xs
xsm
sm
md
lg

สั่งสปช.-พระปกเกล้าเปิดเวทีดีเบตนศ. ลดแรงต้านคสช.-ปฏิรูปฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (24 พ.ย.) นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กล่าวว่า หน่วยข่าวได้ทำรายงานล่วงหน้ามาแล้วว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนในช่วงที่จะมีการปฏิรูป จะมีมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งกิจกรรมต่างๆถือว่าเป็นที่คาดหมายอยู่แล้ว บางส่วนทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ บางส่วนซ่อนเร้น ขณะนี้นายกฯ ต้องการเปิดเวทีให้นักศึกษา จึงได้มอบให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสถาบันพระปกเกล้า ไปพิจารณาเปิดเวทีพูดคุยแสดงความคิดเห็น ให้นักศึกษาได้ใช้พลัง ความกล้า ความรู้ ซึ่งสถาบันพระปกเกล้า มีรูปแบบอยู่แล้ว อีก 2-3 วันน่าจะเห็นรูปแบบของเวที แต่ไม่จำเป็นต้อยกเลิกกฎอัยการศึก เพราะ สปช.ทำภายใต้กฎหมายพิเศษอยู่แล้ว
"ขณะนี้ต้องการให้เกิดการพูดคุย ทำความเข้าใจ ส่วนกิจกรรมที่ทำกันอยู่ต้องมีความเหมาะสม โดยสังคมจะเป็นผู้ตัดสินเองว่า ที่ทำกันอยู่มีความเหมาะสมหรือไม่" นายสุวพันธุ์ กล่าว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกันจัดเวทีแสดงความคิดเห็นของนักศึกษาว่า ตนไม่ทราบรายละเอียดเรื่องดังกล่าว แต่ส่วนตัวมองว่าในข้อกฎหมายไม่มีปัญหา และหากมีการขออนุญาต ก็สามารถทำได้
นายวิษณุ ยังกล่าวต่อถึง ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนของสำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ตนได้รับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ และเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องผ่านสำนักกฤษฎีกา หรือที่ประชุมครม. เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้อำนาจเปิดช่องทางให้องค์กรที่รักษาการตามกฎหมาย เสนอร่างกฎหมายไปยัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เองได้
ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ป.ป.ช.เพิ่มอำนาจให้ตัวเองนั้น เรื่องดังกล่าว สนช. ยังต้องมีการพิจารณา สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ และบางส่วนอาจจำเป็นต้องแก้อย่างเร่งด่วน แต่บางส่วนก็ยังสามารถรอได้ เพราะเรายังไม่รู้ว่าสุดท้ายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะออกแบบรูปร่างหน้าตาองค์กรอิสระเป็นอย่างไร ซึ่งคาดว่ากฎหมายดังกล่าวอาจจะเข้าที่ประชุม สนช.ในวันที่ 28 พ.ย.นี้

**ปพช.เสนอแนวทางปฏิรูป


เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (24 พ.ย.) กลุ่มปฏิรูปประเทศไทยเพื่อประชาชน(ปพช.) นำโดย นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ในฐานะประธานกลุ่ม ปพช. ได้เข้ายื่นหนังสือถึง นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อเสนอแนะแนวทางในการปฏิรูปประเทศ โดยมีข้อเสนอแนะทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมและการศึกษา อย่างละ 12 ข้อ โดยนายเทียนฉาย กล่าวว่า ขอบคุณที่ช่วยกันคิดและเสนอแนวทาง เพราะสปช.ทั้งหมดต้องอาศัยความคิดเห็นของเพื่อนร่วมชาติเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหวังว่าหากมีข้อเสนออื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ก็ส่งมาได้อีก โดยข้อเสนอแนะทั้งหมดจะนำส่งให้คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องในแต่ละเรื่องนำไปพิจารณา
นายเทียนฉาย กล่าวด้วยว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนของสปช. เบื้องต้นมีข้อเสนอเข้ามาเป็นจำนวนมาก และเจ้าหน้าที่จะรวบรวมประมวลผลทันที ทั้งนี้ข้อเสนอต่างๆ มีความหลากหลาย ไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องการปราบปรามการทุจริต แต่มีทั้งเรื่องการเมือง สังคม และการศึกษา ภายใน 1-2 สัปดาห์หน้า จะได้ข้อมูลที่นำไปสู่สาธารณะได้ว่า มีประเด็นใดบ้างในการปฏิรูป ขณะนี้การปฏิรูปก็เป็นอีกหนึ่ง ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ทั้งสองอย่าง จะเดินหน้าไปด้วยกัน
เมื่อถามว่ามีประชาชนที่การออกมาต่อต้านการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะส่งผลกับการ ร่าง รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายเทียนฉาย กล่าวว่า ไม่มีผลกระทบ ขณะนี้บรรยากาศที่นี่ก็ยังดี สดชื่น แสดงว่าเรื่องปฏิรูปยังเดินหน้าอยู่ และไม่เกรงว่ากระแสต่อต้านจะทำให้การปฏิรูปสะดุด โดยจะทำการรวบรวมประเด็นทั้งหมด จากคณะกรรมาธิการทั้ง 18 คณะ ตั้งวันที่ 29 พ.ย. และจะทยอยส่งให้กับคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ทันวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นห่อของขวัญที่ส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ที่ทันเวลา
เมื่อถามถึงแนวคิดการทำประชาพิจารณ์ ควบคู่ไปกับการรับฟังความคิดเห็นจะเป็นไปได้หรือไม่ นายเทียนฉาย กล่าวว่า เป็นไปได้ เพราะเรากำลังฟังความคิดเห็น ซึ่งคือการทำประชาพิจารณ์โดยที่ท่านไม่รู้ตัว และเป็นวิธีรับฟังความคิดเห็นที่มีระเบียบวิธี
เมื่อถามอีกว่า การรับฟังความคิดเห็นถ้าทำได้ไม่ครบถ้วนจะทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน นายเทียนฉาย กล่าวว่า ถ้าจะเอา 64 ล้านคนทั้งประเทศเข้ามาคงเป็นไปไม่ได้ ถ้าเสียงส่วนใหญ่คือ 32 ล้านคนก็คงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งในการรับฟังมีระบบสถิติ โดยต้องตัดทารก และคนชราออกไป ถือเป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ได้

**ตั้ง5 อนุกมธ.ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

นายสมชัย ฤชุพันธ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้ตั้งอนุกมธ. รับผิดชอบด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย 1. ปฏิรูปการคลัง การงบประมาณ และภาษีอากร มีนายพรายพล คุ้มทรัพย์ เป็นประธาน 2. ปฏิรูประบบการเงินและสถาบันการเงิน มีนายธวัชชัย ยงกิตติกุล เป็นประธาน 3 . ปฏิรูปตลาดทุน มีนายไพบูลย์ นรินทรางกูร เป็นประธาน 4 .ปฏิรูปเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มีนายสุทัศน์ เศรษฐบุญสร้าง เป็นประธาน และ 5. ปฏิรูปด้านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มีนายกอร์ปศักดิ์ ภูตระกูล เป็นประธาน
ทั้งนี้ การทำงานของคณะกรรมาธิการฯ จะเน้นการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ คือ การใช้มาตรการด้านการคลัง รายได้ และรายจ่ายของงบประมาณ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ให้ปฏิรูปตนเองสามารถแข่งขันในโลกได้ โดยเฉพาะเรื่องของทรัพยากรมนุษย์ และทำให้มีความยั่งยืนด้วยการรักษาวินัยการเงิน การคลัง การใช้จ่าย เก็บภาษี เป็นไปอย่างมีวินัยเพื่อสร้างความยั่งยืนความแข็งแรง และมั่นคงที่ผ่านมาเราทำเรื่องนี้ได้ดีมาก แต่ในระยะใกล้ๆ นี้ เนื่องจากนวตกรรมทางการเงินมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ข้อบังคับกฎหมายต่างๆที่ตราไว้เริ่มล้าสมัย และตามไม่ทัน จึงต้องมีการปฏิรูปเพื่อให้กลไกทำงาน และรักษาวินัยการเงินการคลังได้
นอกจากนี้ กรรมาธิการฯมีเป้าหมายในเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใส การตรวจสอบได้ มีการกำหนดเรื่องความรับผิด ให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงที่จะนำไปสู่การลดการคอร์รัปชัน รวมถึงการกำหนดนโยบายที่คำนึงถึงผลระยะยาว และความมั่นคง สามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้โดยไม่ใช้นโยบายประชานิยม จึงต้องสร้างระบบเศรษฐกิจการเงินการคลังที่จะป้องกันกาไม่ให้มีการใช้นโยบายหาเสียงโดยไม่รับผิดชอบต่ออนาคตของประเทศ โดยนโยบายประชานิยมที่ไม่คำนึงถึงผลระยะยาวจะต้องมีการกำหนดไว้ในมาตรการการเงินการคลัง และการงบประมาณว่า หากจะเสนอโครงการที่สร้างความนิยมในหมู่ประชาชน จะต้องบอกด้วยว่าโครงการเหล่านี้เป็นต้นทุนของรัฐบาลและต้นทุนของสังคมในระยะยาวอย่างไร ต้องมีการประกันการรั่วไหลด้วยการดูแลให้ครบถ้วน ต้องมีคนรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย

**กมธ.ด้านสังคมเสนอปฏิรูป 3 ระดับ

น.พ.อำพล จินดาวัฒนะ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส แถลง ความคืบหน้าผลการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสังคมว่า ที่ประชุมได้มีการวางกรอบแนวทางการปฏิรูปไว้ 3 ระดับ คือ
1. ข้อเสนอต่อกมธ.ยกร่างฯ ที่เกี่ยวข้องกับด้านสังคม ซึ่งทางกมธ.ได้สรุปภาพรวมของสังคมไทย โดยเห็นว่า ครอบครัวคนไทยต้องมีคุณภาพ เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม และสังคมแห่งพลังปัญญา และคุณธรรม โดยชุมชุนท้องถิ่นต้องมีความเข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการดูแล และกำหนดอนาคตชุมชนของตนเองได้ รวมทั้งสังคมต้องมีความเสมอภาค มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน โดยวันที่ 27 พ.ย. ทางกมธ.ได้รับการประสานจาก กมธ.ยกร่างฯ ให้ส่งตัวแทนไปนำเสนอกรอบการยกร่างฯ ที่เกี่ยวข้องกับด้านสังคมอย่างไม่เป็นทางการ
2. ปฏิรูประบบและกลไกที่จะทำให้พลเมืองและชุมชนท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็งและสามารถบริหารจัดการชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการศึกษางานที่คณะกรรมาการสมัชชาปฏิรูปชุดที่มี น.พ.ประเวศ วะสี ที่ได้จัดทำไว้มาเป็นแนวทางต่อยอดและพัฒนาข้อเสนอ
3. ข้อเสนอที่รัฐบาลทำได้ทันที เช่น การเดินหน้าพ.ร.บ.กองทุนการออม ซึ่งกมธ.เห็นว่า กองทุนการออม มีความสำคัญ เนื่องจากจะเป็นสวัสดิการให้กับประชาชนที่อยู่นอกระบบเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

** วางกรอบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะอนุกมธ. พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 8 ว่าด้วย การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการตรวจสอบองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงผลการประชุม อนุ กมธ.ฯ ต่อการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ว่า สาระสำคัญ คือ ต้องเป็นไปอย่างเปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมถึงการใช้อำนาจนั้นต้องเป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม ทั้งนี้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐต้องครอบคลุมถึงการทุจริต คอร์รัปชัน การซื้อขายตำแหน่ง การเข้าสู่ตำแหน่ง การซื้อเสียงเลือกตั้ง และตรวจสอบเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มค่าของโครงการของรัฐ รวมถึงการใช้อำนาจหน้าที่ของโดยไม่เป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ที่กฎหมายบัญญัติ นอกจากนั้นยังมีประเด็นตรวจสอบเรื่องจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่ง เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง รวมถึงการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงเอกชนคู่สัญญากับรัฐ บุคคลที่สนับสนุนและเกี่ยวข้องกับการกระทำที่เป็นความผิด
สำหรับกรอบพิจารณา คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีประเด็นก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง , ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งหลักการใหญ่ๆ ของการเข้าสู่ตำแหน่ง คำนึงถึงหลักการตรวจสอบขัดกันแห่งผลประโยชน์ และต้องให้ความโปร่งใส มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลและประวัติทั้งหมด ระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ต้องไม่มีการทำงานไม่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ส่วนการพ้นจากตำแหน่ง ต้องตรวจสอบไม่กระทำที่ไปขัดกันต่อหน้าที่ระหว่างดำรงตำแหน่ง เช่น พ้นตำแหน่งแล้ว ทำงานในองค์กรที่ใช้ข้อมูลจากรัฐในส่วนที่เคยดำรงตำแหน่งอยู่
สำหรับกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ประกอบด้วย 1. องค์กรของรัฐ เช่น ป.ป.ช., กกต., คตง. และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน , กสม.
2. ตรวจสอบโดยผู้แทนปวงชนชาวไทย คือ ส.ส. และ ส.ว. เข้าชื่อกัน 10 ชื่อขึ้นไป ฟ้องคดีไปยังศาลปกครอง , ยุติธรรมและศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง
3. กลไกของสภาตรวจสอบภาคประชาชน77 จังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่น และข้าราชการในส่วนภูมิภาค ส่วนการตรวจสอบภาคประชาชน นั้นครอบคลุมทุจริต คอร์รัปชัน จริยธรรม การเลือกตั้ง แต่รับผิดชอบในเขตจังหวัดนั้นๆ มีที่มาจากการสมัครของประชาชนหรือมีองค์กรเสนอชื่อ จะมีการขึ้นทะเบียนและสุ่มเพื่อมาทำหน้าที่ มีกำหนดวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี มีค่าตอบแทนเฉพาะเบี้ยประชุม เบื้องต้นเพื่อไม่ให้ขยายองค์กร หรือสร้างองค์กรใหม่ ให้หน่วยราชการในจังหวัด เช่น สตง. ประจำจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านธุรการต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงสภาจริยธรรมแห่งชาติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านจริยธรรม โดยมีบทลงโทษ นอกจากเผยแพร่สาธารณะแล้ว เพื่อประวัติ กำหนดบังคับอื่นๆ เพิ่มเติม น่าจะให้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นฝ่ายธุรการ ขณะที่ที่มาผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีองค์กรเสนอชื่อ โดยใช้รูปแบบที่มาของ สปช. โดยผ่านการคัดกรองคุณสมบัติและสุ่มเลือกเขามาดำรงตำแหน่ง และมีวาระดำรงตำแหน่งเพียง 1 ปี
ส่วนการพิจารณาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญนั้นจะนำมาพิจารณาในที่ประชุมคราวหน้าต่อไป และในวันที่ 3 ธ.ค. ทางอนุ กมธ.ฯ จะเชิญ กฤษฎีกามาร่วมประชุม เพื่อเขียนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องเบื้องต้นตามกรอบและเจตนารมณ์ที่อนุฯ พิจารณาตามกรอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น