ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปรากฏโฉมออกมาแล้ว สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว หลังจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้หารือกันเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา
จุดประสงค์หลักของการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น ก็เพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เพื่อสร้างความชอบธรรมให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญชั่วคราวเดิมที่บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้
อย่างไรก็ตาม เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวถูกเคาะออกมา และเตรียมเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณา กลับปรากฏว่ามีการแก้ไขในประเด็นสำคัญๆ ถึง 7 ประเด็น
หนึ่งในนั้นคือการแก้ไข มาตรา 8(4) ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งเป็นการกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากเดิม มาตรา 8 (4) บัญญัติว่า “เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” แก้เป็น “ไม่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง”
นั่นเท่ากับว่า ผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแต่พ้นระยะเวลาการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไปแล้ว ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีระยะเวลา 5 ปี ก็มีสิทธิที่จะดำรงตำแหน่งเป็น สนช.ได้ เพราะว่าไม่ได้อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
ความตามมาตรา 8(4) ยังถูกนำไปบังคับใช้สำหรับผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี (มาตรา 20) ผู้ที่จะเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(มาตรา 29) และผู้ที่จะเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ(มาตรา 33)
การกำหนดคุณสมบัติต้องห้าม ตามมาตรา 8(4) เดิมนั้น ก็เพื่อไม่ให้นักการเมืองที่เคยกระทำผิดจนถูกลงโทษถึงขั้นเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เข้ามายุ่งเกี่ยวหรือมีบทบาททางการเมืองอีก ไม่ว่าจะเป็นในด้านบริหารหรือนิติบัญญัติ เพราะคนเหล่านี้มีส่วนในการสร้างความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน หรือที่พยายามเรียกชื่อใหม่ให้ดูเก๋ไก๋เพื่อกลบเกลื่อนที่มาอันอื้อฉาวของตัวเองว่า กลุ่มบ้านเลขที่ 111 คนกลุ่มนี้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจากกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 อันเนื่องมาจากได้กระทำผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง ด้วยการว่าจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัคร ส.ส.แข่งกับพรรคตัวเองในการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 เพื่อหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่ว่าหากมีผู้สมัครพรรคเดียวจะต้องได้คะแนนเสียงร้อยละ 20 ขึ้นไปจึงจะได้รับเลือก
กลุ่มบ้านเลขที่ 111 ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี จึงพ้นโทษนี้ไปเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2555
นักการเมืองกลุ่มที่ 2 ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง คือ กลุ่มอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย รวมจำนวน 109 คน อันเนื่องมาจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ด้วยเหตุที่มีกรรมการบริหารของพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค กระทำการทุจริตเลือกตั้ง ในการเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 23 ธันวาคม 2550
กลุ่มบ้านเลขที่ 109 ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปีเช่นกัน จึงพ้นโทษไปเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2556
ตามมาตรา 8(4) ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 กลุ่มบ้านเลขที่ 111 และ 109 จึงมีคุณสมบัติต้องห้าม มิให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี สนช. สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีผลบังคับใช้ จะเป็นการปลดล็อกให้นักการเมืองทั้งสองกลุ่ม สามารถที่จะดำรงตำแหน่งต่างๆ เหล่านั้นได้
การแก้ไข มาตรา8(4) ถูกมองว่า เป็นการเปิดทางให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เข้ามาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ แต่เมื่อดูจากคำให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็จะเห็นว่า มีนัยที่กว้างกว่านั้น
นายวิษณุให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ยอมรับว่า การแก้ไขมาตรา 8(4) โดยเทคนิคของกฎหมาย ลักษณะต้องห้ามในส่วนนี้จะนำไปใช้ในกรณีของการเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในรัฐธรรมนูญชั่วคราว แม้แต่จะเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ ก็สามารถอนุโลมใช้ได้กันหมด ของเดิมนั้นเขียนว่า คนที่จะเป็น สนช.ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง หรือสิทธิเลือกตั้ง ครั้งนี้แก้เป็นว่า ไม่อยู่ระหว่างการถูกเพิกถอน เพราะฉะนั้นถ้าเคยถูกเพิกถอนแต่พ้นกำหนดมาแล้ว ก็จะไม่มีข้อห้ามต่อไป
“ที่เขียนไว้ตอนที่เพิ่งเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ จึงอาจต้องเขียนห้ามไว้เช่นนั้น แต่เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่ได้ห้ามไว้ ครั้งนี้จึงพยายามเขียนให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ บอกอีกว่า เมื่อรัฐธรรมนูญถาวรไม่ได้พูดถึงเรื่องการเคยถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง แต่พูดถึงว่า ไม่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ครั้งนี้จึงแก้ให้สอดคล้องกัน ส่วนแก้แล้วใครจะได้ประโยชน์ หรือ อานิสงส์ ก็ไปว่ากันเอง เพราะไม่มีอะไรกำหนดตายตัวว่าจะต้องตั้งใคร
“แต่อย่างไรก็ตาม เจตนาข้อหนึ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ ก็คือ คนที่จะมาเป็น สนช. หรือ สปช. หรือ สภาขับเคลื่อน
ต่อไปก็จะสามารถนำคนที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเข้ามาได้ และอาจจะทำให้การปรองดองและการปฏิรูป เป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง ส่วนจะเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ มันไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นกันได้ง่ายๆ คุณสมบัติเท่าที่มีอยู่ก็ไม่ได้สามารถเข้ามาเป็นได้ง่ายๆ”
เมื่อถามว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งได้หรือไม่ นายวิษณุบอกว่า ยิ่งกว่านายสมคิด ก็ยังมีอีกหลายคน ที่จะเข้ามาได้อีก อย่างน้อยที่ตนมองเห็นโอกาสที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในสภาขับเคลื่อนเพราะในส่วนนั้นมีจำนวนถึง 200 คน ที่จะสามารถนำคนเหล่านี้เข้ามาได้
วันที่ 11 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวถามนายวิษณุอีกครั้ง ถึงโอกาสที่กลุ่มบ้านเลขที่ 111 และบ้านเลขที่ 109 จะมาเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูป นายวิษณุกล่าวว่า เป็นเรื่องของคนที่มีอำนาจแต่งตั้ง แต่เมื่อเปิดทางไว้อย่างนี้ให้รู้ว่าทุกอย่างเป็นไปได้ ซึ่งเมื่อก่อนมันปิดทาง แต่มาคิดกันภายหลังว่าการปิดไว้อย่างนั้นจะเหมือนมีอคติ หากเปิดไว้แล้วจะตั้งหรือไม่ตั้งยังพอได้
เมื่อถามว่า หากนำเข้ามานั่งในสภาขับเคลื่อนปฏิรูปจะทำให้เกิดการปรองดองหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มีส่วน แต่บางคนอาจไม่ได้ยินดียินร้ายอะไร ตั้งให้เป็นเขาอาจจะไม่เป็นก็ได้ แต่เมื่อเปิดทางไว้แล้วเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่าไม่มีอคติ ไม่ได้มีความรู้สึกต่อต้าน ไม่เหมือน 6-8 เดือนก่อนที่ยังรู้สึกว่ามองหน้ากันไม่สนิทอยู่ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าหลายคนมีบทบาทสร้างสรรค์ หลายคนที่สื่อเกิดความรู้สึกว่าเป็นฝักเป็นฝ่ายเขาก็เคยส่งข้อเสนอแนะอะไรดีๆ มา
ขณะที่ ดร.เจษฎ์ โทณวณิก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า มีนัยเป็นการสร้างกลไกที่ให้บุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเข้ามาเป็น สนช.ได้ และเป็นการเปิดช่องให้บุคคลขยับเข้าสู่ภาคการเมืองได้มากขึ้น เพราะมีการผ่อนปรน ตนมองว่าจะเป็นการส่งสัญญาณต่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในการกำหนดคุณสมบัติในส่วนของคนที่เคยถูกถอดถอน โดยไม่ใช่เป็นการเปิดพื้นที่ให้มีการต่อรอง แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุย
นายเจษฎ์ยังบอกอีกว่า โดยส่วนตัวมองว่า สังคมจะให้การยอมรับกับบุคคลที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมืองที่อาจเข้ามาเป็น สนช. หรือ ครม. เพราะในส่วนของกฎระเบียบหรือการควบคุมถือเป็นการผ่อนปรนพื้นที่ เมื่อมีการผ่อนปรนแล้วก็จะทำให้สังคมยอมรับมากกว่า
คำให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุและ ดร.เจษฎ์ เป็นการยืนยันตรงกันว่า การแก้ไขมาตรา 8(4) เพื่อปลดล็อกกลุ่มบ้านเลขที่ 111 และ 109 นั้น เป็นการผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้เกิดบรรยากาศของการปรองดองสมานฉันท์
แต่อย่าลืมว่า นักการเมืองเหล่านี้เคยเป็นตัวการสร้างปัญหาให้เกิดความขัดแย้งมาก่อน หากจะเปิดโอกาสให้กลับเข้ามามีบทบาท ไม่ว่าจะให้เป็น สนช. สปช. หรือสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป มั่นใจได้อย่างไรว่า นักการเมืองเหล่านี้จะไม่เข้ามาสร้างปัญหาอีก
ทั้ง 220 คน มีใครได้สำนึกในสิ่งที่ตนเองทำลงไปแล้วบ้าง หรือว่า ใครที่ยังมีนิสัยสันดานเดิมอยู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะแยกแยะอย่างไร