xs
xsm
sm
md
lg

ม.รังสิตจัดสัมมนาเตรียมผู้นำเพื่อรองรับเศรษฐกิจไทยหลังเปิด AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสัมมนาการเตรียมผู้นำเพื่อรองรับเศรษฐกิจไทย หลังเปิดประชาคมอาเซียน เพื่อยกระดับ และเพิ่มพูนความสามารถ และรับมือต่อเศรษฐกิจไทยหลังเปิดประชาคมอาเซียน

เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (21 พ.ย.) ที่โรงแรมภูเก็ต เมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา “การเตรียมผู้นำเพื่อรองรับเศรษฐกิจไทย หลังเปิดประชาคมอาเซียน” ซึ่งจัดโดยคณะ RSU CYBER UNIVERSITY มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับคณะนวัตกรรมสังคม หอการค้าจังหวัดภูเก็ต สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต จัดขึ้น โดยมี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายภูริต มาศวงศ์ศา อุปนายกฝ่ายการตลาดสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภูเก็ต นางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายเรวัต อารีรอบ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต ผศ.ดร.เชฎฐเนติ ศรีสะอ้าน คณบดี RSU CYBER UNIVERSITY นักธุรกิจ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ผศ.ดร.เชฎฐเนติ ศรีสะอ้าน คณบดี RSU CYBER UNIVERSITY กล่าวว่า เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า ในปี 2558 ประเทศไทยจะเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) พร้อมกับเพื่อนประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ ผลกระทบของการเข้าร่วมครั้งนี้ประเทศไทยจะได้หรือเสียอย่างไร ทางมหาวิทยาลัยรังสิต เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณชนในเรื่องดังกล่าว จึงได้จัดงานสัมมนาดังกล่าวขึ้น

ด้าน นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ประชาคมอาเซียน เป็นเป้าหมายของการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และขีดความสามารถการแข่งขันอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศในทุกด้าน รวมถึงความสามารถในการรับมือต่อปัญหาใหม่ ในระดับโลกที่ส่งผลกระทบมาถึงภูมิภาคอาเซียน เช่น ภาวะโลกร้อน การก่อการร้าย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การเป็นประชาคมอาเซียน คือ การทำให้สมาชิกอาเซียนเป็น “ครอบครัวเดียวกัน” ที่มีความแข็งแกร่ง และมีภูมิต้านทานที่ดี โดยสมาชิกในครอบครัวมีสภาพอยู่ที่ดี ปลอดภัย และสมารถทำมาค้าขายได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

นายนิสิต กล่าวถึงจุดแข็งการเข้าร่วมประชาคมอาเซียน คือ 1.ประเทศไทยมีแรงงานที่มีทักษะฝีมือเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ 2.มีวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีศักยภาพ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ และมีผลผลิตที่หลากหลาย เช่น ข้าว ยางพารา อ้อย ผัก และผลไม้ เป็นต้น 3.มีที่ตั้งเหมาะสมในด้านการเป็นศูนย์กลางภูมิภาค ทำให้มีข้อได้เปรียบหลายด้าน โดยเฉพาะการขนส่งและการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก และทางอากาศครอบคลุม และรองรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนจุดอ่อน คือ 1.ภาคการผลิตของไทยยังมีประสิทธิภาพต่ำ เห็นได้จากการสำรวจปัจจัยในการแข่งขั้นทั้ง 4 ด้านที่สถาบันพัฒนานักบริหาร IMD ได้ดำเนินการสำรวจไว้ 2.การขาดแคลนแรงงานจากค่านิยมเกี่ยวการทำงาน และการเรียนที่ผิดๆ โดยให้ความสำคัญต่อภาพลักษณ์มากกว่าการนำไปใช้จริง 3.การกระจุกตัวของพื้นที่อุตสาหกรรมทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และการอพยพแรงงานเข้ามาทำงานในแต่ละพื้นที่ 4.อุตสาหกรรมหลักของประเทศยังต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ และสินค้าอุตสาหกรรมยังมีการเชื่อมโยงวัตถุดิบจากภาคการเกษตรไม่มากนัก แม้ว่าภาคการเกษตรจะมีความสำคัญต่อประเทศมาอย่างช้านาน

นายนิสิต กล่าวต่ออีกว่า ดังนั้น การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต้องการผู้นำในรูปแบบใหม่ที่จะทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบ และดำเนินธุรกิจการค้าได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมากมายมาร่วมบรรยายแสดงความคิดเห็น และมาให้ข้อมูล ความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเตรียมตัวเองให้พร้อม ยกระดับ และเพิ่มพูนความสามารถเพื่อรับมือต่อเศรษฐกิจไทยหลังเปิดประชาคมอาเซียนต่อไป


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น