“อภิสิทธิ์” น้อมรับเสียงตำหนิ “สุขุมพันธุ์” เหตุน้ำท่วมกรุง พร้อมแก้ไข ชี้น้ำขังไม่ควรเกิน 2-3 ชม. นานกว่านี้ต้องตรวจสอบ รับกระทบคะแนนพรรค เผยให้อดีต ส.ส.-ส.ก.ช่วยเป็นหูเป็นตา ตอบไม่ได้ส่งรักษาเก้าอี้อีกรอบ แจงยังไม่เห็นร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่รัฐแก้ ย้อนถามความจำเป็นแก้ให้ผู้ถูกตัดสิทธินั่ง ครม.-สนช. แนะ แก้ที่จำเป็น เชื่อ คสช.เดินหน้าทำงานไม่ขัดแย้งปมยืดอายุตัวเอง
วันนี้ (10 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาตำหนิ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ กทม.ว่า เราพร้อมน้อมรับเสียงตำหนิ ในภาวะที่ประชาชนเดือดร้อน เราต้องหาทางปรับปรุงแก้ไข วันนี้ผู้ว่าฯจะกลับมาจากการเดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศ เพื่อประชุมร่วมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เพื่อพูดคุยปัญหาที่เกิดขึ้นในจุดที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ทั้งนี้ หากฝนตกเป็นเวลานานกำลังระบบระบายน้ำที่มีอยู่อาจจะท่วมขังบ้าง แต่ไม่ควรเกิน 2-3 ชั่วโมง ซึ่งบางจุดที่ท่วมขังนานเกินไปก็ต้องไปตรวจสอบสาเหตุว่าคืออะไร และจะต้องมีแนวทางปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ส่วนจะกระทบ่อคะแนนเสียงของพรรคหรือไม่นั้น ต้องยอมรับเมื่อปัญหาเกิดขึ้น ประชาชนมีความไม่พอใจ เราก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงเวลาที่เหลืออยู่ต้องเร่งปรับปรุงการทำงานเท่าที่จะทำได้และอธิบายแนวทางการแก้ไข
เมื่อถามทางพรรคมีการวางแนวทางช่วยเหลือผู้ว่าฯ ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างไรบ้างเพราะพรรคถูกโจมตีในเรื่องนี้มาตลอด นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตอนนี้ได้พูดคุยกับอดีต ส.ส.กทม และอดีตสมาชิกสภากรุงเทพ (ส.ก.) ในแต่ละพื้นที่แล้วให้ช่วยเป็นหูเป็นตาได้ ขอให้ทำ และรายงานปัญหาในแต่ละพื้นที่ให้ผู้ว่าฯรับทราบ ตอนนี้เราพยายามคุยเท่าที่คุยได้ เพราะไม่สามารถประชุมพรรคได้ ส่วนสมัยหน้าจะส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ลงสมัครต่ออีกหรือไม่นั้น ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ ตอนนี้เรามีหน้าที่ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ให้ดีที่สุดก่อน
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 57 ใน 7 ประเด็นว่า ตนยังไม่เห็นตัวร่างรัฐธรรมนูญ แต่จำเป็นต้องแก้ไขอยู่แล้ว เพราะในเมื่อจะทำประชามติ ตนเข้าใจว่าอะไรที่ ครม.และคสช.มองว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน หรือการวางโครงสร้างก็ต้องแก้ไปพร้อมกัน เพราะฉะนั้นต้องดูรายละเอียดที่เขียนออกมาว่าจะเขียนอย่างไร และกระบวนการทำประชามตินอกจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะต้องอยู่ที่เรื่องของคำถามด้วย
เมื่อถามว่าการแก้ไขลักษณะต้องห้ามของสนช.ที่เดิมระบุว่า ต้องไม่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง เป็นเปิดทางให้คนที่พ้นจากการตัดสิทธิทางการเมือง ไม่มีคดีที่ถูกถอดถอนเรื่องการทุจริตสามารถเข้ามาเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือ ครม.ได้นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เข้าใจว่าน่าจะเป็นความหมายเรื่องการถูกเพิกถอนสิทธิ และเมื่อการถูกเพิกถอนสิทธิหมดไปแล้ว เช่น ในกรณีที่เกิน 5 ปีแล้วอาจสามารถกลับมาได้ แต่ต้องไปถามรองนายกฯ ว่าความจำเป็นคืออะไร ส่วนการกำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ไม่เกิน 200 คน โดยเปิดโอกาสให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ชุดเดิมสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งได้จะขัดแย้งกับหลายฝ่ายที่เสนอตัดทิ้งหรือไม่นั้น ส่วนนี้เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรแก้เท่าที่จำเป็นเพื่อให้กระบวนการเดินไปได้ตามโรดแมป ตามเจตนารมณ์ เพราะฉะนั้นเรื่องการทำประชามติถือเป็นหัวใจสำคัญ อะไรที่เป็นอุปสรรคในการทำงานของ สนช.และสปช. หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เกินเลยไปกว่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญที่จะต้องแก้ไขนั้นจะต้องให้สนช.พิจารณาโดยรวดเร็ว
เมื่อถามต่อว่า ยังมีการเปิดให้ สปช.และสนช.สามารถถามคำถามนอกเหนือจากเรื่องรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว มองว่าจะเป็นการสอดไส้คำถามให้นายกฯ อยู่บริหารราชการแผ่นดินต่อ 2 ปีหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นายกฯ ไม่ให้พูดเรื่องนี้แล้ว เพราะโดยข้อเท็จจริงโรดแมปที่มีอยู่สามารถยึดหยุ่นได้ระดับหนึ่ง จึงขึ้นอยู่กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป และตนเชื่อว่า คสช.สามารถเดินหน้าทำงาน รายงานปัญหาและอุปสรรคให้ประชาชนรับทราบได้ จะทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นมาในประเด็นนี้