xs
xsm
sm
md
lg

เสียงส่วนใหญ่นิด้าโพล จี้ เร่งปฏิรูป ตร. หนุนยุบ ก.ตร.- สตช. ปรับเป็นองค์กรขนาดเล็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โพลนิด้า เผย ผลสำรวจเรื่องปฏิรูป ตร. ส่วนใหญ่เห็นด้วย ยุบ ก.ตร.- สตช. ตั้งสภากิจการ ตร. กำกับดูแลแทน และเห็นด้วยให้ปรับเป็นองค์กรขนาดเล็ก ไม่หนุนให้ขึ้นอยู่กับ อบจ. หวั่นโกงหนักกว่าเก่า เห็นด้วยให้ ปชช. มีส่วนร่วมตั้ง - ถอด ตร. เมินหนุนให้ ตร. ไร้ยศ ขณะที่ความน่าเชื่อถือ ตร. สุดต่ำ เหตุมองว่าชอบใช้อำนาจมิชอบ จี้ เร่งปฏิรูปด่วนที่สุด เหตุมีปัญหาเรื้อรังมานาน

วันนี้ (21 ธ.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การปฏิรูปองค์กรตำรวจ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17 - 19 ธันวาคม 2557 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการปฏิรูปองค์กรตำรวจ อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4

จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอให้ยกเลิกคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และให้มี “สภากิจการตำรวจแห่งชาติ” เข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแล (ที่มีกรรมการประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวกับความมั่นคง และหัวหน้าส่วนราชการกระบวนการยุติธรรม กรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านการคัดเลือกจาก ส.ส. และ ส.ว.) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.28 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเป็นการเพิ่มความโปร่งใสในการทำงาน และการบริหารงาน ที่ผ่านมาองค์กรตำรวจค่อนข้างมีภาพลักษณ์ที่เสียหาย หากมีการเปลี่ยนแปลงน่าจะมีส่วนช่วยให้ภาพลักษณ์องค์กรตำรวจดีขึ้น และมีความยุติธรรมมากกว่าเดิม ขณะที่ ร้อยละ 30.00 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำงานได้ดีอยู่แล้ว องค์กรใหม่ที่เข้ามาดูแลแทนอาจจะไม่มีคุณภาพ และ ร้อยละ 14.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอให้องค์กรตำรวจต้องได้รับการปฏิรูปให้เป็นองค์กรขนาดเล็ก พบว่า ประชาชนครึ่งหนึ่ง หรือ ร้อยละ 50.80 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเป็นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางออกไป หากเกิดการทุจริตทำให้สามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ระบบการบริหารทำงานได้รวดเร็ว ขณะที่ ร้อยละ 41.52 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ประสิทธิภาพในการทำงานอาจลดลง การดูแลของส่วนกลางอาจไม่ทั่วถึง ทำงานยุ่งยากมากขึ้นเนื่องจากเป็นองค์กรที่ต้องดูแลทั่วประเทศ และ ร้อยละ 7.68 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจขึ้นอยู่กับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น (เช่น ขึ้นอยู่กับเทศบาลหรือ อบจ.) หรือการบริหารราชการส่วนภูมิภาค (เช่น ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.00 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะอาจเกิดการทุจริตมากขึ้นกว่าเดิม หากอำนาจตกอยู่ในมือของนักการเมืองท้องถิ่นที่มีอิทธิพล การทำงานอาจซับซ้อน ซึ่งแบบเดิมน่าจะดีอยู่แล้ว โดยให้ขึ้นตรงกับตำรวจเท่านั้น รองลงมา ร้อยละ 44.16 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเป็นการกระจายอำนาจ ไม่ขึ้นอยู่กับคนใดคนหนึ่ง เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระจากส่วนกลาง ทำให้การบริหารและการทำงานเป็นไปอย่างทั่วถึง และ ร้อยละ 7.84 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ แต่งตั้ง โยกย้าย หรือถอดถอนเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.84 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเป็นสิทธิของประชาชน ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วม และทราบถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในบางครั้งตำรวจด้วยกันเองก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เป็นการช่วยป้องกันการทุจริตได้ไม่มากก็น้อย ขณะที่ ร้อยละ 21.36 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นเรื่องที่กว้างเกินไป ดูแลและเข้าถึงได้ยาก อาจทำให้ผู้ที่มีอิทธิพลเข้ามาแทรกแซง และใช้อำนาจในทางที่มิชอบในด้านการบริหารจัดการหรือการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ และประชาชนส่วนหนึ่งไม่มีความรู้เกี่ยวกับระบบ และระเบียบการทำงานของหน่วยงานราชการมากนัก และ ร้อยละ 2.80 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรมียศ มีตำแหน่ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.12 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะการมียศ มีตำแหน่ง ถือเป็นแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่ คนทำดีก็ควรได้รับสิ่งตอบแทน ทำให้การบริหารงานและระบบการปกครองมีความชัดเจน สามารถแยกแยะได้ ระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นการสร้างภาพลักษณ์

ความน่าเชื่อถือให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีเพียง ร้อยละ 15.92 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะตำรวจบางคนชอบใช้อำนาจหรือตำแหน่งในทางมิชอบ เช่น การขู่ รีดไถ ประชาชน เป็นการลดอำนาจและปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันด้วย และ ร้อยละ 2.96 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อระดับความเร่งด่วนของการปฏิรูปองค์กรตำรวจและเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.32 ระบุว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนในระดับสูงสุด รองลงมา ร้อยละ 26.24 ระบุว่า เป็นเรื่องค่อนข้างเร่งด่วน ร้อยละ 19.44 ระบุว่า เป็นเรื่องไม่ค่อยเร่งด่วน ร้อยละ 8.88 ระบุว่า เป็นเรื่องไม่เร่งด่วนเลย และ ร้อยละ 3.12 ระบุว่า ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ซึ่งในจำนวนผู้ที่เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนในระดับสูงสุด - ค่อนข้างเร่งด่วน ระบุเหตุผลว่า ต้องเร่งปฏิรูป เพราะองค์กรตำรวจมีปัญหาที่เรื้อรังมานาน เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน การซื้อขายตำแหน่ง การใช้อำนาจในทางที่ผิด เป็นการผูกขาดอำนาจฝ่ายเดียว เป็นการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานเพื่อประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ผู้ที่ระบุว่า เป็นเรื่องไม่ค่อยเร่งด่วน - ไม่เร่งด่วนเลย ให้เหตุผลว่า องค์กรตำรวจเป็นองค์กรใหญ่และซับซ้อน จึงควรปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังมีเรื่องอื่นที่สำคัญมากกว่า เช่น เศรษฐกิจปากท้อง ความสมานฉันท์ของคนในชาติ ราคาผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น