xs
xsm
sm
md
lg

สปช.ถกปฏิรูปสกัดนักการเมืองโกง สอบบัญชี-ภาษีย้อนหลัง5ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.50 น.วานนี้ (15ธ.ค.) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตาม และให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องสรุปความเห็น หรือข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา 18 คณะ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาแล้วเสร็จ เป็นวันแรก โดยการประชุมดังกล่าว นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช. คนที่ 1 ในฐานะประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้นำคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เข้าร่วมรับฟังข้อเสนอ และความเห็นของสปช.ด้วย
นายไพโรจน์ พรหมสาส์น ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวรายงานต่อที่ประชุมว่า กรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 18 คณะ มีประเด็นที่นำเสนอ รวม 246 เรื่อง เมื่อจำแนกตามโครงร่างรธน. และเรียงลำดับตามประเด็นที่เสนอ พบว่า ในส่วนของภาคที่ 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง มีประเด็นที่นำเสนอมากที่สุด คือ 133 ประเด็น โดยอยู่ในส่วนของแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ จำนวน 82 เรื่อง รองลงมาคือ การกระจายอำนาจ และการปกครองท้องถิ่น 16 เรื่อง ขณะที่หมวดว่าด้วยประชาชน ซึ่งจัดอยู่ในภาคที่ 1 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์และประชาชน มีประเด็นที่นำเสนอ 43 เรื่อง ส่วนภาคที่ 4 ว่าด้วยการปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง นำเสนอประเด็นทั้งสิ้น 35 ประเด็น โดยจัดอยู่ในส่วนของการปฏิรูป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างความปรองดองมากที่สุด รวม 33 เรื่อง และการสร้างความปรองดองมีอยู่ 2 เรื่อง ส่วนภาคที่ 3 ว่าด้วยนิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มีประเด็นนำเสนอทั้งสิ้น 33 เรื่อง
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นเสนอในบททั่วไป ที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส มีรายละเอียดระบุว่า ให้รัฐธรรมนูญมีขอบเขตการคุ้มครองใน 4 ส่วน สำคัญ คือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ตามพันธกรณีระหว่างประเทศ การยอมรับนับถือตามกฎหมาย ประชาชนที่อาศัยในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีชาติพันธุ์ สัญชาติหรือ ศาสนาใด และ คนสัญชาติไทย ที่อาศัยอยู่ในหรือนอกประเทศไทย

**ตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคภายใน1 ปี

เมื่อเข้าสู่การอภิปราย เริ่มจากคณะกรรมาธิการปฏิรูปคุ้มครองผู้บริโภค นำเสนอโดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกมธ. กล่าวว่า ควรจัดให้มีองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ต่อภาครัฐ กำหนดกติกาเป็นธรรม ลดการฟ้องคดีไม่จำเป็นจากประชาชน แทนที่การทำกติกาต่างๆให้เป็นธรรมผู้บริโภคมากขึ้น หากทำไม่แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ต้องชี้แจงต่อสาธารณะชน และเวลาที่คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ และในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่ผ่านมา ของภาคประชาชนมีปัญหามาก ดังนั้น ในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ต้องกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน และกำหนดขั้นตอนไว้ ในข้อบังคับการประชุมสภา รวมทั้งให้มีสัดส่วนตัวแทนประชาชนผู้เสนอกฎหมายไม่น้อยกว่า 1 ใ น 3 เข้าไปมีส่วนร่วมในกรรมาธิการของแต่ละสภา
นายชูชาติ อินสว่าง สปช.สุพรรณบุรี อภิปรายว่า องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่ขึ้นอยู่กับรัฐ เช่น องค์การอาหารและยา (อย.) กสทช. กรมการค้าภายใน เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง อีกทั้งการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่มีความปลอดภัย และไม่มีคุณภาพ จึงเสนอขอให้มีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง
ขณะที่นายบวรศักดิ์ มีข้อสังเกตว่า ในรายงานหน้า 376 เสนอว่า ให้ครม.หลังการเลือกตั้ง เร่งจัดทำกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค นั้น เห็นว่าไม่ควรรอให้ ครม.หลังการเลือกตั้งเป็นผู้จัดทำ เพราะ กมธ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ มีเวลา 1 ปี ควรจัดทำ และ เสนอครม.

**ยกระดับการเรียนการสอนวิทย์ -คณิต

นายศักรินทร์ ภูมิรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ต้องทำให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์เป็นวาระของประทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง โดยต้องปฏิรูปด้านต่างๆ แบ่งเป็น ระดับบุคคล ปรับรูปแบบเรียนรู้เน้นด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ ให้นำทักษะที่จำเป็นมารปรับใช้การทำงาน คิดแบบวิทยาศาสตร์แบบเป็นหตุผลทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง ทำให้ประเทศมีฐานเพียงพอต่อการพัฒนาประเทศยั่งยืน
ทั้งนี้ การพัฒนาต้องบูรณาการหลายองค์กร เชื่อมโยงนวัตกรรม เชื่อมโยงกับปราชญ์ชาวบ้าน ส่งเสริมความรู้ชุมชน มีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ประเทศที่ก้าวหน้ารวดเร็วต้องมีฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และการปฏิรูปสังคมต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาเป็นเครื่องมือ ส่งเสริม ตรวจสอบพิสูจน์ ทั้งเครื่องมือวัดความเร็ว ความชื้น
นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สปช. อภิปรายว่า ที่ผ่านมาจากคะแนน โอเน็ต วิชาวิทยาศาสตร์ ตกต่ำมากคะแนนเฉลี่ย 30 % ถือว่าตกทั้งประเทศ ที่ผ่านมาเราเน้นแต่เด็กหัวกะทิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเราอยากได้สังคมวิทยาศาสตร์ต้องไม่ละเลยส่วนที่เหลืออีก 99.99 % เพราะเด็กเก่งอย่างเดียวไม่อาจทำให้เกิดสังคมวิทยศาสตร์ได้ แต่โดนละเลยเรามองไม่เห็นความสำคัญ อีกทั้งต้องให้ความสำคัญกับการเรียนนอกห้องเรียน
นายพงศ์พโยม วาศภูติ สปช. กล่าวว่า ขอให้มีการปรับปรุงการเรียนการสอนด้านคณิตศาสตร์ เพราะมีเด็กจำนวนมากที่ต้องการจะเรียนด้านวิทยาศาสตร์ แต่ขาดพื้นฐานการคิดวิเคราะห์ในด้านนี้ ดังนั้นถ้ามีการปรับปรุงแล้ว จะทำให้สังคมไทย เป็นสังคมของคนที่มีเหตุผล และขอให้มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ปัญหาในหน่วยงานภาครัฐ เช่น การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน การใช้ที่ดิน เป็นต้นและขอให้มีการเพิ่มสัดส่วนงบประมาณเรื่องการวิจัยและพัฒนาด้วย โดยอาจเขียนให้ชัดในรัฐธรรมนูญ

**แยกกีฬาจากการท่องเที่ยว

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานคณะกรรมาธิการการปฏิรูปการกีฬา ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาปัญหาอุปสรรคที่ทำให้การกีฬาไทยมีความล่าช้า คือขาดความชัดเจนมุ่งมั่นต่อเนื่องในนโยบาย กมธ.เชื่อมั่นว่า การยกระดับกีฬายังเป็นการพัฒนาเกียรติภูมิของประเทศเป็นผลดีต่อความมั่นคงของประเทศ และความปรองดอง ดังนั้นต้องพัฒนากีฬาให้เป็นวาระแห่งชาติ เป็นหนึ่งในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐโดยบรรจุถ้อยคำไว้ใน ร่าง รัฐธรรมนูญ 2 มาตรา คือ 1. ผู้นำการเมืองที่ดี และ 2 แนวนโยบายด้านพื้นฐานแห่งรัฐ โดยระบุว่า รัฐต้องดำเนินการด้านกีฬาดังต่อไปนี้ ส่งเสริมสนับสนุนการกีฬาพัฒนาสุขภาพชีวิตจิตใจ รวมทั้งสร้างความสามัคคี และภาคภูมิใจของคนในชาติ จัดโครงสร้างพัฒนา เท่าเทียมและ ส่งเสริมกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ
ทั้งนี้ ปัจจุบันคน ผู้มีอาการป่วยไม่ได้เล่นกีฬา 73% ผู้ป่วยพักรักษาตัวในรพ. 76 % การออกกำลังกาย เป็นสิ่งที่ป้องกันการเจ็บป่วยได้ ผู้ไม่ออกกำลังกาย มีความเสี่ยงต่อการป่วยง่ายกว่าการไม่ออกกำลังกายสามเท่าตัว กีฬายังช่วยลดปัญหาครอบครัวยาเสพติด และลักษณะนิสัยส่งผลต่อความมั่นคงผาสุข
นางกูไซหม๊ะวันซาฟีน๊ะ มนูญทวี สปช. กล่าว่า เห็นด้วยกับการให้แยกการกีฬาออกจากการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวเน้นวันความสำเร็จที่ จีดีพี ส่วนกีฬาเน้นย้ำเรื่องสุขภาพ พลานามัยทีดีของคนในชาติ ตั้งศูนย์กีฬาครบวงจรสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามกีฬา เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ปวงชนชาวไทย

**สั่งสภาออกกม.เอื้อปฏิรูปภายใน 2 ปี

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวว่า เนื่องจากการทุจริต คอร์รัปชัน เปรียบเสมือนยาดำที่แทรกอยู่ในทุกภาคส่วน และมีความเชื่อมโยงต่อทุกส่วน โดยข้อเสนอแนะ มีทั้งหมด 30 ประเด็น เช่น ให้ประชาชนมีสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และในการร้องขอข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นักการเมือง หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนมีสิทธิ และหน้าที่ในการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับ จากพรรคการเมืองที่มีคุณธรรม จริยธรรม และต้องติดตามสอดส่องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทุกระดับ รวมทั้งมีสิทธิในการถอดถอนได้ กำหนดสิทธิและหน้าที่ของตรวจสอบการดำเนินนโยบายแผนงาน และโครงการสาธารณะในทุกขั้นตอน และในทุกระดับอย่างสุจริต และเที่ยงธรรม
กำหนดให้รัฐ มีหน้าที่จัดการปัญหาการทุจริต ที่เกิดขึ้นในการบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์ ของผู้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร สร้างระบบการถ่วงดุลอำนาจ และขอบเขตการใช้อำนาจหน้าที่ระหว่างผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ชัดเจน
การสอบสวนคดีทุจริต ที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการไต่สวนข้อเท็จจริงและฟ้องร้องดำเนินคดีโดยเร็วและผู้เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบหากเกิดความเสียหายในกรณีที่ล่าช้า และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย เป็นระยะ และให้มีการคุ้มครองการปฏิบัติงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ ให้มีการทำงานที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง เป็นต้น
นอกจากนนี้ควรให้เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปว่า บรรดาข้อเสนอแนะที่ผ่านการรับรองของสปช.แล้ว จะต้องตราเป็นกฎหมาย เพื่อให้มีผลบังคับ แต่หากยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น ให้สภานิติบัญญัติที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้ ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี หลังจากเปิดสมัยประชุมครั้งแรก และ บรรดาข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปของ สปช. ในเรื่องดังกล่าวที่รัฐบาลได้ยอมรับเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือเริ่มดำเนินการไปแล้วให้รัฐบาลที่ตั้งหลังจากรัฐธรรมนูญนี้ต้องดำเนินการต่อเนื่องไปให้บรรลุวัตถุประสงค์ของแนวทาง หรือมาตรการต่อนั้นต่อไปอย่างน้อย 3 ปี และให้มีกลไกหน้าที่ติดตาม ประเมินผลและให้ข้อเสนอแนะแก่ สภานิติบัญญัติ รัฐบาลและบรรดาผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้การขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปดำเนินต่อไปอย่างแท้จริง

**สอบบัญชี-ภาษีนักการเมืองย้อนหลัง 5 ปี

น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป สปช. อภิปรายว่า พลังทางสังคมในการต่อต้านการทุจริต ในขณะนี้ นั้นยังไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ เพราะปัจจุบันอุปสรรคสำคัญคือ เจตคติสังคมไทยโดยรวม ยังไม่เอื้อต่อการเอาชนะการต่อต้านการทุจริตและงบประมาณจากรัฐในการสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวยังมีน้อยมาก ดังนั้นกรรมาธิการยกร่าง ควรคิดรูปแบบเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตมากขึ้นและปฏิรูปงานของ ป.ป.ช. ทั้งในส่วนคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อแก้ปัญหาคดีที่มีเพิ่มมากขึ้น โดยจะต้องจัดการระบบใหม่ บูรณาการ การทำงานกับองค์กรต่อต้านการทุจริต และต้องแก้ไขระบบงานของสำนักงาน ป.ป.ช. เพราะเนื่องจากสำนักงานฯ มีความเป็นราชการ มากกว่าหน่วยอื่น ทำให้ลดทอนการทำงานร่วมกับภาคประชาชน
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ สปช.อภิปรายว่า ประชาชนต้องมีสิทธิรับรู้ในข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของฝ่ายการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อความโปร่งใส และมีหน้าที่ต้องติดตามการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ และผู้ที่จะเข้าตำแหน่งทางการเมืองจะต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและการภาษีย้อนหลัง 5 ปี หากไม่มีการดำเนินการถูกต้อง ประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ยอมให้บุคคลเหล่านั้นเข้าไปสู่อำนาจ เพราะหากเข้าสู่ตำแหน่งก็จะเข้าไปทุจริต และส่งเสริมบทบาททั้ง 3 ส่วน คือ ประชาชนต้องเลือกคนดีทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ หากเข้าไปแล้วไม่ดีจริงมีสิทธิที่จะถอดถอนด้วยตัวเองได้ ระบบราชการทั้งระบบต้องโปร่งใสผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งระดับสูงต้องมีคุณธรรม ไม่มีการซื้อขายตำแหน่งและภาคเอกชนต้องกล้าปฏิเสธไม่เข้าร่วมในการทุจริตและเป็นพลังในการแก้ปัญหา
ขณะที่นายอุดม เฟื่องฟุ้ง สปช.เสนอว่า จะต้องตรารัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า ต้องกระทำการวางมาตรการการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งทางแพ่ง และอาญา อย่าเพ่งเล็งเฉพาะอาญาเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น