบธรรมลงไปอย่างสิ้นเชิง น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะว่าหากพวกเขาเสียสละอำนาจก็อาจทำให้กระบวนการพัฒนาการของสังคมแตกต่างจากเส้นทางเดิมที่เกิดขึ้นได้ แต่เมื่อพวกเขาเลือกใช้ความรุนแรงต่อประชาชนจุดจบของพวกเขาจึงเกิดขึ้นตามแบบแผนเดิม

เช่นเดียวกัน ความคิดของกลุ่มอำนาจในสังคมไทยอีกฝ่ายหนึ่งอย่างฝ่ายทหาร แม้ว่าบางส่วนจะมีการพัฒนาไปในบางระดับตามการพัฒนาของสังคม แต่กรอบความคิดใหญ่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แทนที่กลุ่มอำนาจฝ่ายทหารจะสนับสนุนฝ่ายประชาชนเพื่อดำเนินการสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยให้ประชาชนนำแล้วพวกเขาสนับสนุนหรือเป็นฐานให้ประชาชน พวกเขากลับอาศัยพลังของประชาชนเป็นฐานและฉกฉวยเป็นเงื่อนไขในการสถาปนาอำนาจนำทางการเมืองขึ้นมาเอง โดยยุติระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งตามกรอบคิดแบบเดิม อันได้แก่การยึดอำนาจหรือควบคุมอำนาจ แล้วแต่จะเรียกขานเอา

เมื่อควบคุมอำนาจได้แล้ว ชนชั้นนำทางทหารพยายามประคองเสถียรภาพของสังคมและประสานกระแสความต้องการปฏิรูปการเมือง การพยายามรักษาความมั่นคงสร้างความปลอดภัยเพื่อให้สังคมมีเสถียรภาพเป็นสิ่งหนึ่งที่ชนชั้นกลางต้องการ เพราะว่าก่อนหน้าที่ทหารเข้าควบคุมอำนาจ สังคมไทยเสมือนหนึ่งตกอยู่ในสภาพกลียุค การวางระเบิดและการสังหารผู้ต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย เมื่อทหารเข้าควบคุมอำนาจก็ได้ดำเนินการจัดการกับกองกำลังติดอาวุธเหล่านั้นจนกระทั่งเกิดความสงบลงชั่วคราว อันยังความพึงพอใจแก่ชนชั้นกลางเป็นยิ่งนัก

ด้านการปฏิรูปประเทศมีการแต่งตั้งคณะบุคคลเข้าไปดำเนินงานในสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนของสภาปฏิรูปนั้นมีความหลากหลายของผู้คนมากพอสมควร แต่ทว่าอำนาจหน้าที่มีเพียงจำกัดเท่านั้น ทำได้เพียงศึกษาและเสนอแนะข้อคิดเห็นแก่องค์อำนาจทั้งหลายอันประกอบด้วย คสช. สนช. คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากองค์อำนาจเหล่านั้นไม่เห็นด้วยข้อเสนอต่างๆก็เป็นเพียงกระดาษเปื้อนหมึกราคาแพงเท่านั้น อาจที่แท้จริงมีอยู่อย่างเดียวคืออำนาจในการรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จแล้ว แต่ก็เป็นอำนาจที่ทำลายตนเองด้วย เพราะหากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปก็ต้องสิ้นสลายไปด้วย

ในยามนี้ก็เริ่มปรากฏสัญญาณอย่างชัดเจนแล้วว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นเพียงฉากประดับบริบทอำนาจเท่านั้น สิ่งที่เป็นตัวบ่งชี้อย่างชัดเจนคือ ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการเมืองของสปช. ถูกตอบโต้และปฏิเสธจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรงและไม่ไว้หน้าใดๆทั้งสิ้น

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นชนชั้นนำทางวิชาการจึงเป็นองค์อำนาจที่มีพลังต่อการกำหนดทิศทางของการเมืองไทยในอนาคต องค์ประกอบหลักของผู้คนในคณะฯนี้เป็นนักกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ ถัดไปเป็นนักรัฐศาสตร์ ส่วนที่เหลือประปรายผสมผสานกันไป ที่น่าสนใจก็คือคณะกรรมการร่างฯประกาศใช้แนวทางรัฐธรรมนูญนิยมที่จะต้องพิจารณาสภาพสังคมวิทยาการเมืองของสังคมไทยเป็นหลัก แต่ดูเหมือนทั้งนักสังคมศาสตร์ นักพฤติกรรมศาสตร์ นักมานุษยวิทยา และนักประวัติศาสตร์แทบจะไม่มีอยู่ในคณะกรรมการฯชุดนี้ และไม่มีบทบาทอันสำคัญใดในการร่างรัฐธรรมนูญแม้แต่น้อย

ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งคือนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญอยู่ในคณะกรรมการร่างฯ ฉบับนี้ เป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยมีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540 ยังคงต้องตามแก้ไขกันยังไม่หมดไม่สิ้น ผมเกรงว่าในอนาคตปัญหาใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่นี้อาจมีความซับซ้อนและรุนแรงยิ่งกว่าเดิม ด้วยเหตุที่ว่ากรอบคิดหลักและวิธีการหลักของคณะผู้ร่างนี้ ยังคงเป็นดุจเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ที่เปลี่ยนก็เป็นเพียงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆประเภทตัดโน่น เติมนี่ไปตามประสาเท่านั้นเอง

สภาพสังคมวิทยาการเมืองในปัจจุบัน ความคิดทางการเมือง พฤติกรรม และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของชนชั้นกลางและชาวบ้านในยุคที่ผ่านการสั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ย่อมแตกต่างจากยุคก่อนปี 2540 และยุคก่อนปี 2530 แต่หากคิดแบบฉาบฉวยก็จะเข้าใจว่ามีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งจะนำไปสู่การสรุปที่คลาดเคลื่อนและนำไปสูการเขียนข้อเสนอหรือร่างรัฐธรรมนูญตามความคิดที่ผิดพลาดของตนเองได้

หากชนชั้นนำทางทหารและชนชั้นนำทางวิชาการเอาแต่ความคิดของกลุ่มตนเองเป็นหลัก และไม่รับฟังความคิดที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆในสังคมบ้างดังที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ผมเห็นว่าเป็นสัญญาณของความยุ่งยากและเป็นชนวนของปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้


ทักษิณ ชินวัตร
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น