xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เหล้าเก่าในขวดใหม่ โจทย์หินโค่น “ระบบแม้ว”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


โรดแมปเดินหน้าประเทศไทยของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เริ่มมาถึงขบวนการลงรายละเอียดในเนื้อหากันมายิ่งขึ้น หลังจากที่ผ่านการแต่งตั้งบุคคลมาดำรงตำแหน่งในกลไกเกือบหมดแล้ว หลงเหลืออยู่เพียงแค่การคัดเลือก 36 อรหันต์ ให้มาดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น

เดดไลน์วันสุดท้ายที่ต้องได้ชื่อ 36 อรหันต์คือภายหลังจากที่มีการเรียกประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นัดแรก ตามที่มาตรา 32 รัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยจะครบกำหนดภายในวันที่ 4 พ.ย.นี้

โดยสัดส่วน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แบ่งเป็น คณะรักษาความสงบแห่งชิ (คสช.) เสนอได้ 6 คน แบ่งเป็น กมธ. 5 คน และหัวหน้า คสช.เสนอชื่อประธาน กมธ. 1 คน คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอได้ 5 คน “สภานิติบัญญัตติแห่งชาติ” (สนช.) เสนอได้ 5 คน ที่เหลือเป็นสัดส่วนของ สปช.ที่เสนอได้ 20 คน

ที่คัดเลือกเสร็จสิ้นไปแล้วคือ สปช. หลังสู้กันไป “หนึ่งยก” จน “ผู้มากบารมี” ยอมถอยไม่เอาสัดส่วนคนนอก 5 คน เข้ามานั่งเป็นก้างขวางคอในคณะกรรมาธิการยกร่างในโควต้าของ สปช. 20 คน ซึ่ง 20 รายชื่อที่ออกมาถือว่าไม่ผลิกโผ เพราะคาดการณ์กันไว้ตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่ นำมาโดยก๊วนอดีตกลุ่ม 40 ส.ว. ผสมผสานกับ “ชมรมคนเกลียดแม้ว” ที่ยกขบวนกันมาไม่ขาดสาย แถมหลายคนยังพ่วงเครดิต “มือกุนซือ” ข้างกายของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการ กปปส.

บรรดาสาย กปปส. อาทิ “มานิจ สุขสมจิตร” สปช.สายสื่อมวลชน คลุกคลีในวงการสื่อมานาน โดยทำงานให้กับสื่อยักษ์ใหญ่หัวเขียว ในช่วงการชุมนุมของ กปปส. ปรากฎตัวอยู่หลังเวทีการชุมนุมหลายครั้ง และมักอยู่ในวงยุทธศาสตร์ของ กปปส.ด้วย ถัดมา “จรัส สุวรรณมาลา” สปช.สายการปกครองส่วนท้องถิ่น คนนี้คอนเนคชั่นสายแข็ง ทั้งยังมี “เลือดสีชมพู” ในฐานะอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถมยังมักปรากฎตัวอยู่ข้างเวที กปปส.เช่นกัน สนับสนุนให้ปกครองแบบกระจายอำนาจ ยึดโมเดลการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก “หมอชูชัย ศุภวงศ์” สปช.สายการเมือง อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดตัวขึ้นพูดเวที กปปส.อย่างชัดเจน

สายเอ็นจีโอ อาทิ “สมสุข บุญญะบัญชา” สปช.สายสังคม อดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (ผอ.พอช.) “มีชัย วีระไวทยะ” สปช.สายการศึกษา ทำงานอิงกับ “พรรคประชาธิปัตย์” มานาน ในช่วงรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ได้รับแต่งตั้งให้มาตรวจสอบการทุจริตโครงการชุมชนพอเพียง ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ “กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ” ซึ่งมีการทุจริตกันอย่างกว้างขวาง แต่การตรวจสอบของ “มีชัย” ก็เงียบหายไปแบบจับมือใครดมไม่ได้

สายอดีตกลุ่ม 40 ส.ว. ไล่ตั้งแต่ “คำนูณ สิทธิสมาน” ยืนหยัดอยู่ขั้วตรงข้าม “ค่ายสีแดง” อย่างชัดเจน “ไพบูลย์ นิติตะวัน” เป็นคนสำคัญที่ทำให้ “รัฐบาลปูแดง” ต้องหัวขาดตีนหง่อย หลังนำคำพิพากษากรณีโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” ของศาลปกครอง ให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” พิจารณาเด็ดหัว “ปูแดง” ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำมาสู่การรัฐประหารครั้งล่าสุด รายนี้ก็มีงาของ กปปส.ทาบทับชัดเจน ถึงขั้นประกาศในระหว่างแนะนำตัวต่อสมาชิก สปช.ว่า ต่อสู้เคียงข้างมวลมหาประชาชนมาโดยตลอด

สายสถาบันพระปกเกล้า “ถวิลดี บุรีกุล” สปช.สายบริหารราชการแผ่นดิน “วุฒิสาร ตันไชย” สปช.สายการปกครองท้องถิ่น เคยเสียเหลี่ยมให้ “เพื่อไทย” นำรายงานวิจัยโครงการศึกษาการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ของสถาบันพระปกเกล้า ไปแอบอ้างผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาแล้ว โดยมีข่าวลือหนาหูว่า “วุฒิสาร” เดินทางไปพบ “นช.แม้ว” เพื่อพูดคุยแนวทางปรองดองมาด้วย

โดยตัวแทน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.หนนี้มี “ทหาร” สอดแทรกมา 3 คน คือ “พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์” สปช.สายอื่นๆ ที่อาจจะโนเนมหลายคนไม่รู้ประวัติที่มาที่ไป แต่ “พล.ท.นาวิน” คือสายตรง “มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด” ที่มี “บิ๊กป้อม - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เป็นประธานกรรมการ และเคยทำงานในกระทรวงกลาโหม โดยเป็นฝ่ายประสานงานกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนอีกราย “เสธ.อู้” พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ที่วันนี้เป็น สปช.สายพลังงานไปแบบงงกันทั้งเมือง รายนี้คอนเนคชั่นกว้างขวาง และเคยเสนอตัวเป็นคนกลางเจรจาช่วงวิกฤติการเมืองปี 2553 ในสมัยที่เป็น ส.ว.สรรหา แต่สุดท้ายไม่สำเร็จ เพราะมีการสลายการชุมนุมเสียก่อน

ตามมาด้วย “พล.ท.นคร สุขประเสริฐ” อดีตผู้บังคับการจังหวัดทหารบกร้อยเอ็ด ที่มาในโควต้าของ สปช.จังหวัด

ขณะที่คนอื่นๆก็มาตามสัดสรร 11 ด้านของ สปช. โดยที่ผู้สมัครจาก สปช.สายจังหวัดก็ได้รับเลือกเข้ามาทั้ง 4 คน ตั้งแต่ “ประชา เตรัตน์ - จุมพล สุขมั่น - เชิดชัย วงศ์เสรี” และ “พล.ท.นคร” แต่กว่าที่จะลงตัวกันก็ต้องเดินสายล็อบบี้กันหลายยกทีเดียว โดยมี “ประชา” ที่มีบทบาทเป็นหัวหน้ากลุ่ม สปช.จังหวัด เป็นผู้เจรจากับตัวแทน สปช.ทั้ง 11 ด้าน

ข้ามฝากมายัง สนช.ที่นัดลงมติเลือก 5 ตัวแทนตามโควต้าที่ได้จากรัฐธรรมนูญชั่วคราวในวันถัดจาก สปช.โดยได้ “ดิสทัต โหตระกิตย์” อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา “กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์” กรรมการกฤษฎีกาและอดีตสมาชกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 50 “ปรีชา วัชราภัย” อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) “วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และ “พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ” ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก

ขณะที่ผู้อกหักที่ก่อนหน้านี้มีข่าวหนาหูว่าจองที่นั่งใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้ว ก็มีอย่าง “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม” อดีต ส.ว.สรรหา ที่เกลียด “ระบอบทักษิณ” เข้าไส้ “ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน” ประธานสภาคณาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ “พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ” เจ้ากรมพระธรรมนูญ ที่กอดคอกันหลุดโผไปแบบงงๆ

ตอนนี้ที่เหนือก็เป็นโควต้าของ คสช.-ครม.รวม 11 ที่นั่ง โดยตำแหน่งประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นที่แน่นอนแล้วว่า “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ว่าที่รองประธาน สปช.คนที่ 1 จะมาควบตำแหน่งเอง ส่วนอีก 10 รายชื่อที่เหลือก็มีหลุดออกมาให้เห็นบ้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมายและนักวิชาการที่มีชื่อเสียง อดีต ส.ส.ร.50 และอดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 อาทิ “สุรพล นิติไกรพจน์” อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ “นครินทร์ เมฆไตรรัตน์” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ “พรชัย ตระกูลวรานนท์” รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ “บรรเจิด สิงคะเนติ” คณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า “สมบูรณ์ สุขสำราญ” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ “มานิตย์ จุมปา” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ “เจษฎ์ โทณะวณิก” คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ “อัชพร จารุจินดา” อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และ “ปกรณ์ นิลประพันธ์” มือกฏหมายประจำสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกา เป็นต้น

มองภาพรวมจะเห็นได้ว่าโฉมหน้า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งในสัดส่วนของ สปช.-สนช.ที่คัดสรร-วางตัวกันมาแล้ว และอีก 11 ตำแหน่งที่กำลังจะตามมา ส่วนใหญ่ยืนคนละขั้วกับ “ระบอบแม้ว” เกือบทั้งหมด ซึ่งค่อนข้างตรงกับโจทย์ที่ คสช.วางไว้ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ระบุถึงกรอบ 10 ประเด็นในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะในข้อ 4 - 5 ที่ระบุไว้ว่า มาตรา 35(4) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด

มาตรา 35(5) กลไกที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินกิจกรรมได้โดยอิสระ ปราศจากการครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กรอบที่วางไว้ดูเหมือนจะพุ่งเป้าไปที่บรรดานักการเมือง โดยเฉพาะ “ระบอบทักษิณ” อย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องไม่ให้ผู้ที่เคยกระทำผิดในเรื่องการทุจริตเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือปราศจากการครอบงำจากบุคคลใดๆ เป็นกฎเหล็ดที่วางมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ระบุถึงคุณสมบัติของ สนช.-สปช.-ครมในยุคของ คสช.ว่า ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือต้องคําพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะการทุจริต

เป็นกฎเหล็กที่วางไว้จนทำให้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่เคยอยู่ใน “บ้านเลขที่ 111” ถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้งไป 5 ปี ซึ่ง คสช.ดึงมาช่วยงานในวันนี้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆได้ และได้รับการแต่งตั้งเป็น คสช.ปลอบใจในที่สุด

เห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 20 มีการตั้งโจทย์ไว้อย่างชัดเจน ในการฟาดหันกับบรรดานักการเมือง โดยเฉพาะ “ระบอบทักษิณ” ทว่ารายชื่อที่ออกมาแม้จะเป็น “พลพรรคคนเกลียดแม้ว” ก็ตาม แต่หลายคนก็เข้าข่าย “เหล้าเก่าในขวดใหม่” เคยมีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ถูก “ระบอบแม้ว” ปู้ยี้ปูยำจนไม่มีชิ้นดีมาก่อน

เมื่อมีโอกาสตั้ง “กติกาประเทศ” อีกครั้ง ก็ต้องดูว่า 36 อรหันค์จะมีน้ำยาต่อกรกับ “ระบอบแม้ว” ทำหมันทรราชทายาทอสูรได้หรือไม่

กำลังโหลดความคิดเห็น