ปธ.อนุุ กมธ.สอบการใช้อำนาจรัฐ แย้มตั้งสภาตรวจสอบภาคประชาชน 77 จว. ให้ สตง.คุม ผุดสภาจริยธรรม พร้อมเรียกกฤษฎีกาคุย 3 ธ.ค.
วันนี้ (24 พ.ย.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 8 ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการตรวจสอบองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงผลการประชุม อนุ กมธ.ต่อการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ว่าสาระสำคัญ คือ ต้องเป็นไปอย่างเปิดเผย โปร่งใสและตรวจสอบได้ รวมถึงการใช้อำนาจนั้นต้องเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ทั้งนี้ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐต้องครอบคลุมถึงการทุจริตและคอร์รัปชัน การซื้อขายตำแหน่ง การเข้าสู่ตำแหน่ง การซื้อเสียงเลือกตั้ง และตรวจสอบเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มค่าของโครงการของรัฐ รวมถึงการใช้อำนาจหน้าที่ของโดยไม่เป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติ นอกจากนั้นยังมีประเด็นตรวจสอบเรื่องจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่ง เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง รวมถึงการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงเอกชนคู่สัญญากับรัฐ บุคคลที่สนับสนุนและเกี่ยวข้องกับการกระทำที่เป็นความผิด
สำหรับกรอบพิจารณา คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีประเด็นก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง, ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง หลักการใหญ่ๆ ของการเข้าสู่ตำแหน่ง คำนึงถึงหลักการตรวจสอบขัดกันแห่งผลประโยชน์ และต้องให้ความโปร่งใส มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลและประวัติทั้งหมด ระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ต้องไม่มีการทำงานไม่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ส่วนการพ้นจากตำแหน่ง ต้องตรวจสอบไม่กระทำที่ไปขัดกันต่อหน้าที่ระหว่างดำรงตำแหน่ง เช่น พ้นตำแหน่งแล้ว ทำงานในองค์กรที่ใช้ข้อมูลจากรัฐในส่วนที่เคยดำรงตำแหน่งอยู่
สำหรับกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ประกอบด้วย 1. องค์กรของรัฐ เช่น ป.ป.ช., กกต., คตง. และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กสม. 2. ตรวจสอบโดยผู้แทนปวงชนชาวไทย คือ ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อกัน 10 ชื่อขึ้นไป ฟ้องคดีไปยังศาลปกครอง, ยุติธรรมและศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง และ 3. กลไกของสภาตรวจสอบภาคประชาชน 77 จังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่นและข้าราชการในส่วนภูมิภาค ส่วนการตรวจสอบภาคประชาชน นั้นครอบคลุมทุจริต คอร์รัปชัน จริยธรรม การเลือกตั้ง แต่รับผิดชอบในเขตจังหวัดนั้นๆ มีที่มาจากการสมัครของประชาชนหรือมีองค์กรเสนอชื่อ จะมีการขึ้นทะเบียนและสุ่มเพื่อมาทำหน้าที่ มีกำหนดวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี มีค่าตอบแทนเฉพาะเบี้ยประชุม เบื้องต้นเพื่อไม่ให้ขยายองค์กร หรือสร้างองค์กรใหม่ ให้หน่วยราชการในจังหวัด เช่น สตง.ประจำจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านธุรการต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงสภาจริยธรรมแห่งชาติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านจริยธรรม โดยมีบทลงโทษ นอกจากเผยแพร่สาธารณะแล้ว เพื่อประวัติ กำหนดบังคับอื่นๆ เพิ่มเติม น่าจะให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นฝ่ายธุรการ ขณะที่ที่มาผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีองค์กรเสนอชื่อ โดยใช้รูปแบบที่มาของ สปช. โดยผ่านการคัดกรองคุณสมบัติและสุ่มเลือกเขามาดำรงตำแหน่ง และมีวาระดำรงตำแหน่งเพียง 1 ปี ส่วนการพิจารณาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญนั้นจะนำมาพิจารณาในที่ประชุมคราวหน้าต่อไป และในวันที่ 3 ธ.ค. ทางอนุ กมธ.จะเชิญกฤษฎีกามาร่วมประชุมเพื่อเขียนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องเบื้องต้นตามกรอบและเจตนารมณ์ที่อนุฯ พิจารณาตามกรอบ